หวัง พ.ร.บ. บังคับใช้ทันสมัยประชุมนี้ คุ้มครองผู้เสียหาย ที่ไร้เบาะแส หลักฐานเอาผิดเจ้าหน้าที่ เผย ส.ส. ยอมแก้ไขตาม ส.ว. ดันกฎหมายให้ไวที่สุด
นับเป็นเวลากว่า 8 ปี กับคดีการหายตัวไปของ “บิลลี่” หรือ พอละจี รักจงเจริญ ชนเผ่าพื้นเมือง บ้านโป่งลึก อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หรือรู้จักกันในชื่อ “บ้านบางกลอย” ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ก่อนจะมีการพบหลักฐานเป็นกะโหลกมนุษย์ในถังใต้น้ำ บริเวณสะพานแขวนเหนืออ่างเก็บน้ำ เขื่อนแก่งกระจาน เมื่อเดือนกันยายน 2562 หรือ 5 ปีหลังจากที่หายตัวไป ล่าสุดวันนี้ (15 ส.ค. 2565) มีเอกสารจากสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ยืนยันว่า อัยการการสูงสุด ได้ลงนามในความเห็นสั่งฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นข้อหา “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” ถือได้ว่าคดีของ “บิลลี่” ได้เปลี่ยนสถานะจากคดี “คนหาย” ไปเป็นคดี “ฆาตกรรม” อย่างเป็นทางการ
อ่านเพิ่ม : ด่วน! อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง ‘ชัยวัฒน์’ พวก อุ้มฆ่า ‘บิลลี่’ แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจาน
สำหรับข้อหาที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งวฟ้องนายชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คน คือ
1. ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแก่ตามที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนกระทำไว้
2. ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจโดยให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง
3. ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย
4. ร่วมกันทุจริตหรืออำพรางคดี กระทำการใดๆแก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะมำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
ต้องยอมรับว่าปมสำคัญของเรื่อง ที่นำมาสู่การฟ้องคดีในวันนี้ เกิดจากหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ในยุคที่ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร เป็นอธิบดี เดินหน้าลงพื้นที่ตรวจสอบหาพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนมนุษย์ที่ได้รับการยืนยันจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ว่าเป็น ชิ้นส่วนกะโหลกของบิลลี่ ผ่านการตรวจด้วยวิธี “ไมโตรคอนเดรีย ดีเอ็นเอ” หรือ การตรวจหาสารพันธุกรรมจากสายทางมารดา และพบว่า กะโหลกชิ้นนี้ มี DNA ตรงกับมารดาของบิลลี่ ทำให้ DSI มีความเห็นสั่งฟ้องบิลลี่ โดยมีข้อหา “ฆาตรกรรม” รวมอยู่ในนั้นด้วย แต่ “อัยการคดีพิเศษ” มีความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” ทำให้ DSI มีความเห็นแย้ง จนนำมาสู่การชี้ขาดคำสั่งฟ้องโดยอัยการสูงสุด ในวันนี้
“แต่ไม่ใช่ทุกคดี ที่เจ้าหน้าที่จะค้นหาความจริง แล้วเจอหลักฐานสำคัญอย่างคดีนี้”
เพราะ การบังคับให้สูญหาย หรือการ อุ้มหาย มักเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ ที่กระทำการภายใต้สถานการณ์ และสถานที่ซึ่งเป็นความลับ มีโอกาสทำให้หลักฐาน และการเชื่อมโยงเบาะแสต่างๆ ทำได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย หลักประกันสำคัญของผู้เสียหาย จึงถูกฝากไว้กับการทำหน้าที่ของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่รับผิดชอบ ว่าจะดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อเปิดเผยความจริงนี้ได้หรือไม่ นี่จึงเป็นความพยายามในการออกกฎหมาย “ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหายขึ้น”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว เปิดเผยกับ The Active ว่า คดีนี้เป็นตัวอย่างที่จะชี้ให้เห็นว่าทำไมเราจึงควรมีกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายได้แล้ว เพราะ ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะเป็นเหมือนคดีบิลลี่ แต่หากร่างกฎหมายที่ตั้งใจทำกันมามีการบังคับใช้ อย่างน้อยที่สุดกลไกอย่าง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย” จะมีอำนาจค้นหาความจริง และเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งคนที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ ญาติหรือครอบครัวผู้สูญเสีย
“ถ้าเจ้าหน้าที่ของประเทศไทย เจอชิ้นส่วนมนุษย์หรือหลักฐานอื่น แล้วยังไม่สั่งฟ้องอีก อย่างน้อยครอบครัวของผู้สูญหาย จะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายนี้ ว่ายังเป็น “คนหาย” อยู่ กระบวนการทุกอย่างก็ดำเนินต่อไป… เป็นหลักการตามกฎหมายที่เราระบุว่า อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่ทราบชะตากรรมของผู้เสียหาย”
นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการขยายอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ที่จะเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวน เพื่อให้มีโอกาสสืบค้นความจริงได้มากที่สุด ไม่จำกัดเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรืออัยการเท่านั้น ยังกำหนดให้ “พนักงานฝ่ายปกครอง” เข้ามามีส่วนร่วมเป็นพนักงานสอบสวนด้วย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา แต่อย่างไรก็ตามกลไกที่ออกแบบไว้ซึ่งพรเพ็ญ มองว่าเป็น “ของใหม่” และประชาชนจะได้รับประโยชน์ ยังคงสุ่มเสี่ยงว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่
เนื่องจากตอนนี้ ส.ว. มีมติแก้ไขร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวของ ส.ส. ในบางประเด็น โดยจากการพูดคุยกันของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของ ส.ส. ตัวแทนพรรคการเมือง และตัวแทน ส.ว. ที่เห็นด้วยกับหลักการ คุยกันว่า ส.ส. จะ “ยอมแก้ไข” ตามมติของ ส.ว. เพื่อให้กฎหมายนี้เดินหน้าต่อ โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณา แม้บางประเด็นจะสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่เพื่อให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้ทัน และไม่ให้ความทุ่มเทที่ผ่านมาทั้งหมดสูญเปล่า จึงคิดว่า จำเป็นที่ต้องลดกระบวนการผ่านกฎหมายให้รวดเร็วมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงมิติทางการเมืองว่าหากเกิดการยุบสภาเมื่อไหร่ ความฝันที่พยายามกันมา อาจสูญหายไป และต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในสภาฯ ชุดหน้านั่นเอง