“การเมืองนอกสภาก้าวหน้า นอกสภาล้าหลัง” นักรัฐศาสตร์นิยามปรากฏการณ์คว่ำวาระ 3

‘ยิ่งชีพ’ iLaw – ‘พริษฐ์’ ConLab ชี้ ประชาชนต้องสร้างทางเลือกและกล้าฝัน เพื่อปลดล็อกรัฐธรรมนูญ มอง “รัฐสภา” ถ่วงกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

บทสรุปปิดโหวตวาระ 3 ที่ประชุมรัฐสภาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 โดยวิธีขานชื่อรายบุคคล ที่ประชุมร่วมสองสภา มีมติเห็นชอบ 208 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง โดยทั้ง 4 เสียงนี้ มาจาก ส.ว. ทั้งหมด ส่วนงดออกเสียงมี 94 เสียง และไม่ประสงค์ลงคะแนนอีก 136 เสียง ปรากฏการณ์ที่อาจคาดเดาได้ไม่ยาก คือ 250 ส.ว. มีเพียง 2 เสียง ที่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3

ญัตติดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ ให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากไม่ผ่าน 2 เงื่อนไข คือ เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของสองสภา และ เสียงเห็นชอบ ส.ว. ไม่ถึง 1 ใน 3 คือ 84 เสียง โดยมี ส.ส. หลายคนไม่อยู่ในห้องประชุม

พรรคภูมิใจไทย วอล์กเอาต์ไม่ร่วมลงมติ ทำให้คะแนนไปอยู่กลุ่มไม่ประสงค์ลงคะแนน ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำพรรคคนสำคัญลงมติเห็นชอบ

Active Talk ชวนคุยเรื่อง “ประชามติ ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ…แบบไหนที่คนไทยอยากเห็น?” ระหว่างที่การเมืองในรัฐสภา กำลังเดิมเกมแก้รัฐธรรมนูญ

รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นภาพชัดของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กับ ฝ่ายการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง โดยมองว่า กรณีการวอล์กเอาต์ของพรรคภูมิใจไทย ฝ่ายการเมืองต้องตอบสนองต่อประชาชนมากกว่าการสรรหา ขณะเดียวกัน ก็ยังสะท้อนถึงรอยร้าวระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับภูมิใจไทย

รศ.ยุทธพร ชี้ว่านี่เป็นไปตามคาดการณ์ ว่าโอกาสการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 เป็นไปได้ยากมาก แม้ว่าช่วงแรกของการประชุมรัฐสภามีทางเลือกของญัตติออกมาเป็น 3 ทาง คือ ไฟเขียว เดินหน้าโหวตวาระ 3 ไฟเหลือง คือ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความใหม่ และ ไฟแดง ที่หมายถึงไม่ให้มีการลงมติหรือเป็นโมฆะ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 กรณี ก็ได้บทสรุปแบบเดียวกันว่า คว่ำ เพราะการเมืองในสภาฯ คือการ ล็อบบี้ หากเจรจาสำเร็จก็จะปิดโหวตทันที การจบโหวตรัฐธรรมนูญอย่างไร ไม่ให้เป็นจำเลยของสังคม

ขณะที่ การลงประชามติ ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ หรือมีส่วนร่วม ทั้งที่จริง ๆ แล้วก่อนจะลงประชามติจะต้องทำให้คนเห็นในเชิงเปรียบเทียบก่อนว่า ของใหม่ดีกว่า หรือ แย่กว่าของเก่า แต่ทำประชามติด้วยคำถามเดียวว่า ต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ แต่เวลานี้ กลับไม่มีเนื้อหาอะไร จึงขอเรียกว่านี่เป็น การลงประชามติที่ว่างเปล่า

“วันนี้เราอยู่ในสภาวะการเมืองนอกสภาก้าวหน้า การเมืองในสภาล้าหลัง… คนไม่สนใจเพราะสภาฯ ตอบสนองได้ไม่ดีพอ เมื่อสภาฯ ไม่ใช่พื้นที่แก้ปัญหา น่าห่วงว่าจะนำไปสู่คำว่า มวลชนาธิปไตย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ระบบรัฐสภา และรัฐธรรมนูญจะไม่มีความหมาย เวลานี้การทำงานการเมืองแบบตรงไปตรงมา สำคัญที่สุด”

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) ระบุ เห็นด้วยกับกลุ่มที่ตีความคำวินิจฉัยว่าเดินต่อได้ แต่หากจะวิเคราะห์ในมุมการเมืองจากการพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภาหลายคน สังเกตได้ว่ามีธงคว่ำโหวตวาระ 3 อยู่แล้ว ทั้งก่อนและหลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และใช้คำวินิจฉัยมาเป็นข้ออ้างเพื่อคว่ำโดยไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากนัก 

พร้อมวิเคราะห์ที่มารัฐธรรมนูญจากกลุ่มผู้มีอำนาจที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ ทำให้ทางออกสู่การมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ถูกปิดทุกทาง เพราะสุดท้ายแล้ว ส.ว. ก็มีส่วนในการคว่ำวาระ 3 โดยมองว่า กลุ่มสีแดง หรือกลุ่มที่เห็นด้วยกับการโมฆะวาระ 3 กำลังถือ กลุ่มเหลืองเป็นตัวประกัน (ญัตติที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ส่งกลับศาลรัฐธรรมนูญตีความใหม่) และกำลังบอกว่า ถ้าฝ่ายค้านปล่อยผ่าน โหวตเป็น สีเขียว จะคว่ำทันที โดยมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ไม่ควรประเมินอำนาจการต่อรองของตัวเองต่ำเกินไป และใช้โอกาสนี้ยื่นข้อเสนอถอนตัวออกจากรัฐบาล หากวาระ 3 ไม่ได้ไปต่อ

