ตัวแทนภาคสาธารณสุขและภาคธุรกิจ ร่วมสังเคราะห์นโยบาย สร้างทางเลือกจัดการวัคซีนโควิด-19 เน้นทำความเข้าใจปัญหา และตั้งสมมติฐานความเปลี่ยนแปลง
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสังเคราะห์นโยบายทางเลือกการจัดการวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวตอนหนึ่งว่า ไทยเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกวันที่ 28 ก.พ. จากวัคซีนล็อตแรกของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด (Sinovac Biotech) ประเทศจีน จำนวน 200,000 โดส ฉีดคนละ 2 เข็ม เท่ากับว่าวัคซีนนี้ต้องฉีดให้กับคนจำนวน 100,000 คน แต่หนึ่งเดือนผ่านมา แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีแผนและกลุ่มเป้าหมายหลัก กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนเสี่ยงไว้แล้วก็ตาม สามารถกระจายและฉีดวัคซีนระยะแรกได้เพียง 60,000 คนเท่านั้น
“วัคซีนล็อตที่สองของซิโนแวคจำนวน 800,000 โดส กำลังมาถึงประเทศไทย และคาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ (ปลายเดือนเมษายน) วัคซีนของ บริษัท แอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะผ่านการรับรองทั้งจากต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำลังมาอีก 12 ล้านโดส ดังนั้น คำถามสำคัญคือ จะมีระบบกระจายวัคซีนอย่างไรให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพให้ทันกับอายุการใช้งานของวัคซีน”
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวอีกว่า นอกจากเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ไม่นับความกังวลเกี่ยวกับเชื้อกลายพันธุ์ว่าวัคซีนยังมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้นกันหรือไม่ จึงต้องช่วยกันพัฒนานโยบายทางเลือกการจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่มีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อนำข้อเสนอส่งต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขเพื่อเป็นองค์ความรู้รับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ในอนาคต
ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การสังเคราะห์นโยบายทางเลือกการจัดการวัคซีนโควิด -19 มาจากการปรึกษาหารือผู้มีส่วนได้เสียนโยบายการจัดการห่วงโซ่อุปทานของวัคซีน เช่น สมาคมโรงแรมและการท่องเที่ยว สมาคมโรงงานอาหารแช่แข็ง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฯลฯ โดย “สังเคราะห์แบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบ” เน้นทำความเข้าใจปัญหา และการกำหนดสมมติฐานพลวัตในประเด็นต่าง ๆ
- ผู้กำหนดนโยบายควรคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับวัคซีนอย่างไร เพื่อให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Heed immunity) ในประชากรไทย เพื่อนำไปสู่การควบคุมการระบาดและสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
- ผู้กำหนดนโยบายควรจะมีการจัดการห่วงโซ่อุปทานวัคซีนอย่างไรให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และนำไปสู่อัตราการได้รับวัคซีนของกลุ่มเป้าหมายสูงมากพอให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรไทย โดยเฉพาะปัญหาอัตรากำลังคนในการฉีดวัคซีน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มอื่น รูปแบบการจัดบริการฉีดวัคซีนทั้งในและนอกสถานพยาบาล และการกระจายวัคซีนแต่ละชนิดที่มีโอกาสจะถูกใช้ในประเทศไทยในเวลาเดียวกัน
- ผู้กำหนดนโยบายจะลดผลกระทบจากผลสะท้อนย้อนกลับของนโยบาย เช่น หากมีรายงานผลแทรกซ้อนวัคซีนมากขึ้น อาจทำให้ความสนใจของการฉีดวัคซีนลดลง เป็นต้น
- ผู้กำหนดนโยบายจะมีแนวทางบริหารความเสี่ยงอย่างไร? เช่น เมื่อเวลาผ่านไปจนภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนลดลง หรือหากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์จนจำเป็นต้องรับฉีดวัคซีนซ้ำ หรือกรณีเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้านจนทำให้มีผู้อพยพเข้าเมืองจำนวนมากที่อาจนำเชื้อเข้ามาในประเทศ เกิดการรระบาดระลอกใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง หรือกรณีมีการใช้นโยบายวัคซีนพาสปอร์ตหรือการลดระยะเวลากักโรคที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งยังเดินทางเข้ามาในประเทศได้มากขึ้น เป็นต้น
ตัวแทนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีแนวโน้มในอนาคต การเลือกชนิดวัคซีนในการฉีดอาจใช้เป็นประเด็นกีดกันการเข้าเมือง หรือกีดกันทางการค้า (tread barrier) เช่น จีนอาจกำหนดให้คนที่เข้าหรือออกประเทศจีนต้องฉีดวัคซีนของจีนเท่านั้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แผนการฉีดวัคซีนมีผลต่อการกำหนดแผนนโยบายการเงินและเศรษฐกิจของประเทศด้วย เช่น หากมีการใช้นโยบายวัคซีนพาสปอร์ต สามารถเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ 1 ล้านคน ประมาณการณ์ว่าเพิ่ม GDP ขึ้นมา 0.3% ซึ่งขณะนี้ GDP ประเทศลดลงมาเกือบ 10% แล้ว
ตัวแทนสมาคมโรงแรมและการท่องเที่ยวหลายคน เรียกร้องให้รัฐพิจารณากลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนในภาคบริการ แรงงานภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศเชื่อมั่นว่าเที่ยวประเทศไทยแล้วปลอดภัย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ มาริสา สุโกศล นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ พนักงานโรงแรมทั้วประเทศตกงานมากกว่า 50% หากเป็นไปได้อยากให้รัฐพิจารณาแบ่งวัคซีนในพื้นที่ท่องเที่ยวด้วย เพื่อช่วยเหลือคนตกงานจำนวนมาก เช่น ภูเก็ต เป็นต้น
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวว่า ประเด็นการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนนั้น ในระยะแรกวัคซีนมีน้อย จำเป็นต้องเลือกพื้นที่ที่มีการระบาดสูงและเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกัน กลุ่มจังหวัดศูนย์กลางการท่องเที่ยวก็ขอแบ่งโควต้าวัคซีนด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจโตเร็วขึ้น
ทั้งนี้ ในอนาคต ในประเทศคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะมีใบรับรอง (Certificate Vaccine) ในภาคบริการ แม่ค้าในตลาด เป็นต้น ส่วนคนเดินทางเข้าประเทศก็จะต้องมีวัคซีนพาสปอร์ต
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เป็นเรื่องท้าทายอาจต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2565 คำถามสำคัญคือระหว่างที่รอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาได้ ทั้งนี้ การฟื้นฟูภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ แต่กังวลว่าผลประโยชน์อาจจำกัดเฉพาะทุนขนาดใหญ่ โรงแรมเล็ก ๆ ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอยก็ควรคำนึงถึงด้วย เพราะขณะนี้คนตกงาน คนเล็กคนน้อยลำบากมาก ควรคิดถึงความเป็นธรรมด้านสุขภาพและสังคมด้วย
นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า พลวัตสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อุปสงค์อุปทานของการมีวัคซีนในประเทศไทย ควรมีความยืดหยุ่นเชิงนโยบายเพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์ อย่าให้เกิดความแข็งตัวในการจัดการด้านนโยบาย และควรนโยบายทางเลือกในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วย