จับ 5 สัญญาณเสี่ยง! เลี่ยงตกเป็นเหยื่อ ‘ธุรกิจแชร์ลูกโซ่’

‘นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ ชี้ คนหลงเชื่อ เพราะถูกทำให้มั่นใจ คิดว่าไม่เสี่ยงคนชักชวนน่าเชื่อถือ พร้อมแนะจุดสังเกต หลีกเลี่ยงการลงทุน ก่อนถลำตัวลึก

จากกรณีบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป (The Icon Group) ที่ประกอบธุรกิจขายสินค้าผลิตภัณฑ์อาหาร และเสริมความงาม แต่มีการชักชวนให้คนเข้าไปลงทุนและสมัครเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ตั้งแต่ ราคา 2,500 บาท 25,000 บาท และ 250,000 บาท ซึ่งใช้ของรางวัลต่าง ๆ ดึงดูดให้คนมาเข้าร่วม หากยิ่งลงทุนมากก็จะได้สิทธิประโยชน์ที่มาก นอกจากนั้นบริษัทดังกล่าว ยังจ้างดาราหลายคนเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา จูงใจด้วยการโชว์ความสำเร็จของธุรกิจ

ล่าสุด ตำรวจ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น โดยผลจากการสอบสวน ณ วันที่ 15 ต.ค. 67 มีผู้เสียหายจากการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวแล้ว 1,100 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 400 ล้านบาท

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ตรวจสอบโกดังสินค้า และบริษัทในเครือ ดิไอคอนกรุ๊ป เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 67

เมื่อการชักจูงใจ การสร้างความน่าเชื่อถือของกลุ่มธุรกิจลักษณะนี้ มีส่วนสำคัญทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อไปกับความสำเร็จ ความร่ำรวย แล้วจะมีวิธีการป้องกันอย่างไร

The Active พูดคุยประเด็นนี้กับ ศ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ โดยอธิบายว่า ธุรกิจที่เป็นข่าวมีลักษณะคล้าย ธุรกิจลูกโซ่ มากกว่าเป็น ธุรกิจขายตรง โดยรายได้หลักของธุรกิจลักษณะนี้ จะขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่เข้าร่วมว่ามากหรือน้อย และเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ที่ไม่สามารถชักชวนคนเข้ามาเพิ่มได้แล้ว สุดท้ายธุรกิจนี้ก็จะล่ม ถือเป็นความล้มเหลวทางด้านการตลาด โดยสาเหตุที่ทำให้คนหลงเชื่อเข้าร่วมทำธุรกิจดังกล่าว เพราะมักคิดว่าไม่มีความเสี่ยง และคนพูดชักชวนก็ดูมีความน่าเชื่อถือ

ศ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์

ศ.ณัฐวุฒิ ยังระบุถึงการป้องกัน และวิธีสังเกต พิจารณาการลงทุนทำธุรกิจ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ ดังนี้

  1. ไม่มีธุรกิจอะไรที่ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนโดยไม่มีความเสี่ยงเลย ยิ่งได้ผลตอบแทนมาก ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูง ถ้าหากมีคนมาเสนอว่าไม่มีความเสี่ยง และได้ผลตอบแทนจำนวนมาก ก็ควรต้องยับยั้งชั่งใจ

  2. ต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า คนที่มาพูดชักชวนนั้น ต้องแยกแยะให้ออกว่าชอบในสิ่งที่เขาพูด หรืออยากใช้สินค้าของเขา

  3. ถ้าเขามาบอกให้เราต้องทำทันที และอ้างว่าถ้าไม่ทำจะพลาดโอกาส มากระตุ้นให้เราต้องรีบตัดสินใจในทันที ธุรกิจลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการหลอกลวง

  4. ธุรกิจที่ในช่วงแรกอาจดูไม่มีความเสี่ยงอะไร เช่น จ่ายค่าคอร์ส หรือค่าเรียนไม่เยอะ แต่หลังจากนั้นทำให้ต้องถลำลึกเข้าไปมากขึ้น และทำอะไรใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในเชิงของพฤติกรรมศาสตร์ เรียกว่า ทุนจม (Sunk Cost) คือ เมื่อลงทุนไปแล้ว จะรู้สึกว่าเดินหน้าต่อไป หรือประมาณว่าลงทุนลงแรงแล้ว ก็ต้องอยู่ให้รอดจนถอนตัวออกมาไม่ได้ ดังนั้นถ้ารู้สึกว่ามีอะไรแปลก ๆ ก็ให้รับถอนตัวออกมาทันที ไม่จำเป็นจะต้องเดินหน้าต่อเพียงเพราะว่าลงทุนไปตอนแรก

  5. ระวังธุรกิจที่ต้องจ่ายเงินก่อน โดยเฉพาะธุรกิจขายตรง เพราะธุรกิจขายตรงที่ดี ไม่ควรให้เราต้องจ่ายเงินก่อน ถ้าหากยังขายของไม่ได้ หรือก็คือ จ่ายแค่ค่าคอมมิชชันจากการขายสินค้า และส่วนต่างที่เหลือต้องเป็นของเรา ดังนั้นจะต้องคิดแล้วว่าธุรกิจที่ต้องจ่ายเงินก่อน และได้สินค้ามา แต่กลับขายไม่ได้นั้น คุ้มค่ากับเราหรือไม่

ศ.ณัฐวุฒิ ยังมองว่า ในเชิงของหน่วยงานรัฐ ควรจะต้องจัดให้มีการสอนป้องกันการถูกหลอกลวงต่าง ๆ ตั้งแต่ในระดับโรงเรียน หรือทำแคมเปญสอนให้คนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ โดยในประเทศสิงคโปร์ ได้รณรงค์ให้ประชาชนตระหนัก และรู้วิธีป้องกันการถูกหลอกลวงตั้งแต่ในโรงเรียน ไปจนถึงการแปะป้ายโฆษณาเตือนภัยในที่สาธารณะ หรือแม้กระทั่งโฆษณาในยูทูบซึ่งมาจากหน่วยงานรัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันการถูกหลอกลวงด้วยตนเองได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active