ชาวบ้านกว่า 20 หมู่บ้านติดชายแดนไทย-เมียนมา จัดกิจกรรมคัดค้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน วันหยุดเขื่อนโลก หวั่นกระทบวิถีชีวิต และระบบนิเวศริมแม่น้ำสาละวิน
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 20 หมู่บ้าน ที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำสาละวิน ทั้งจากรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา และฝั่งไทย จ.แม่ฮ่องสอน รวมตัวกันที่หาดทรายริมแม่น้ำสาละวิน บ้านอิตูท่า รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อน ในวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action against Dams) และมีแถลงการณ์ จากกลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง (KAREN RIVERS WATCH) โดยรุบะว่า เขื่อนขนาดใหญ่กำลังกระตุ้นความขัดแย้งและลดความสามารถในการสร้างสันติภาพของประชาชน เพื่อให้เส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงไหลเวียนได้อย่างเสรี จึงเรียกร้องให้ยกเลิกข้อเสนอทั้งหมดสำหรับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำสาละวิน
นอกจากนี้ภายในงานมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เพื่อแสดงออกถึงการปกป้องแม่น้ำสาละวินร่วมกัน ได้แก่ มีการเลี้ยงผีขุนน้ำตามความเชื่อแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง เพื่อแสดงความเคารพต่อแม่น้ำ และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปกป้องคุ้มครองแม่น้ำสาละวิน ซึ่งได้ร่วมกันขอพรต่อพระเจ้าให้ช่วยปกปักรักษาแม่น้ำสาละวินเช่นกัน
Hsa Moo ชาวบ้านริมแม่น้ำสาละวิน กล่าวถึงเหตผลของการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ว่า ชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำ ถ้ามีการสร้างเขื่อน หมู่บ้านของพวกเขาจะจมน้ำหายไป ที่ทำกิน เช่น ไร่หมุนเวียน แปลงผัก และวิถีชีวิตต่าง ๆ ที่ทำอยู่ที่ริมแม่น้ำจะหายไป อีกทั้งพวกเขาใช้แม่น้ำสาละวินในการเดินทางค้าขาย ซื้อของ ถ้ามีการสร้างเขื่อน พวกเขาไม่สามารถเดินทางได้
“ไม่อยากได้เขื่อน เพราะว่าแม่น้ำสาละวินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้ามีการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดน้ำท่วม จะท่วมที่อยู่ ที่ทำกิน และไม่สามารถเดินทางได้”
สำหรับสาระสำคัญของข้อเรียกร้อง คือ 1) ต้องหยุดเขื่อนใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ 2) ต้องใช้ไฟฟ้าที่สามารถหมุนเวียนได้ 3) ต้องสนับสนุนไฟฟ้าที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และ 4) องค์กรต่างประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในเมียนมา กลุ่มพันธมิตร ต้องร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาชน เพื่อจะเขียนนโยบายใหม่ที่เกี่ยวไฟฟ้าที่มาจากธรรมชาติ
มีการเปิดเผยจาก เครือข่ายสาละวินวอชต์ (Salween Watch Coalition) ว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวินตลอดลุ่มน้ำหลายครั้ง แต่ในเมียนมานั้นมีการคัดค้านมาโดยตลอด เพราะนอกจากกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่แล้ว อาจยังส่งผลกระทบต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมา เนื่องจากพื้นที่สร้างเขื่อนมีการสู้รบกันระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม
สอดคล้องกับข้อมูล สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ระบุว่า ปัญหาสำคัญของการสร้างเขื่อนสาละวิน คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ต่อกลุ่มชนชาติส่วนน้อย ซึ่งตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลเผด็จการทหารมากที่สุดในโลก และผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากปัญหานี้มาตลอด คือ ประเทศไทย เห็นได้จากจำนวนค่ายผู้ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยหลายแสนคนตลอดชายแดนไทย – เมียนมา รวมถึงแรงงานอพยพจากประเทศนับล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในเมืองไทยด้วยผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
และเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา หลังจากทหารเมียนมาทำรัฐประหาร ทหารเมียนมาก็ออกมาประกาศว่าจะดำเนินต่อการพัฒนาการสร้างเขื่อนตามแผนที่วางไว้ โดยกลุ่มที่เรียกว่าสภาบริหารแห่งรัฐซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย พลเอกอาวุโส มินอองหล่าย ที่แข็งข้อโดยไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน แถลงการณ์ของ KAREN RIVERS WATCH ยังระบุอีกว่าอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อสันติภาพ ความมั่นคงสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืน ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ระงับแผนการและการก่อสร้างโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมดในแม่น้ำสาละวินและทั่วประเทศเมียนมา อีกทั้งประกาศว่าหากยังมีการพยายามจะสร้างเขื่อน จะมีการยกระดับการเรียกร้อง