พริษฐ์ มองว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกของความพยายามยื้อเวลา และส่งสัญญาณว่าไม่ได้อยากแก้ไข รัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น และอยากให้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภา เกิดขึ้นจากเสียงส่วนน้อย ไม่ยึดโยงกับประชาชน เป็นความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไปยึดโยงกับองค์กรที่เป็นเสียงส่วนน้อย ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ ที่ถูกแต่งตั้งโดย ส.ว. ชุดนี้ หรือกลไกยุทธศาสตร์ชาติ ที่ยังไม่เคยหยิบยกออกมาใช้ ฯลฯ โดยมองว่าหากจะหลุดจากวิกฤตเหล่านี้มีองค์กรใดบ้าง ที่จะต้องลดทอนอำนาจ หรือปลดอาวุธ คสช. อย่างไร พร้อมเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควบคู่กับการปรับแก้รายมาตรา

“ถ้ารวบรวมความวิปริตทุกอย่างของรัฐธรรมนูญ 60 มันมากระจุกตัวอยู่ที่วุฒิสภา คำตอบง่ายมากที่ถามว่า การเมืองไม่ไปไหน เพราะมาจากวุฒิสภาชุดนี้ ข้อเสนอ คือ เอา ส.ว. ชุดนี้ออกไปก่อน แล้วใช้สภาเดียว ที่มีแต่ ส.ส. 500 คน ให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อ ผมเชื่อว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดได้ง่ายขึ้น”

ขณะที่การเมืองภาคประชาชน ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ มองว่าไม่ควรวัดกันที่จำนวนคนที่ไปร่วมชุมนุม ลงถนน ความจริงวัดได้จากกระบวนการที่เป็นรูปธรรม อย่างการล่ารายชื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 50,000 กว่ารายชื่อ ที่มาจากผู้เข้าร่วมชุมนุม 30,000 กว่ารายชื่อส่วนที่เหลือมาทางไปรษณีย์ สิ่งนี้ชัดเจนว่า ไม่ควรดูถูกจำนวนคนที่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เขาบอกอีกว่า ปัจจุบันค่านิยมสังคม วัฒนธรรมกำลังดึงเราไปข้างหน้า ส่วนระบบที่ล้าหลังที่กำลังดึงรั้งเราไว้ จึงต้องการสื่อสารถึงผู้มีอำนาจว่า หากไม่ยอมผ่อนปรนเดินไปข้างหน้า จะทำให้เชือกขาด และไม่สามารถคลายปมความขัดแย้งได้ พร้อมวอนผู้มีอำนาจเดินตามกระแสสังคมบนเส้นทางประชาธิปไตย หากเดินไปด้วยกัน จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งเส้นทางนี้ จะช่วยให้สังคมจดจำการเมืองไทยในยุคนี้ในอีกรูปแบบหนึ่งได้ทันที

ยิ่งชีพ อัฌชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ชี้ชัดว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แทบไม่ต้องตีความอะไร มีสาระสำคัญอยู่เพียง 3 บรรทัดนั้น ที่ระบุชัดว่ารัฐสภามีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ โดยมีเงื่อนไขต้องทำประชามติก่อนและหลัง

“พูดตรง ๆ ผมนับคนพวกนี้ ที่ตีความคำวินิจฉัยศาลว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า โกหกอย่างตรงไปตรงไปมา”

เขามองว่า ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้บิดเบือนหลักการ ยืดเวลา และสร้างให้มาตรฐานของรัฐสภาให้ต่ำลง แต่หากประชาชนจะยังมีความหวัง คือ การที่อย่างไรก็ตาม ส.ว. ชุดนี้จะหมดอำนาจภายใน 3 ปี ตามวาระ และเมื่อไม่มี ส.ว. ค้ำยันอำนาจ ก็จะมีอากาศหายใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แก้รัฐธรรมนูญ การเลือกนายกรัฐมนตรี และจะไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายนัก ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะกาลเวลาตามธรรมชาติเดินไป คนรุ่นใหม่จะโตขึ้น คนที่เพิ่งลงถนนครั้งแรก อายุ 19-20 ปี จะค่อย ๆ เติบโต และสังคมจะขยับมากขึ้น ความฝันจะเห็นรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นประชาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับได้ร่วมกันของประชาชน ก็คงเกิดขึ้นแน่นอน แม้ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน

“ต้องกล้าฝัน แม้วันนี้ยังไปไม่ถึง อยากเห็นอะไรต้องพูดออกมา บางคนอยากเห็นสภาเดี่ยว บางคนอยากเห็นรัฐสวัสดิการ บางคนอยากเห็นการศึกษาฟรี บางคนอยากเห็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ฝันให้ชัด แล้วพูดออกมา วันนี้คนถืออำนาจอาจยังไม่คลายอำนาจพอให้ความฝันอย่างอื่นมันเกิด ถ้าฝันชัด จะมีแรงขับมากขึ้น เพื่อกระทุ้งอำนาจให้เขาคลายออกมา และเมื่อคลายมา คุณต้องพร้อมว่าคุณจะใส่อะไรเข้าไปแทน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่าจะพูดได้ว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร มีเวลาต้องเริ่มฝันตั้งแต่วันนี้”


Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน