ตรวจการบ้าน “ประยุทธ์” สอบผ่านหรือตก? นักวิชาการ ชี้ เทรนด์โลกท้าทาย เผด็จการเริ่มถ่วงดุลประชาธิปไตย
24 มี.ค. 2562 คือ วันที่ประชาชนเข้าคูหาเลือกตั้ง…
ผ่านมา 2 ปี รัฐบาล “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และพรรคร่วมรัฐบาลที่เข้ามามีส่วนบริหารประเทศ มีผลงานอะไรถูกใจ หรือยังต้องปรับปรุง Active Talk ชวนวิเคราะห์ผ่านมุมมอง รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และ รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่จะมาช่วยตรวจการบ้านร่วมกับ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง TARAD.com
สอบผ่านผลงานด้านเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด-19
รศ.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ ให้รัฐบาลประยุทธ์ สอบผ่านการบริหารเศรษฐกิจ และการจัดการกับวิกฤตโควิด-19 พร้อมให้ฉายา “รัฐบาลฝ่าวิกฤต” โดยมองว่า เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 กระทั่งปัจจุบันก็ยังพบกับวิกฤต โดยด้านเศรษฐกิจจะมีตัวแปร 2 ตัว 1) ถ้าเทียบกับอาเซียนต้องยอมรับว่า แพ้ เพราะค่าเฉลี่ยความเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทย และหากเทียบกันในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ยิ่งแย่ ติดอันดับท้าย
2) ขณะที่อีกด้านรัฐบาลบริหารได้ดี อาทิ เรื่องของเสถียรภาพถือว่าทำได้ดีมาก, มีเงินกู้ (Soft Loan) ที่เกี่ยวข้องกับ SME หลากหลายช่องทาง และมีโครงการ เช่น เราชนะ คนละครึ่ง รวมถึงมาตรการที่เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาให้กับ SME ได้มากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลประยุทธ์ ไม่มีมือหนึ่งบริหารเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ มาตรการที่ช่วยแก้ปัญหาได้ดี มาจากนักวางกลยุทธ์ ที่สามารถจัดการได้ดี มีมาตรการแปลก แตกต่าง เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยว ที่ทำได้แบบนี้เพราะรัฐเปิดโอกาสให้เอกชน และนักวิชาการเข้ามาช่วยคิดร่วมออกแบบ ไม่ได้มีแต่นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังย้ำว่าให้ผ่านเพราะสอบไปได้ครึ่งทาง ปลายปีต้องกลับมาประเมินใหม่ เพราะยังมีจุดเปราะบางที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้บริหารผิดพลาด โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องของไวรัสกลายพันธุ์ ที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวที่ยากลำบากของเศรษฐกิจไทย
สอดคล้องกับ “ป้อง” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ที่มองว่ารัฐบาลประยุทธ์ได้สร้างปรากฏการณ์ “ปลุกคนไทยเข้าสู่โลกดิจิทัล” เช่น พ่อค้า แม่ขายที่ออกมาใช้ คิวอาร์โค้ด ขายสินค้า ใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลกันมากขึ้น โดยมองว่าการลงทุนเรื่อง Payment, Prom pay จะทำให้คนไทยเข้าสู่ดิจิทัลได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อเสียเพราะทำให้สินค้าจีน เช่น Shopee อาลีบาบา ฯลฯ เข้ามารุกล้ำผู้ประกอบการไทยได้มากขึ้น แนะรัฐควรต่อยอดจัดทำกฎหมาย เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ค้าในต่างประเทศ และจัดการกับบริษัทดิจิทัลข้ามชาติที่เข้ามาดึงเงินคนไทย เช่น การเก็บ Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ) หรือชวนมาตั้งบริษัทในประเทศไทยไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศ คล้าย ๆ กับอังกฤษและยุโรป โดยเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ไทยขาดดุลดิจิทัลกับต่างชาติน้อยลง
พร้อมฝากถึงรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคนใหม่ ไม่อยากให้เริ่มอะไรใหม่ แต่ควรต่อยอดจากสิ่งเก่าที่มีอยู่แล้ว อะไรดีทำต่อ อะไรไม่ดีต้องดึงผู้ประกอบการเข้ามานั่งฟัง และช่วยผลักดันให้รัฐ เข้าสู่ดิจิทัลมากกว่าเดิม
สอบตกแก้ปัญหาการเมืองไทย
แม้ รศ.สุขุม นวลสกุล จะเป็นอีกเสียงที่ชื่นชมโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 แต่มองว่ารัฐบาลยังมีจุดอ่อนเรื่องการใช้อำนาจในระบบการเมือง พร้อมย้ำชัดให้ รัฐบาลประยุทธ์ สอบตกเรื่องการเมือง เพราะมองประชาชน ผู้ถูกปกครองเป็นฝ่ายตรงข้าม จ้องคนเห็นต่างเป็นศัตรู การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความต้องการของรัฐบาล ไม่ได้มาจากเสียงสะท้อนของประชาชน ทั้งที่นโยบายข้อแรกที่รัฐบาลชุดนี้จะทำคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่แก้ไขเพราะกระทบกับอำนาจของ ส.ว. ส่วนเรื่องที่ดีเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ พลเอก ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีข่าวคราวเรื่องการโกง แต่ภาพรวมแล้วก็ยังสอบไม่ผ่าน
โจทย์ใหญ่ต้องแก้ ก่อนคะแนนสอบติดลบ
รศ.สมชาย ระบุ ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลชุดนี้เข้ามาเพราะเกิดสงครามกลางเมือง ความแตกแยกไม่เหมือนสมัยก่อน สมัย จอมพล ถนอม กิตติขจร, จอมพล ประภาส จารุเสถียร และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เวลานี้ประชาสังคมถูกแบ่งออกเป็น 2 กรอบ (มีทั้งฝ่ายหนุน-ฝ่ายต้าน) เรียกว่าประชาธิปไตยกำลังถูกถ่วงดุลด้วยเผด็จการ แม้เทรนด์โลกจะมาทางนี้ ประกอบกับผลงานด้านเศรษฐกิจและการจัดการโควิด-19 ทำได้ดี แต่ก็มีโอกาสติดลบได้จาก 2 ปัจจัย คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ตลอด 10 ปี เศรษฐกิจขยายตัวยังคงอยู่ในอัตราต่ำ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาล ขณะเดียวกัน ปัญหาเก่าอย่างเรื่องของความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาคนจน การผูกขาด ซึ่งเป็นนโยบายแรก ๆ ที่รัฐบาลประยุทธ์ ประกาศจะแก้ปัญหาคนจนให้หมดไป ปัจจุบันกลับพบว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งสูงสุดในอาเซียน และนี่จะกลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อนในอนาคต และเป็นคะแนนที่ติดลบหากรัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
เทรนด์โลก เผด็จการถ่วงดุลประชาธิปไตย
รศ.สมชาย วิเคราะห์ว่าเวลานี้ เทรนด์โลกกำลังเปลี่ยนไป กระแสประชาธิปไตยกำลังถดถอย เห็นได้จากหลายประเทศ เช่น จีน ตุรกี ที่ผู้นำจำนวนไม่น้อยบริหารประเทศได้ดี แต่ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย
“ที่ผ่านมาถ้ามองในมุมรัฐศาสตร์แล้ว ประชาสังคมต้องคุมเมือง แต่โลกกำลังให้ระบบการเมืองคุมสังคม… เผด็จการกำลังท้าทายคน”
ขณะที่ รศ.สุขุม ชี้ว่าเห็นด้วยถ้าบริหารดี ประชาชนไม่เดือดร้อน จะใช้ระบอบอะไรก็คงไม่สำคัญ แต่สำหรับไทยใช้ไม่ได้ เพราะเป็นการเอาอำนาจมาปิดปากบำรุงแต่พวกพ้อง พร้อมตั้งคำถามถึงกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังแย่แต่ใช้งบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำได้อย่างไร แม้จะให้รัฐบาลประยุทธ์ สอบตก แต่ รศ.สุขุม ยังชื่นชนตัวนายกฯ ที่ไม่มีข่าวคราวการโกง พร้อมทิ้งท้ายถึงความน่าเสียดายของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่ได้มีการกระตุ้นให้สังคมและประชาชนตื่นตัวเท่าที่ควร
“ผลงานชิ้นโบว์แดงอย่างการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในรัฐบาลประยุทธ์ กลับถูกกลบด้วยกระแสการเมืองใหญ่ และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเมืองท้องถิ่นถูกให้ความสำคัญน้อย ทั้งที่น่าจะประโคมข่าวให้ชาวโลกรู้เรื่องการเมืองท้องถิ่นในรัฐบาลของตัวเอง …”