วางกรอบทำงานอนุกรรมการฯ เน้นศึกษา ประวัติศาสตร์การมีอยู่ของชุมชนบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ศึกษาแนวทางฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ที่ทำกินชาวบ้าน แก้ปัญหาด้านคดีความ พร้อมจัดทำข้อเสนอทุกมิติ ภายใน 30 วัน
วันนี้ (25 มี.ค. 2564) ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินรวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เรียกประชุมคณะกรรมการฯ เป็นครั้งแรก ภายหลังนายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้ง ไปเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564
ที่ประชุมมีข้อสรุปให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นอีก 5 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชุมชน และผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติ และการอพยพชุมชน 2. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากฎหมาย 3. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความ 4. คณะกรรมการศึกษาแนวทางและผลกระบต่อระบบนิเวศน์ สัตว์ป่า และการให้การบริการทางนิเวศน์ กรณีการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินที่บางกลอยบน และ 5. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านบางกลอยล่าง
มั่นใจว่าการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องบางกลอยจะเป็นรูปธรรม ยั่งยืน มั่นคง ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าเหมือนที่ผ่านมา
โดยองค์ประกอบของอนุกรรมการ ได้มีตกลงกันเบื้องต้น ให้มาจากหน่วยงานราชการ ภาคส่วนวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ โดยฝ่ายเลขาฯ จะสรุปเวียนให้กับกรรมการทุกคนพิจารณาเพื่อเสนอแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป
พรพนา ก๊วยเจริญ หนึ่งในกรรมการฯ สัดส่วนภาคประชาชน บอกว่า การประชุมวันนี้เป็นไปด้วยดี ท่ามกลางบรรยากาศของความพยายามแก้ปัญหาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประธาน คือ ร.อ. ธรรมนัส ที่ย้ำถึงการทำหน้าที่จากนี้ของอนุกรรมการทุกชุด ให้ยึดตามแนวทางตามบันทึกข้อตกลงร่วมที่ทำไว้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา
และย้ำด้วยว่า คณะกรรมการฯ ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจ แต่มีหน้าที่ศึกษา รวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อจัดทำแนวทาง และข้อเสนอต่าง ๆ ส่งไปให้รัฐบาลภายใน 30 วัน แต่หากไม่ทันก็จะพิจารณาต่อเวลาการทำงานออกไปอีกเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ครอบคลุมมากที่สุด จากนั้นจะให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป