ร้องยกเลิกเงื่อนไขจำกัดสัญชาติไทย โครงการ ม.33 “เรารักกัน”

ภาคประชาสังคม ชี้ แรงงานข้ามชาติผู้ประกันตน ควรได้รับความช่วยเหลือ เพราะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เสียภาษีจากค่ากิน จับจ่าย ซื้อสินค้า

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดย มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และประชาชน เข้าพบเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ยกเลิกเงื่อนไขจำกัดเฉพาะสัญชาติไทยใน โครงการ ม.33 เรารักกัน

โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลโดยการเสนอของกระทรวงแรงงานได้มีการอนุมัติโครงการ “ม 33 เรารักกัน” เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา แบ่งเบาภาระค่าครองชีพและลดผลกระทบแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยจ่ายเงินจำนวนคนละ 4,000 บาท โดยเปิดให้ผู้ประกันตนลงทะเบียนผ่านช่องทาง www.ม33เรารักกัน.com ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. – 7 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา แต่โครงการฯ ดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ จะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น มีผลทำให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสัญชาติไทย อาทิ แรงงานสัญชาติเมียนมา กัมพูชา ลาว ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามวัตถุประสงค์ของโครงการเช่นกัน แต่กลับไม่ได้รับสิทธิในเงินช่วยเหลือดังกล่าว

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมในประเทศไทย จ่ายเบี้ยประกันสังคมในอัตราเท่ากับผู้ประกันตนสัญชาติไทย เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน แรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ประกันตนตามาตรา 33 จึงควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเช่นเดียวกัน

“การกำหนดเงื่อนไขว่าผู้จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ หรือสถานะของบุคคล ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักการ Leave no one behind รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยให้การรับรอง และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

หลังการยื่นหนังสือดังกล่าว ตัวแทนสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า เงินส่วนนี้ไม่ใช่เงินของกองทุนประกันสังคม แต่เป็นเงินกู้ ซึ่งต้องใช้ภาษีของประชาชนชาวไทย ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ จึงให้ความเห็นกับประเด็นนี้ว่า ถึงแม้ว่าเงินส่วนที่นำมาจ่ายนี้จะเป็นเงินกู้และต้องใช้หนี้ด้วยเงินภาษี แรงงานข้ามชาติก็ควรได้รับความช่วยเหลือ เพราะอยู่ในประเทศไทย เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เสียภาษีจากการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า และยังเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเศรษกิจในประเทศ

หลังจากนี้ ภาคประชาสังคม ระบุว่าจะติดตามว่าสำนักงานประกันสังคมจะมีท่าทีช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนอย่างไร และจะเดินทางไปพบ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อขอให้ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในลำดับต่อไป