ชาวชุมชนริมทางรถไฟ เผยสัญญาณบวก ระดับนโยบายยอมเปิดพื้นที่พูดคุยหาทางออก รับข้อเสนอแก้ปัญหา อาจไม่ถูกตอบสนองทั้งหมดแต่ถือว่ามีหวัง
วันนี้ (7 มิ.ย. 64) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม จัดประชุม ในนามอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2564 เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหากรณีข้อพิพาทระหว่างการรถไฟฯ และชาวชุมชนริมทางรถไฟในเขตพื้นที่ กทม. โดยมี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ
ไพบูลย์ สุจิรังกุล วิศวกรใหญ่ฝ่ายช่างโยธา การรถไฟฯ ระบุว่า การประชุมร่วมกันระหว่าง กระทรวงคมนาคม การรถไฟฯ และชุมชน เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน การรถไฟฯ ได้ตอบรับนโยบายทุกเรื่อง คือ การสำรวจพื้นที่ในที่ดินของการรถไฟฯ เพื่อหาที่อยู่ใหม่ให้ชาวบ้าน และกรณีการไกล่เกลี่ยคดีที่อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องกับชาวบ้าน
การสำรวจพื้นที่เพื่อหาที่อยู่ใหม่ให้ชาวบ้าน เพื่อหาที่ๆ เหมาะสมในที่ดินการรถไฟ และไม่ไกลเกินไปจากที่ทำมาหากินเดิม เรื่องนี้อาจจะต้องใช้เวลา แต่การรถไฟก็จะรีบเร่งรัดแก้ปัญหา ส่วนเรื่องคดีการฟ้องร้องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี การรถไฟฯ จะมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายกฎหมายเข้าไปเจรจาต่อศาลด้วย และบรรเทาด้วยการจัดสรรพื้นที่เช่าชั่วคราว
วิศวกรใหญ่ฝ่ายช่างโยธา การรถไฟฯ ยังย้ำว่า การรถไฟฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ปัญหา และพยายามช่วยเหลือพี่น้องริมทางรถไฟไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน
สยาม นนท์คำจันทร์ โฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในฐานะ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในที่ดินการรถไฟฯ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาควรหาทางออกร่วมกัน ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือควบคู่กันด้วย
ที่ผ่านมา พอช.ได้ทำงานร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาบนที่ดินริมทางรถไฟ โดยวันนี้ได้พูดคุยร่วมกับถึงแนวทางในการพัฒนาชุมชนริมทางรถไฟ ทั้งเรื่องของการตั้งคณะทำงานชุดเล็ก และจัดการพืันที่ ขอแบ่งปันพื้นที่ ทั้งส่วนของ กม.1 นิคมมักกะสัน ซึ่งเห็นโอกาสความเป็นไปได้ถึงการพัฒนาในแนวทางนี้
ขณะที่ เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี กทม. ตัวแทนเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) บอกว่า ดีใจที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน และมีความหวังว่าการขอแบ่งปันพื้นที่จะได้รับการอนุมัติ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ตามข้อเสนอทั้งหมดก็ตาม
เรื่องการขอเช่าพื้นที่การรถไฟฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอกว่า ที่ดินมันก็แพงอยู่ ทางการรถไฟฯ ก็ประสบปัญหาขาดทุนมาหลายปี รัฐมนตรีฯ ก็ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ให้ลงมาดูพื้นที่ว่าสามารถให้อยู่ตรงไหนได้ อาจจะปรับลดพื้นที่ลงหน่อย อาจจะได้ไม่ถึง 27 ไร่ แต่ถ้าอยู่ในย่านมักกะสันทางชุมชนก็โอเค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ชุมชนริมทางรถไฟ ร้องชะลอคดีไล่รื้อ – นัดหน้า “คมนาคม” ทุกวัน ทวงถามแก้ปัญหา