เสนอ “Social housing” รัฐแทรกแซงเงินอุดหนุน ให้คนได้มีโอกาสอยู่ในเมือง

“นักวิชาการ” แนะ การรถไฟฯ ใช้กรณีพิพาทที่ดินรถไฟ เป็นโมเดลจัดการสิทธิที่ดินและที่อยู่อาศัย ที่ซับซ้อนมากขึ้น “ชาวบ้าน” ชี้ การย้ายคนจนเมืองขึ้นตึก ไม่ตอบโจทย์อาชีพ

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 โครงการสัมมนาวิชาการเพื่อสาธารณะ “ชุมชนริมทางรถไฟกับสิทธิที่จะมีที่อยู่อาศัยในเมือง” หัวข้อ “โครงการพัฒนาของการรถไฟแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการไล่รื้อที่ดินริมทางรถไฟ และนักวิชาการ ร่วมเสวนา

เชาว์ เกิดอารีย์ ตัวแทนเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ระบุว่า ชีวิตคนจนในเมืองที่อยู่ริมทางรถไฟ อยู่กันมา 30-40 มีอาชีพทั่วไป เช่น หาบเร่ แผงลอย ขับวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นอาชีพที่แบกเมืองไว้ทั้งสิ้น หากไม่มีพวกเขา ค่าครองชีพของคนเมืองก็จะสูงขึ้น

เขาสะท้อนอีกว่า อาชีพเช่นนี้ เป็นอาชีพที่ไม่มีใครอยากทำ แต่เพราะมีการศึกษาไม่มาก หากเลือกได้ก็ไม่อยากมีอาชีพแบบนี้ แต่ก็ต้องดำเนินชีวิตเพื่อให้พวกเขาและเมืองขับเคลื่อนไปได้

สำหรับผลกระทบจากการพัฒนาย่านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) เขาระบุว่า ในช่วงแรกเมื่อปี 2563 เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เข้ามาในชุมชน ขอบัตรประจำตัวประชาชนของชาวบ้าน โดยแจ้งว่าจะมีโครงการมาให้ แต่กลับเป็นหมายศาลฟ้องคดีคนในชุมชน เหตุการณ์เช่นนี้ ยังเกิดขึ้นกับ นิคมรถไฟ กม.11 และชุมชน RCA โดยหมายศาลระบุว่าเป็นผู้บุกรุก แต่พวกเขามองว่าตนเองเป็นผู้บุกเบิกมากกว่า เพราะในอดีตพื้นที่ริมทางรถไฟเป็นป่ารกร้าง มีอาชญากรรมมาก แต่เมื่อเกิดชุมชน ปัญหาเหล่านั้นก็หมดไป

เราคุยกันในชุมชนเครือข่าย มีการวางแผนเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาคุยแล้ว เราพร้อมปรับตัว สร้างกลุ่มออมทรัพย์ไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อสร้างบ้านมั่นคง เราเจรจากับการรถไฟ ถ้าเราสามารถมีสิทธิ์แบ่งปันพื้นที่ได้ เราก็จะเดินหน้าทำบ้านมั่นคงเลย ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีที่อยู่อาศัยมั่นคงมากขึ้น เราไม่ต้องการอะไรมาเยียวยา เราต้องการที่อยู่อาศัยจริง ๆ เราไม่ได้อยากเป็นชุมชนสลัม เราอยากมีที่อยู่อาศัยดี ๆ จริง ๆ บ้าง ถ้าเกิดมีโครงการของการรถไฟ และเอื้อให้เรามีบ้านมั่นคง เราก็จะมีบ้านที่สวยงาม

อัภยุทธ์ จันทรผา ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ปี 2543 ได้มีมติบอร์ดของการรถไฟฯ ให้จัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ของการรถไฟทั้งหมด 61 ชุมชน และที่ผ่านมาได้มีการเดินหน้าแก้ไปปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อพบว่ามีชุมชนอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา การรถไฟฯ ไม่ควรมองว่านอกเหนือจากหน้าที่และมติดังกล่าว และคิดว่าควรมีนโยบายแก้ไขปัญหาในแบบเดียวกันให้กับชุมชนรถไฟที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ด้วย คือ นิคมรถไฟ กม.11 ชุมชนบางซื่อ ชุมชนราชเทวี และชุมชนมักกะสัน

สำหรับข้อเสนอของชาวบ้าน คือ ขอแบ่งพื้นที่แค่ 5% ของการรถไฟ เช่น ที่มักกะสัน ภาคเอกชนได้กรรมสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ 150 ไร่ จึงขอแบ่งพื้นที่บริเวณไหนก็ได้ โดยมองว่าไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่มากเกินไป แต่หากจะให้การเคหะฯ แก้ปัญหาโดยการสร้างแฟลตเพื่อลดการใช้พื้นที่ ก็ไม่เหมาะสมกับอาชีพของชาวบ้าน

ชาวบ้านต้องการที่ราบ เพราะตรงกับอาชีพเดิม ถ้าย้ายไปแฟลตก็จะต้องไปหาอาชีพใหม่ ต้องมาตั้งศูนย์ฝึกอาชีพกันอีก ท่านนายกฯ บอกว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลดความเหลื่อมล้ำ ตรงนี้ใช่หรือเปล่า เครือข่ายสลัมสี่ภาคมองว่า ข้อเสนอของชาวบ้านไม่ได้มากเกินไป สำหรับการขอแบ่งพื้นที่เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ไปได้

พร้อมระบุว่า หากฝ่ายนโยบายของการรถไฟฯ อนุมัติตามข้อเรียกร้อง หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ประสานงานช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ก็จะเดินหน้าตามที่วางแผนเอาไว้ โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.

แฟ้มภาพ

สมยุทธ เรือนงาม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โครงการที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า ข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและการรถไฟฯ เกิดขึ้นในหลายกรณี และมีวิธีจัดการที่ต่างกัน เช่น บางพื้นที่ชาวบ้านยินดีที่จะรับเงินเยียวยาแล้วย้ายออกไป แต่ก็ทราบดีว่าในกรุงเทพฯ ชาวบ้านอยากอยู่ที่เดิม การรถไฟฯ จึงสำรวจทั้งพื้นที่อาศัยและความต้องการดังกล่าว รวมถึงโอกาสที่จะดำเนินงานให้ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ตอนนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา ไม่ได้ปิดโอกาสในการต่อรอง

ครั้งหนึ่งผมไปประชุมกับท่านรัฐมนตรีฯ มีดำริว่าจะหางบฯ มาสร้างบ้านให้ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ แต่เร็ว ๆ นี้ท่านได้ประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มาทำเอ็มโอยู เพื่อคลี่คลายปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ ในการจัดหาที่อยู่ของผู้เดือดร้อน แต่ที่ไหนอย่างไร ต้องขอสรุปอีกครั้งหนึ่ง

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการฟ้องคดีชาวบ้านที่บุกรุกที่ดินการรถไฟฯ นั้นเป็นไปตามนโยบาย เพราะในพื้นที่ที่มีชาวบ้านอยู่จริง และผิดข้อบังคับจริง ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินคดี อาจเป็นการละเลยหน้าที่ อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุม สรุปคดี และพิจารณาเรื่องขอแบ่งพื้นที่ นัดตรวจพื้นที่ที่จะให้เช่าชั่วคราว หากได้ข้อสรุปว่าให้ชาวบ้านเช่าที่ดินได้แล้ว ศาลก็สิ้นสุดการพิจารณา แต่ตอนนี้กระบวนการศาลยังต้องเดินหน้าไปก่อน 

สำหรับข้อเสนอของชาวบ้านผมคิดว่าทางนโยบายน่าจะรับฟัง เพราะถ้าย้ายออกจากพื้นที่ริมทางรถไฟ ซึ่งเดิมทีอาจขัดขวางการดำเนินงานของทางรถไฟฯ แต่ถ้าย้ายมาอยู่รวมกันเป็นระเบียบมากขึ้น ก็คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ ถ้ามองในมุมผม ผมว่าเป็นไปได้ แต่วิธีการนำเสนอต่อนโยบายต้องเสนอให้เข้าใจ และคิดว่าถ้าเข้าใจแล้วไม่น่าจะขัด โดยมองว่าถ้ามีการจัดสรรพื้นที่ชัดเจนโดยชาวบ้านเอง และนำเสนอให้กับบอร์ดบริหารของการรถไฟฯ ก็น่าจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกมากขึ้นด้วย

ด้าน ผศ.บุญเลิศ​ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า ที่ผ่านมาจำนวนชุมชนแออัดในประเทศไทยไม่ลดลง หากเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนถ่ายภาคการผลิตของประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์มีการโยกย้ายแรงงานจากภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ เปลี่ยนมาเป็นภาคการผลิตที่เป็นทางการมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านสามารถย้ายออกจากชุมชนแออัดไปอยู่แฟลตได้ โดยเสนอว่ารัฐต้องยึดแนวคิด Social housing คือ นโยบายที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม รัฐแทรกแซงเงินอุดหนุนให้คนไม่มีกำลังซื้อบ้านราคาแพงได้มีโอกาสได้อยู่ในเมือง

ถ้าเราจัดสรรบ้านให้ตามกลไกการตลาด หมายความว่าใครมีเงินจ่ายก็อยู่ได้ ใครไม่มีเงินจ่ายก็ไม่ได้อยู่ ซึ่งจะทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ของคนไร้บ้าน อย่างที่ต่างประเทศ พบว่า ที่อยู่อาศัยราคาถูกในเมืองน้อยลง มีผลต่อจำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้น เราจึงมีความจำเป็นที่จะคิดเรื่องนี้ อย่างน้อยเราต้องมีที่อยู่อาศัยราคาขั้นต่ำเพื่อยังทำให้คนมีที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะการไม่มีที่อยู่อาศัยมากขึ้นโดยโครงการของรัฐ

ด้าน ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ระบุว่า พลวัตรของการพัฒนาเมืองที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ยิ่งทำให้รัฐต้องเตรียมพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของความเป็นเมืองที่จะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่คณะวิจัยทำตลอดมา คือ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนในเมือง ว่าคนจนคือผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง หรือ คนแบกเมือง และการกระจายแนวคิดการจัดสรรที่ดิน ที่จะต้องคำนึงให้ครอบมิติมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของเมืองมากกว่าระดับปัจเจก

การจัดการที่ดินที่เราคิดไม่ควรจะจบอยู่แค่กรณีของการรถไฟฯ เพราะยังมีชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่มีที่ดิน เช่น พี่น้องบางกลอย เราจำเป็นต้องคิดถึงสิทธิบนที่ดินที่ซับซ้อนมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมือง หากผู้ใหญ่ทางการรถไฟฯ ไม่มองข้าม เราทำให้โครงการจัดการที่ดินร่วมของการรถไฟฯ ไม่ใช่แค่การจัดการปัญหาของการรถไฟฯ แต่คือโครงการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชีวิตเมือง และหากรัฐบาลนี้กล้า แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน และการจัดสรรที่ดินในเมือง ก็จะหมดปัญหาว่าทำไมตึกบางตึกเคลื่อนเข้ามาใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาได้ หรือบางพื้นที่ที่ว่าง ๆ ถูกปล่อยให้ปลูกกล้วยกลางเมืองได้… แต่ชาวบ้านไม่มีที่อยู่

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้