‘สว.อังคณา’ ชี้ ง่ายสุด นายกฯ คุยจีน บีบบริษัทเหมืองรัฐฉาน รับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหาย จี้ กระทรวงยุติธรรม หาช่องจัดการธุรกิจข้ามพรมแดน กระทบสิทธิมนุษยชน ขณะที่ ‘กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ สว.’ ยกปมสารพิษปนเปื้อนแม่น้ำกก ถกด่วน แนะแก้ที่ต้นเหตุไม่ได้ คงต้องพึ่งศาลโลก วอน อย่าปล่อยข้อมูลแกว่ง ประชาชนต้องรับรู้ ระดับความอันตราย
วันนี้ (27 พ.ค. 68) คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา หยิบยกแนวทางการแก้ไขปัญหาสารมลพิษปนเปื้อน และการบำบัดฟื้นฟูแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย จ.เชียงราย และเชียงใหม่ รวมไปถึงการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยเชิญ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมชี้แจง แต่กรมควบคุมมลพิษ แจ้งว่า ติดภารกิจในพื้นที่ จึงไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุม
‘ฟ้องศาลโลก’ หากจำเป็นก็ต้องทำ
ชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานกรรมาธิการฯ ระบุก่อนประชุมว่า ขณะนี้มีแม่น้ำ 2 สายที่มีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อน คือ แม่น้ำกก และแม่น้ำสาย ปีที่แล้วมีข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ว่า มีสารปนเปื้อนในแม่น้ำและจากภาพถ่ายทางอากาศ ก็พบว่า มีการทำเหมืองในประเทศเพื่อนบ้านใกล้แหล่งน้ำ จึงมองว่า ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะการสร้างเขื่อนดักตะกอน เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จะทำได้ต่อเมื่ออยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟู ไม่ใช่ขั้นแก้ปัญหา ดังนั้น จึงควรเดินหน้าเจรจา หรือสุดท้ายอาจต้องฟ้องร้อง โดยใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ

นอกจากนี้เรื่องสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ต้องแจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง และชี้แจงเรื่องความเสี่ยงกับประชาชนว่าอันตรายระดับไหน วันนี้เท่าที่เห็นข้อมูลยังแกว่งอยู่
ส่วนกรณีแม่น้ำสาย ชีวะภาพ บอกว่า กรรมาธิการฯ จะเน้นเรื่องสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลำน้ำ เพราะจากการศึกษาพบว่า การก่อสร้างตึกขนาดใหญ่ไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งใน 1 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินคดี ก็ต้องตอบให้ได้เพราะเป็นการทำผิดไม่ว่าจะขนาดใหญ่แค่ไหนก็ต้องรื้อถอน ซึ่งในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านหากรุกล้ำก็ต้องรื้อถอนเช่นกัน แต่ต้องเริ่มที่ฝั่งไทยก่อนตามกฎหมายของไทย เพราะหากปล่อยไว้แบบนั้น ก็จะเหลือทางน้ำเดิน แค่ทางเดียว
“เรื่องแม่น้ำกก เราจะเรียกร้องในส่วนที่รุกล้ำลำน้ำเป็นอันดับแรกเพราะในส่วนนี้รัฐบาลไทยทำได้เลย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตึกที่ก่อสร้างไปในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์มันผิดอยู่แล้วและอันดับ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคารได้บังคับใช้หรือไม่ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องดำเนินการ ส่วนเรื่องสารปนเปื้อนต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านแต่ถ้าเจรจาไม่ได้จริง ๆ วิกฤตจริง ๆ อาจจะต้องพึ่งกระบวนการกฎหมายระหว่างประเทศ พึ่งศาลโลก”
ชีวะภาพ ชีวะธรรม

เหมืองรัฐฉาน ธุรกิจข้ามพรมแดนกระทบสิทธิมนุษยชน
ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เปิดเผยกรณี การจัดการปัญหาสารโลหะหนัก ที่พบในแม่น้ำกกของรัฐบาล ว่า เป็นปัญหานี้ค่อนข้างเร่งด่วน รัฐบาลควรไปพูดคุยกับจีน เพราะสนิทกับจีน ไม่ควรปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญกับสารพิษที่มากับแม่น้ำเป็นเวลา 2 เดือน นานขนาดนี้
ในส่วนของ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ สว. ได้พูดคุยกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยสะท้อนมาว่า อยากให้ทางคณะ กมธ.ลงไปในพื้นที่ ซึ่งจริง ๆ แล้ว กมธ. พัฒนาการเมืองฯ สว. ก็วางแผนที่จะลงไปดูพื้นที่อยู่แล้ว เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

สว.อังคณา ยังระบุว่า เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ และปัญหาคือเมื่อบริษัทที่เข้าไปลงทุนแล้วปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำ แต่สุดท้ายมีปัญหาบริษัทก็ต้องรับผิดชอบ จะไปเรียกร้องกับกลุ่มว้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่คุมพื้นที่ตั้งของสถานที่ตั้งเหมืองไม่ได้ เพราะว้า ไม่ได้เป็นรัฐที่สหประชาชาติรับรอง ดังนั้นบริษัทที่เข้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่ว้าต้องรับผิดชอบ
สว.อังคณา ยังรู้สึกแปลกใจว่า ทำไม ? กระทรวงยุติธรรมไม่พูดเรื่องนี้เลย เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจข้ามพรมแดน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เป้าหมายหลักของแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชน แต่กระทรวงยุติธรรม ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ไม่แก้ปัญหา ทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้ และไม่ถูกให้ความสำคัญ มีแต่ลงไปดูพื้นที่ภาคใต้ ที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แต่รับฟัง เมื่อรับฟังแล้ว จะทำอย่างไรต่อ แผนที่บอกว่าให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปดำเนินการมาใหม่ก็ยังไม่เห็น
เมื่อถามถึงกรณีที่ รองนายกฯ ภูมิธรรม ให้สัมภาษณ์ว่าทางฝั่งเมียนมายอมรับว่าการปนเปื้อนสารพิษมาจากเหมือง และจะดำเนินการให้ ขอให้ไม่ต้องกังวลนั้น อังคณา บอกว่า หากเมียนมาจะรับรอง เอาเข้าจริง เมียนมาจะเข้าไปแทรกแซงในพื้นที่ของว้าได้หรือไม่ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก เห็นฝั่งเมียวดี สร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และบ่อนกาสิโนจำนวนมาก เลยถามทหารว่าคนจะข้ามไปข้ามมาได้อย่างไร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่รู้ แต่ก็จะเห็นว่า มีเรือแล่นข้ามไปอยู่ จึงคิดว่า ตอนนี้มีหลายเรื่องที่เป็นปัญหาผสมกันไปหมด เอาจริง ๆ ไม่รู้เลยว่าจะแก้กันอย่างไร
“กรณีของแม่น้ำกก แก้ง่ายที่สุดก็คือนายกรัฐมนตรีต้องไปคุย หากรัฐบาลเมียนมาตั้งใจที่จะยุติจริง เมียนมาต้องเข้าไปคุยกับว้าเลย ให้หยุดปล่อยสารพิษลงแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาดทันที ซึ่งตรงนี้จะส่งผลทันที ไม่ใช่ปล่อยจนกระทั่งปลาตาย ปลาป่วยเป็นตะปุ่มตะป่ำ ติดเชื้อโรค แล้วอย่างนี้ คนที่บริโภคเข้าไปจะเป็นอย่างไร และหากตามหลักสิทธิมนุษยชนฯ บริษัทที่เป็นผู้รับผิดชอบจะต้องเป็นคนที่ชดเชยค่าเสียหายคือบริษัทจีน”
อังคณา นีละไพจิตร