นักวิจัยฯ ย้ำ กะเหรี่ยงไม่หวงเสื้อผ้า หากคนต่างวัฒนธรรมสวมใส่อย่างเข้าใจ สวนทางกรณี “แอ๊ด คาราบาว” ใส่เสื้อกะเหรี่ยงร้องเพลง “วิญญาณผู้พิทักษ์” ให้กำลังใจ “ชัยวัฒน์” แต่กลับมีเนื้อหาพาดพิงชาติพันธุ์ในแง่ลบ จนเกิดกระแส #Saveเสื้อกะเหรี่ยง
กระแส #Saveเสื้อกะเหรี่ยง ในโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นทันที หลัง “แอ๊ด คาราบาว” ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ปล่อยคลิปเพลง “วิญญาณผู้พิทักษ์” ลงยูทูป โดยที่เนื้อหาของเพลงเป็นการยกย่อง และ ให้กำลังใจ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 9 อุบลราชธานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ถูกคำสั่งปลดออกจากราชการเมื่อสัปดาห์ก่อน ตามที่ ป.ป.ท. ชี้มูลความผิด ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 กรณีรื้อถอน เผาทำลายบ้าน และ ยุ้งฉาง ทำลายทรัพย์สินของ โคอิ มีมิ หรือ ปู่คออี้ ในยุทธการตะนาวศรี ช่วงปี 2554
เรื่องราวข้อพิพาทในป่าแก่งกระจาน ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม และก่อนหน้านี้ ชัยวัฒน์ ยังถูกมองว่า เป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้ง ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง การออกมาแสดงท่าทีของ แอ๊ด คาราบาว จึงถูกจับจ้อง นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์
แม้เพลงที่แต่งเพื่อให้กำลังใจ ชัยวัฒน์ แต่ด้วยเนื้อหาบางช่วง ที่ระบุว่าคนที่อยู่ในป่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการล่าช้างที่แก่งกระจาน ยิ่งทำให้เกิดคำถามจากคนบางกลุ่มในสังคม มากไปกว่านั้นศิลปินเพื่อชีวิตคนดัง ยังใส่เสื้อกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ขับร้องเพลงวิญญาณผู้พิทักษ์ด้วย จนทำให้เครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเกิดความไม่สบายใจ จนเกิดกระแส #Saveเสื้อกะเหรี่ยง ตามมา
รู้จักเสื้อกะเหรี่ยง ที่มากกว่าแค่สวมใส่
The Active พูดคุยกับ สมภพ ยี่จอหอ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ ดอยสเตอร์ ที่ทำงานเรื่องผ้ากับชุมชนกะเหรี่ยงปกาเกอะญออย่างใกล้ชิด ซึ่งในฐานะนักวิจัยและพัฒนาที่มุ่งสื่อสารวิถีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ย้ำว่า กระแสที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าชาวกะเหรี่ยงหวงแหนเสื้อ เพราะจริง ๆ แล้วการที่มีผู้คนนำเสื้อกะเหรี่ยงไปใส่ พวกเขายินดี และรู้สึกดีใจที่คนต่างวัฒนธรรมสนใจและชื่นชอบที่จะสวมใส่เสื้อกะเหรี่ยง แม้ในเบื้องต้นจะเกิดจากความสนใจในมุมของความงามของเสื้อ อาจยังไม่ได้เข้าใจความหมายลึกซึ้งของเสื้อผ้าแต่ละประเภท แต่อย่างน้อยก็สวมใส่ด้วยชื่นชอบ ด้วยมุมมองด้านบวก
ผู้ก่อตั้งเพจ ดอยสเตอร์ บอกด้วยว่า คนกะเหรี่ยงค่อนข้างให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าที่สวมใส่ เพราะเสื้อผ้าไม่ใช่แค่เพียงปัจจัยสี่ แต่เสื้อผ้ากะเหรี่ยง ยังเป็นสัญลักษณ์บอกสถานะทางสังคมในชุมชน สถานะของช่วงอายุ เด็ก หนุ่ม สาว คนโสด แม่บ้าน พ่อเรือน มีข้อปฏิบัติในการสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่แตกต่างกันไปทั้งรูปแบบและสีสัน
อีกส่วนที่คิดว่าสำคัญมาก ๆ คือ เสื้อผ้ากะเหรี่ยงยังเป็นเครื่องแบบทางพิธีกรรมต่าง ๆ ในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น เมื่อเกิดมาเด็กกะเหรี่ยงจะมีเสื้อตัวแรกใส่ก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 1 ปีบริบูรณ์ และ เสื้อตัวนี้ยังต้องผ่านพิธีกรรมการผลิตตามหลักความเชื่อ เมื่อได้สวมเสื้อตัวนี้แล้ว เด็กน้อยคนนั้นจึงจะนับได้ว่าเป็นสมาชิกในครอบครัวกะเหรี่ยงปกาเกอะญออย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้นก็ยังมีอีกหลายพิธีกรรมที่คนกะเหรี่ยงใช้เสื้อผ้า เพื่อประกอบพิธีตามความเชื่ออีกมากมาย ตั้งแต่พิธีกรรมในบ้าน จนถึงการเพาะปลูกในไร่ พิธีกรรมที่ใช้เสื้อผ้าตั้งแต่เกิด กระทั่งที่ใช้ในพิธีของคนตาย เสื้อผ้าของคนกะเหรี่ยงก็ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือส่งดวงวิญญาณไปยังโลกหน้าตามความเชื่ออีกด้วย
ขณะที่มุมของต้นทุนทางทรัพยากร เสื้อผ้ายังเป็นของสำคัญ และสิ่งหวงแหน เพราะในอดีตการอาศัยอยู่ในป่าลึก เส้นด้ายและเสื้อผ้าหายาก เด็กสาวบางคน สวมใส่ชุดขาวที่แม่ทอให้จนเก่ามอม ด้วยขาดแคลนวัตถุดิบ จนโตขึ้นมาปลูกฝ้ายทอผ้าเป็น ก็จะพยายามทอเก็บไว้ใช้ เมื่อมีครอบครัวก็ต้องทอให้สมาชิกในบ้านได้สวมใส่ตามประเพณีนิยม แม้กระทั่งบางช่วง อาจจะเคยได้รับบริจาคเสื้อผ้าจากภายนอกมาใส่ ก็จะเก็บชุดปกาเกอะญอไว้ใช้ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เพราะเกรงว่าจะเก่า แต่ถ้ามีชุดเก่าสำรอง ก็จะพยายามนุ่งห่มในชีวิตประจำวันกันอยู่เสมอ ดังนั้นการมีชุดปกาเกอะญอไว้สวมใส่จึงประกอบขึ้นทั้งจากความจำเป็น และความภาคภูมิใจ นี่จึงไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของเสื้อผ้า แต่คือตัวตน ภูมิปัญญา ศิลปะ คือ เครื่องประกอบในพิธีกรรมแห่งชีวิตของชาวกะเหรี่ยง
กะเหรี่ยงไม่ได้หวงเสื้อผ้า ถ้านำไปสวมใส่อย่างชื่นชม อย่างให้เกียรติกัน แต่การเอาไปใส่ แล้วมาสื่อสารบางอย่างในแง่ลบ ที่ทำให้กะเหรี่ยงไม่สบายใจ คือประมาณว่า ใส่เสื้อฉัน เพื่อมาต่อว่าพวกฉัน จึงไม่ผิดที่จะเกิดกระแส #Saveเสื้อกะเหรี่ยง อย่างที่เห็น เพื่อสื่อสารให้เกิดการรับรู้เข้าใจว่า การใส่เสื้อผ้า ที่สะท้อนวิถีชีวิตวัฒนธรรมของพวกเขา ก็ต้องยอมรับ เข้าใจ และเคารพพวกเขาด้วย ซึ่งจริง ๆ ถ้ากรณีนี้เกิดกับชาติพันธุ์ใด หรือแม้แต่มีกรณีที่ต่างประเทศนำเอาสิ่งที่เป็นวิถีวัฒนธรรมเราไปนำเสนอในภาพลบ ไม่ถูกต้อง ก็ย่อมเป็นสิทธิที่จะแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย หรือความไม่เหมาะสม
สิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ทางสังคม แต่หมายถึงความพยายามทำให้ทุกฝ่ายต้องเคารพในความแตกต่าง หลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม