ตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สโมสรตำรวจ 120 เตียงรองรับ พร้อมเร่งฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่ ด้าน กทม. ปิดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่กลุ่มเสี่ยงตลาดบางแค 6 วันฉีดแล้ว 6,842 คน
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด- 19 ในประเทศไทย ว่า วันที่ 22 มี.ค.ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 73 คน มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 22 คน การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 44 คน และเดินทางมาจากต่างประเทศ 7 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รักษาหายเพิ่ม 65 คน ทำให้การติดเชื้อในระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 22 มีนาคม 2564 มีผู้รักษาหายแล้ว 22,486 คน อยู่ระหว่างการรักษา 1,122 คน และเสียชีวิตสะสม 31 คน โดยผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นชายไทยอายุ 60 ปี มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ขณะที่ผลการฉีดวัคซีนโควิด- 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 21 มีนาคม 2564 รวม 73,517 โดสคิดเป็นร้อยละ 79 ถือว่ามีความก้าวหน้ามาก
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีสถานกักกันตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบางเขน กรุงเทพมหานครรับผู้ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายจากทั่วประเทศมาดำเนินคดี เริ่มตรวจพบผู้ต้องกักติดเชื้อเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ตรวจพบรวม 9 คน เป็นผู้ต้องกักชาวเนปาล 1 คน ,ผู้ต้องกักแรกรับที่ย้ายมาจากสุไหงโก-ลก 6 คน และผู้ต้องกักรายเดิม 2 คน วันที่ 13 มีนาคม ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 52 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกลุ่มสุไหงโก-ลก 40 คน และผู้ต้องกักแรกรับติดเชื้อ 12 คน ส่วนวันที่ 15 มีนาคม พบผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อชาวเนปาลอีก 16 คน รวมทั้งหมด 77 คน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปคัดกรองเชิงรุกในระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม โดยตรวจผู้ต้องกักและเจ้าหน้าที่ทุกคนรวม 1,556 คน พบติดเชื้อเพิ่มอีก 318 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.4 ทำให้กลุ่มก้อนนี้มีผู้ติดเชื้อสะสม 395 คน
สำหรับการป้องกันควบคุมโรค ได้แยกผู้ต้องกักติดเชื้อออกจากผู้อื่น งดการย้ายผู้ต้องกักระหว่างห้องงดรับผู้ต้องกักใหม่เข้ามา และประสานงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สโมสรตำรวจ จำนวน 120 เตียง ซึ่งสามารถขยายได้ 250 เตียง และเร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ต้องกัก โดยฉีดแล้วมากกว่า 70 คน กรมควบคุมโรควางแผนดำเนินการตรวจซ้ำใน 7 วันและ 14 วันต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ การให้อยู่โรงพยาบาลสนามถือว่ามีความเหมาะสม เมื่อครบระยะเวลาก็ไม่สามารถแพร่โรคต่อได้ จะผลักดันกลับประเทศตามกฎหมาย
“การจำกัดพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นการขีดวงไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังคนอื่น ระบบการดูแลผู้ต้องกักถือเป็นพื้นที่เฉพาะ ไม่มีการออกไปสู่ชุมชน ขอให้วางใจ และย้ำว่าการลักลอบเข้าเมืองมีความผิดตามกฎหมาย และเสี่ยงนำโรคเข้ามา ขอให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตาก็จะช่วยป้องกันโรค”
ปิดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่กลุ่มเสี่ยงตลาดบางแค 6 วัน 6,842 คน
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มเสี่ยงย่านตลาดบางแคว่า หลังจากตรวจพบมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนบริเวณย่านตลาดบางแค คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้เห็นชอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ได้รับการสอบสวนโรคแล้วว่าเป็นผู้มีสัมผัสเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ค้าและแรงงานในตลาดบางแคทั้ง 6 แห่ง โดยในช่วง 3 วันแรก (17-19 มี.ค.2564) กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นำหน่วยบริการเคลื่อนที่ไปให้บริการที่บริเวณตลาดสิริเศรษฐนนท์ เขตบางแค จากนั้นตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.เป็นต้นมาได้ย้ายจุดบริการวัคซีนนอกสถานที่ไปตั้งที่บริเวณวัดนิมมานรดี เขตภาษีเจริญ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันแต่มีความกว้างขวางและสะดวกกว่า และให้บริการจนถึง 22 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยการให้บริการทั้ง 6 วัน (17-22 มี.ค.2564) มีผู้มาลงทะเบียน 6,995 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 6,842 คน จากที่ตั้งเป้าจะให้วัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 คน
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับในวัน 22 มี.ค.2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการให้วัคซีนโควิดนอกสถานที่ให้แก่กลุ่มเสี่ยงย่านตลาดบางแค มีผู้มาลงทะเบียน 1,429 คน ได้รับวัคซีน 1,399 คน ไม่ได้ฉีด 54 คน เนื่องจากสภาพร่างกายไม่พร้อมตามคำวินิจฉัยของแพทย์ เช่น ความดันโลหิตสูง มีอาการวิงเวียนหน้ามืด 2 คน แต่หายเป็นปกติหลังได้นั่งพัก 30 นาที