เผย นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น หลังฉีดวัคซีน พร้อมเดินหน้าฉีดกลุ่มเสี่ยงให้ได้ตามเป้า 100% เน้นพื้นที่ท่องเที่ยวและลดวันกักตัว กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว เปิดประเทศปลอดภัย
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเสวนาสร้างความมั่นใจนักวิเคราะห์ นักลงทุน “มาตรการด้านสาธารณสุขต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตการณ์โควิด-19” โดย อนุทิน กล่าวว่า ประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจมาก คือ วัคซีนโควิด-19 และการเปิดประเทศ ได้ให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลได้สนับสนุนและพยายามจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเต็มที่ ทำให้ไทยมีวัคซีนให้ประชาชนได้ถึง 37 ล้านคน เพียงพอสำหรับกลุ่มเสี่ยงทุกคนในประเทศ ที่กำหนดไว้ประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนด โดยจะฉีดให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง และการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นจะนำร่องในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สมุย โดยจะส่งวัคซีนของซิโนแวคล็อตใหม่จำนวน 800,000 โดส ไปยังภูเก็ต 100,000 โดส และ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 50,000 โดส สร้างความปลอดภัย เรียกความเชื่อมั่นเมืองท่องเที่ยวกลับคืนมา และเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยว
สำหรับประเด็นลดวันกักตัวนั้น ศบค. ได้มีมติลดวันกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศที่ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงมาก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป จาก 14 วัน เหลือ 10 วัน และผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบทั้ง 2 เข็ม จะลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับการคลายล็อกการเดินทางระหว่างประเทศ เบื้องต้นจะเจรจากับประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ หรือได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะประกาศให้ทราบต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการหารือประเด็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว ให้เข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัวในระยะต่อไป โดยต้องบริหารจัดการให้อยู่ในพื้นที่จำกัดเพื่อความมั่นใจในความปลอดภัย
“จากการพูดคุยกับกลุ่มนักวิเคราะห์ นักลงทุนในครั้งนี้ พบว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น ตลาดทุนไทยมีต่างชาติให้ความสนใจ คาดว่าเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการหรือเปิดประเทศได้ ปี 2565 จะเป็นปีที่ดีของตลาดลงทุนไทย”
“ภูเก็ต” นำร่องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว 1 กค.นี้
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค 6 จังหวัดในฝั่งอันดามัน โดยมีการประชุมแนวทางการเตรียมเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดภูเก็ต วันที่ 1 ก.ค. 2564 และหารือแนวทางมาตรการเตรียมการฟื้นฟูจังหวัดภูเก็ต ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ต ได้รายงานแผนการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนและแผนต่างประเทศสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจและเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีน นอกจากนั้นยังมีมาตรการเตรียมการเปิดพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยที่ประชุมได้เสนอความเห็น 1. อยากเห็นการกระจายวัคซีนอย่างเพียงพอเพื่อให้ได้รับความมั่นใจในความปลอดภัยจากโควิด-19 2. ต้องการให้ผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดโอกาสการท่องเที่ยวได้เต็มที่ 3. ต้องการให้ประชาสัมพันธ์ไปถึงนักท่องเที่ยวทุกระดับชั้น ทั้งต่างประเทศและในประเทศ รวมทั้งลงลึกในทุกระดับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุอีกว่า อย่างไรก็ตาม มติการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เมื่อวันที่ 26 มี.ค. การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ต้องเป็นคนที่ได้รับวัคซีนมาแล้วแบบไม่มีการกักตัว สามารถเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตโดยเที่ยวบินตรง และมอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เป็นผู้หารือรายละเอียดร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวันที่ 30 มี.ค. 2564 จังหวัดภูเก็ตจะจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีรัฐบาลจะใช้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง หลังจากนั้นจะเปิดสู่จังหวัดอื่นต่อไป
จุรินทร์ กล่าวอีกว่า จากการหารือวันนี้ (29 มี.ค.) ที่ประชุมหารือแนวทางมาตรการเตรียมฟื้นฟู คือ มีความเห็นร่วมกันว่า 1. จากช่วงเมษายน ถึง 1 กรกฎาคม จะให้มีการส่งเสริมไทยเที่ยวไทยต่อไปอย่างเข้มข้นเพราะช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ ยังต้องพึ่งในประเทศไทยเป็นหลักอยู่ 2. กระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันจัดส่งวัคซีนมา 930,000 โดส ให้จังหวัดภูเก็ตภายในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้จังหวัดภูเก็ตสามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ คนภูเก็ต คนที่มาทำงานในภูเก็ต และแรงงานข้ามชาติ ให้ครบถ้วนภายในวันที่ 30 มิถุนายน ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วันที่ 1 กรกฎาคม 3. จังหวัดภูเก็ตจะเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้นต่อไปอย่างต่อเนื่อง เช่น หรอยริมเล กิจกรรมด้านการกีฬาเป็นต้น 4. ให้กระทรวงพาณิชย์มาจัดกิจกรรมส่งเสริมลดภาระค่าครองชีพในจังหวัดภูเก็ต 5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะไปประสานงานกับสภาพัฒน์เพื่อเร่งดำเนินการด้านงบประมาณเพื่อให้จังหวัดภูเก็ตเดินหน้าจัดกิจกรรมตามที่ ครม. เคยมาประชุมไว้ต่อไป
ระบบการแพทย์ไทย รักษาผู้ป่วยโควิด 19 หายแล้วกว่า 25,000 ราย
วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดงานเสวนา Smart Living With COVID-19 “Save ทุกลมหายใจ พาคนไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19” โดยกล่าวว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไปจนถึงจังหวัดและพื้นที่ ทำให้ระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพระบบรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 7 เท่า (ข้อมูล 14 มี.ค. 2564) เมื่อเทียบเฉพาะการระบาดระลอกใหม่ พบว่าอัตราการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 0.1 ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 20 เท่า และมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วจำนวนกว่า 25,000 ราย
อีกทั้งขณะนี้ ได้จัดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กลุ่มเป้าหมายระยะแรก ในพื้นที่ระบาด และพื้นที่เศรษฐกิจตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งมีวัคซีนเพียงพอ ขอให้ประชาชนมารับการฉีดตามนัดหมายให้ครบทั้ง 2 เข็ม เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่ สร้างความมั่นใจนโยบายของรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ ได้ปรับแนวทางบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ มีเป้าหมายให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Personal-based medical service) พร้อมทั้งมีการจัดระบบให้บริการรูปแบบใหม่ (Redesigned) และนำระบบดิจิทัลมาใช้ให้บริการผู้ป่วยมากขึ้น มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์มาปรับใช้ระบบการทำงานของโรงพยาบาลให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบ Telemedicine เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อและสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการทางการแพทย์ เป็นวิธีการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มช่องทางเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยและบุคลากร ลดความแออัดในโรงพยาบาล ขณะที่ยังคงมีความเป็นธรรมในการมารับบริการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้จัดทำแผนประคองกิจการในการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตสำหรับสถานพยาบาล เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เป็นแผนแม่บทของโรงพยาบาลในการบริหารกำลังคน ทรัพยากร งบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ได้พัฒนารูปแบบระบบบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ มุ่งให้ประชาชนปรับตัวให้เข้ากับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ให้โรงพยาบาลนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ การให้บริการทางการแพทย์ ตั้งแต่การคัดกรอง จัดคิวผู้มารับบริการ รวมถึงการให้บริการห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน เพื่อลดความแออัด ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ
ผลฉีดวัคซีนเข็มแรก ทั้ง 13 จังหวัด ครบ 100% เกือบทั้งหมด
ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข
จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย
ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 39 คน
- มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 16 คน
- ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 12 คน
- เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 คน
- ไม่มีผู้เสียชีวิต
- รักษาหายเพิ่มขึ้น 74 คน
การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2563 – 29 มี.ค. 2564 มีผู้รักษาหายแล้ว 23,136 คน คิดเป็นร้อยละ 94.29 อยู่ระหว่างการรักษา 1,366 คน และเสียชีวิตสะสม 34 คน วันที่ 29 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร 10 คน กทม. 15 คน ราชบุรี มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ จังหวัดละ 1 คน
สำหรับผู้ติดเชื้อรายแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหญิง อายุ 35 ปี อาชีพพนักงานขายประกัน ในห้างสรรพสินค้า มีความเชื่อมโยงกับเพื่อนที่ค้าขายอยู่ในตลาดบางแค โดยเมื่อวันที่ 22 มี.ค. เดินทางไปหาเพื่อนที่ กทม. พักอาศัยอยู่ในห้องเดียวกัน ใกล้ชิด ไม่ได้สวมหน้ากาก วันที่ 24 มี.ค. เดินทางกลับ จ.กาฬสินธุ์ โดยเครื่องบิน จากนั้นวันที่ 26 มี.ค. เริ่มมีอาการปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ และวันที่ 27 มี.ค. เดินทางไปโรงพยาบาลตรวจหาเชื้อ ผลพบเชื้อ ขณะนี้เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว
นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ในส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 28 มี.ค. 2564 ฉีดวัคซีนแล้ว 154,293 โดส แบ่งเป็นฉีดเข็มแรกแล้ว 133,110 คน ฉีดครบ 2 เข็ม 21,183 คน ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย สำหรับจังหวัดที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ครบ 100% ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม ชลบุรี ภูเก็ต และสุราษฏร์ธานี อย่างไรก็ตามแม้จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ขอให้ยังคงเข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากให้ได้ 100% เว้นระยะห่าง ล้างมืออย่างต่อเนื่อง หากประมาท การ์ดตก
ก็มีโอกาสติดเชื้อได้
“ใกล้เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ควรมีการวางแผนการเดินทาง หลีกเลี่ยงจุดพักรถที่มีคนแออัด และขอความร่วมมือประชาชน เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต แล้วอาจติดเชื้อโควิด-19 ได้ จากการมึนเมา ทำให้ขาดสติ ละเลยการเว้นระยะห่าง กินดื่มสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบการติดเชื้อในหลายครั้งที่ผ่านมา”