เลือกตั้งเทศบาล คือ​ สัมปทานอำนาจ​ 4​ ปี​ “นักรัฐศาสตร์” หนุน ชุมชนสร้างประชาธิปไตยทางตรง

แนะ ภาคประชาชนระดับท้องถิ่น​ กำหนดนโยบายสาธารณะ​ ตรวจสอบนักการเมือง​ ห่วง​โครงสร้างรัฐราชการ​ทับซ้อน​อำนาจท้องถิ่น​ ยก​ตัวอย่าง EEC​ เมินผลกระทบ​ชุมชน

เมื่อวันที่​ 25​ มี.ค.​ 2564​ รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา หนึ่งในนักวิชาการที่ศึกษาพัฒนาการของโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นในภาคตะวันออก ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ระบุว่า​ จากการศึกษาวิจัยการเมืองท้องถิ่นตามหลักรัฐศาสตร์สามารถแบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ​ 1. โครงสร้างของสถาบันการเมืองและการปกครอง​ 2. การบริหารจัดการของท้องถิ่น และ​ 3. การเมืองของท้องถิ่น​ ซึ่งตนศึกษา
พบว่าส่วนมากเป็นรูปแบบของสัมปทานอำนาจ​ 4​ ปี จากผ่านการเลือกตั้ง โดยนำรูปแบบหลักคิดของเศรษฐศาสตร์การเมือง มาใช้ในการวิเคราะห์ เห็นได้ว่ามีการลงทุน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งที่ต้องทำให้ชนะคู่แข่งให้ได้ เพื่อเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในองค์กรท้องถิ่นอย่างเทศบาล แบ่งเป็นเทศบาลตำบล, เทศบาลเมือง​ และเทศบาลนคร​ โดยเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร​ จะได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่ต่ำกว่าปีละ 150 ล้าน​ -​170 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างฐานการเมืองระดับชาติ รวมทั้งการสะสมต้นทุนทางสังคมด้วยการสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาจากคนในชุมชนไปพร้อมกัน

“อย่างไรก็ตามตระกูลนักการเมือง​ ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ​ เพราะในต่างประเทศก็มีเช่นกันมีข้อดีคือการบริหารงานต่อเนื่อง​ และมีคอนเน็กชันในการแก้ไขปัญหาจากเครือข่าย​ แต่ข้อเสียคือขาดการตรวจสอบและถ่วงดุล”

รูปแบบการเลือกตั้งเทศบาลจะแบ่งเป็นการเลือกนายกเทศมนตรี​ และสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง​ จะหาเสียงให้ประชาชนเลือกนายกฯ​ พร้อมกับทีมงานแบบยกทีม ซึ่งเป็นการสื่อสารทางการเมืองของฝ่ายนักการเมืองที่อ้างว่าจะทำให้เกิดความรวดเร็วในการบริหารงาน​ ซึ่งเป็นการบิดเบือนความจริง ของกลไกสภา​ ที่ต้องการเลือกสมาชิกสภาเทศบาลอย่างหลากหลายเพื่อเข้าไปตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า​ การให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นมีน้อยมาก และประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะอีกประเด็นหนึ่งก็คืออำนาจหน้าที่ของเทศบาลในการแก้ไขปัญหาเมือง เพราะนับว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว​ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะ​ น้ำเสีย การจราจร รวมไปถึงมลพิษทางอากาศ​ ล้วนเป็นหน้าที่ในการจัดการและแก้ปัญหาของเทศบาลทั้งสิ้น นับเป็นกระบวนการประชาธิปไตยจากฐานราก ที่ควรจะสร้างความเข้าใจให้เข้มแข็ง ก่อนจะไปพูดถึงประชาธิปไตยในระดับชาติ

หาเสียงด้วย​ “นโยบาย” คือ พัฒนา​การของการเมืองท้องถิ่น​

รศ.โอฬาร​ บอกว่า​ การเลือกตั้งปัจจุบัน​เห็นพัฒนาทางการเมืองของนักการเมืองท้องถิ่น ที่มีการกำหนดนโยบายขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง​ ต่างจากอดีตที่ใช้ความสนิทสนม และความคุ้มเคย แต่นโยบายที่นำมาใช้หาเสียงนั้น จะทำได้จริงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง​ โดยเฉพาะปัจจุบันมักพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับ Smart City ทุกอย่าง​ Smart ไปหมด​ ติดกับดักทางภาษาซึ่งในสมัยก่อนจะใช้คำว่า​ แบบบูรณาการ​ ทุกอย่างเป็นบูรณาการไปหมด

แต่การกำหนดนโยบายหาเสียงก็ถือเป็นสัญญาประชาคม​ ระหว่างนักการเมืองและประชาชน​ ที่จะต้องทำหลังได้รับการเลือกตั้งเข้ามา งานวิจัยก็ชี้ว่านักการเมืองออกแบบนโยบายมาเพื่อการหาเสียงในระบบประชาธิปไตยทางอ้อม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบประชาธิปไตยที่ดี ควรจะเป็น ระบบประชาธิปไตยแบบคู่ขนาน คือมีระบบประชาธิปไตยทางตรงคู่กันไป​ จากความเคลื่อนไหว​ หรือเวทีภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ​ ให้นักการเมืองเป็นผู้ปฏิบัติตาม ซึ่งหลายชุมชนในระดับเทศบาลไม่มีความเข้มแข็งมากพอที่จะสร้างประชาธิปไตยทางตรงในการกำหนดนโยบายสาธารณะเอง​ มีบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งประชาธิปไตยทางตรง จากความเข้มแข็งของภาคประชาชนหรือกลุ่ม Active citizen นอกจากจะช่วยกำหนดนโยบายให้ครอบคลุมทั่วถึงไปในคนทุกกลุ่มของสังคมแล้ว​ ยังช่วยตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของนักการเมืองด้วย

“รัฐราชการ​” ทับซ้อน​อำนาจท้องถิ่น​ ภาคตะวันออก

รศ.โอฬาร​ บ​อกอีกว่า​ สำหรับการเมืองท้องถิ่นในภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษหรือ​ EEC มีโครงสร้างของรัฐราชการที่ทับซ้อน กับการบริหารงานส่วนท้องถิ่น คือมีหน่วยงานที่มีอำนาจใหญ่กว่าในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และองค์กร​ที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน เหมือนอย่างเทศบาล ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน อย่าง​ คณะกรรมการ​ EEC ที่ตั้งขึ้นมาตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561​ มีอำนาจหน้าที่ใหญ่กว่าผู้ว่าราชการจังหวัด​ และใหญ่กว่า อบจ. ใหญ่กว่าเทศบาล ทำให้ปัญหาและผลกระทบของชุมชนไม่ถูกรับฟังและเมินเฉย สิ่งนี้เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้ไขเชิงโครงสร้าง​ และเปิดทางให้ท้องถิ่นได้แก้ไขปัญหาของคนท้องถิ่น​ โดยมีอำนาจหน้าที่จัดการตนเอง มากกว่าอำนาจรวมศูนย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS