วิพากษ์นโยบายมลพิษทางอากาศหลังคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่

สภาลมหายใจเชียงใหม่ระดมข้อมูลจากทุกฝ่ายหลัง ปลัด ทส. ยื่นอุทธรณ์ กรณีประกาศเขตควบคุมมลพิษ 4 จังหวัด ยกระดับกลไกแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ 

ไพสิฐ  พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า การที่ประชาชนยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษและประชาชนชนะคดี  ถือเป็นคดีสำคัญที่มีการใช้หลักกฎหมายเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM2.5 บนหลักคิดที่ว่ารัฐมีหน้าที่ในการจัดให้มีอากาศสะอาด บริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ในการปกป้องสุขภาพของประชาชน รวมถึงความพยายามในการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด พ.ศ. …  แต่ถูกปัดตกไปเพราะถูกพิจารณาว่าเป็นพ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน เมื่อเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมเราจึงต้องพัฒนาสิทธื์ในการดูแลตัวเอง ตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยการฟ้องร้องหน่วยงานที่ละเลยหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขปัญหา  แต่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หน่วยงานภาครัฐยื่นอุทธรณ์ เพื่อต้องการให้ศาลมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

“ทส. ไม่เชื่อว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษจะเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา  และยังเห็นว่าหากมีประกาศเขตตามคำสั่งศาลจริง ๆ จะส่งผลต่ออำนาจการจัดการที่มีอยู่ในมือตกไปอยู่ที่หน่วยงานท้องถิ่น และจังหวัด ทั้งงบประมาณและแผนปฏิบัติการ  ซึ่งการพิจารณาของศาลก็ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานที่ยื่นอุทธรณ์จะมีเหตุผลที่สนับสนุนที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีกลไก มีข้อมูล ทางออกอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่”

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ (นิด้า)  ยกตัวอย่างกรณีมาบตาพุตที่จังหวัดระยอง เมื่อปี 2550 ที่ใช้วิธีการเดียวกันจนได้มาซึ่งการประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ และนำมาซึ่งการกำหนดค่ามาตรฐาน สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compounds, VOCs ขึ้นมาชัดเจน มีการสร้างมาตรฐานใหม่  มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ละเอียดขึ้นโดยประเมินด้านสุขภาพ (EHIA) เข้าไปด้วย มีการประเมินที่ซับซ้อนตระหนักในมิติอื่น ๆ ทางด้านสังคม ทำให้ภาครัฐตื่นตัวและตระหนักในการแก้ไขปัญหา และการติดตามควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่

ขณะที่ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย กลับเห็นว่าหากมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษอาจไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากการจัดการแหล่งกำเนิดมีความซับซ้อน เช่น กรณีการเผาจะพบว่า มีทั้งการเผาที่เกิดขึ้นในประเทศและฝุ่นข้ามแดน ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA  ระบุว่าไฟป่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าคงสภาพ ทั้งพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ขณะที่ไฟในพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะในไร่หมุนเวียนลดลง หรือไฟดีลดลง แต่ไฟที่ไม่มีการควบคุมเพิ่มมากขึ้น และยังพบว่าพื้นที่ 1 ใน 3 เกิดขึ้นในไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อุตสาหกรรม ขณะที่การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องใช้กลไกความร่วมมือเป็นหลัก  เช่น  กรณีที่กฎหมายสิงค์โปร์ที่มีการปรับบริษัทที่ส่งเสริมหรือเกี่ยวข้องกับการเผา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถฟ้องร้องบริษัทดังกล่าวได้  แม้จะเป็นโมเดลที่ดีแต่ก็มีความซับซ้อนและยากในทางปฏิบัติ ต้องถอดบทเรียนความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่ทำให้ระยะหลังมีการเผาน้อยลงมากเมื่อเทียบกับการเผาในอนุภาคลุ่มน้ำโขง ภาคเหนือตอนบนของไทย โดยเฉพาะในประเทศลาว และรัฐฉานเมียนมา หากจะเสนอกลไกการแก้ไขปัญหาเห็นว่าประเทศไทยควรมีการปรับค่ามาตรฐานให้ต่ำกว่าที่เป็นอยู่

“การปรับค่ามาตรฐานจะเป็นกระแสกดดันที่ดีที่พอจะเห็นทางเป็นไปได้เพราะคนกำลังตระหนักต่อปัญหานี้  อาจไม่ต้องถึงมาตรฐานที่ WHO แนะนำ แต่ก็ควรต่ำกว่านี้ เพื่อข้อดีในการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน”

ขณะที่ตัวแทนจากฝ่ายนิติบัญญัติ  นิติพล ผิวเหมาะ ประธานอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ  ระบุว่า ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎร์ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามาตลอด 1 ปี รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์รอบด้านในการรับฟังและลงพื้นที่ เสนอต่อรัฐบาล ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะเดินหน้าต่อไม่ได้ หากผู้ที่มีอำนาจโดยตรงไม่จริงจังและเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและพึ่งพาระบบกลไกด้วยวิธีการใหม่ ๆ  

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส