ประธานวุฒิ ฯ ชี้ วุฒิสภาต้องแสดงความกล้าหาญในการโหวต แต่หากไม่เห็นชอบ ส.ว.ก็จะถูกมองเป็นเป้า และต้องอธิบายว่ารัฐสภาจะเดินหน้าต่ออย่างไร
คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องสมาชิกรัฐสภาให้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม วาระสาม ระบุว่า แม้จะเห็นว่าการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะเป็นการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาก็เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการหาทางออกจากความขัดแย้งอันเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2560
จึงขอเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาดำเนินการตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐสภาอย่างเต็มความสามารถ คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ด้วยการใช้หน้าที่และอำนาจซึ่งสามารถทำได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญ 2560 ออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมวาระที่สาม ที่จะมีการประชุมในวันที่ 17-18 มี.ค. 2564 และไม่อาศัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อสร้างลำดับขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง เตะถ่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ให้สะดุดหยุดลงหรือเกิดความล่าช้าออกไปอีก
ทั้งนี้ ครช. คือการรวมตัวกันของภาคประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา อย่างน้อย 28 เครือข่าย โดยมี รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2562 มีเป้าหมายเพื่อสื่อสารและรณรงค์เกี่ยวกับปัญหารัฐธรรมนูญ และแสวงหาฉันทามติร่วมต่อการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ประธานวุฒิฯ ชี้ วุฒิสภาต้องแสดงความกล้าหาญโหวตร่างรัฐธรรมนูญ
ขณะที่วันนี้ (15 มี.ค. 2564) พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอเลื่อนการโหวตให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ออกไป โดยระบุว่า สมาชิกรัฐสภาสามารถเสนอญัตติซ้อนญัตติได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการหารือของสมาชิกรัฐสภา แต่ไม่ทราบว่าจะมีใครเป็นผู้เสนอหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระแล้ว วุฒิสภาก็จะต้องร่วมประชุมและไม่ว่าจะเห็นอย่างไรต้องแสดงความกล้าหาญในการโหวต ทั้งนี้ ก็มีกระแสที่ได้ยินมาว่ามี 3 ทาง คือ กรณีเดินหน้าโหวต ,กรณีร่างไม่สามารถนำไปโหวตให้ความเห็นชอบได้ และเลื่อนการโหวตออกไป โดยยอมรับว่าเป็นไปได้ที่จะมีการเลื่อนออกไป แต่อยู่ที่การหารือของสมาชิก
พรเพชร ระบุอีกว่า การโหวตเป็นดุลยพินิจของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนรวมถึงสมาชิกที่เป็น ส.ว. แต่ไม่ว่าจะโหวตให้ความเห็นชอบต่อร่างกฏหมายหรือไม่ ผลที่ออกมาก็จะมีผลกระทบทางการเมืองพอสมควร เพราะหากที่ประชุมให้ความเห็นชอบเชื่อว่าจะมีบุคคลไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในภายหลัง
“หากไม่เห็นชอบ ส.ว.ก็จะถูกมองเป็นเป้า เพราะหากไม่ครบ 84 เสียงก็จะตกเป็นจำเลยทางการเมือง ซึ่ง ส.ว.ก็ต้องอธิบายว่ารัฐสภาจะเดินหน้าได้อย่างไร จะยกร่างฉบับใหม่หรือไม่ ไม่ใช่แค่การเอาชนะ แต่จะต้องหารือกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ”
ประธานวุฒิสภา กล่าวด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนแล้วว่าอำนาจในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นของรัฐสภา และหากเห็นว่าควรยกเลิกและมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะต้องขออำนาจประชาชนในการทำประชามติ
ซึ่งหลังจากยกร่างใหม่แล้วเสร็จก็ต้องทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง ส่วนร่างที่ค้างอยู่ในวาระประชุมนั้นยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะเดินหน้าต่อโดยยึดจากร่างที่ได้ทำมาไปต่อยอดทำประชามติได้หรือไม่ ซึ่งบางคนเห็นว่า ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีสาระบางเรื่องขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