รับฤดูไฟป่า หวัง ครม.สัญจรเชียงใหม่-เชียงราย ทบทวนนโยบายจัดการเชื้อเพลิง

ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงาชี้ แนวทางเดิมยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาไฟป่า พร้อมเสนอให้อนุมัติงบประมาณ สนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ และให้กองทัพช่วยเสริม จัดกำลังพลตั้ง “ทีมดับไฟป่า” เตรียมรับมือฤดูไฟป่าที่กำลังมาถึง

วันนี้ ( 24 พ.ย.2567 ) สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ตั้งทีมอาสาสมัครไปช่วยดับไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ กล่าวถึงการจับตาฤดูไฟป่าที่กำลังจะมาถึงว่า เมื่อปีที่ผ่านมาพบไฟป่าเผาพื้นที่ไปกว่า 9 ล้านไร่ และไฟทั้งหมด จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่มีมนุษย์ไปเริ่มต้นจุดไฟ อาจด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่ตนมั่นใจว่า ไฟที่ไหม้ 9 ล้านไร่ ไม่ได้เป็นไฟซึ่งมีเจตจำนงค์ที่อยากให้ไหม้ใหญ่เป็นวงกว้าง อาจมีเหตุผลใช้ไฟในพื้นที่จำกัด ในพื้นที่จำนวนหนึ่ง แต่ว่าพอไฟถูกจุดแล้ว การดับไฟทำได้ยาก ต้องใช้กำลังพล อุปกรณ์เข้าไปดับจำนวนมาก เลยทำให้เกิด การเผาไหม้ ไฟป่าขนาดใหญ่ 9 ล้านไร่

ดังนั้นเรื่องสำคัญ หากเราสามารถส่งทีม ที่มีเครื่องมือที่เพียงพอ เข้าไปถึงไฟ ก่อนลุกลามเป็นไฟขนาดใหญ่ได้ อันนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญมาก ที่จะทำให้สามารถควบคุมไฟได้ในระดับ 10-20% ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่เรายอมรับได้ ว่าเราสามารถควบคุมขนาดของไฟได้

แต่ถ้าไฟป่ายังอยู่ในปริมาณเผาพื้นที่ไป 9 ล้านไร่ โดยส่วนตัวแม้ว่าจะเป็นตัวเลขน้อยลงจากที่ผ่านๆมา แต่ไม่ใช่ระดับที่จะยอมรับได้ เพราะเมื่อเกิดปัญหาเรื่องหมอกควันแล้ว 9 ล้านไร่ คือปริมาณของน้ำฝนที่ตกลงมา แล้วหลากมาข้างล่างมหาศาล เป็นตัวเลขที่ยอมรับไม่ได้

“ พอไฟป่า หมอกควันหมด ก็เป็นน้ำหลาก น้ำท่วม น้ำแล้ง คือถ้าเราเริ่มต้นจากจุดสำคัญที่สุดคือ ทำให้ไฟป่าน้อย และสามารถให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเองให้ได้ยาวนานพอที่สภาพป่าจะมีขีดความสามารถในการอุ้มน้ำ สามารถควบคุมไฟป่าได้ด้วยตัวเอง สมมติต้นไม้มีความหนาแน่นเพียงพอ และมีความชื้นสูง เวลามีไฟมันไม่ติดนะ มันกลายเป็นแนวกันไฟสีเขียว แนวกันไฟเปียกไปเลย แต่พอต้นไม้ ความชื้นต่ำ เวลามีไฟ มันก็จะลุกลามต่อ เป็นเรื่องพันกันวนไปมาแบบนี้ “

ดังนั้นในการประชุม ครม.สัญจร ก็หวังว่า 1.รัฐบาลจะทบทวนแนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยเฉพาะการชิงเผา ขอให้ทบทวนเรื่องนี้

“ ขอให้ใช้โมเดลจังหวัดเชียงราย ในการควบคุมไฟป่า ในฤดูไฟป่าที่ผ่านมา ว่าพอไม่ใช้วิธีบริหารจัดการเชื้อเพลิง แต่ผลปรากฎว่า เชียงรายมีจำนวนฮอตสปอร์ต ไฟป่า น้อยลงเป็นประวัติการณ์ แต่ในพื้นที่อื่นใช้การบริหารจัดการเชื้อเพลิง กลับกลายเป็นปัจจัยให้เกิดไฟป่าแปลงใหญ่มาก และคุณภาพอากาศแย่มาก “

2.กรณีที่สภาฯ ตัดงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์จำเป็นในการดับและจัดการไฟป่า เช่นโดรนตรวจจับความร้อน ซึ่งจริงๆแล้ว มีข้อดีทำให้ประหยัด ทำให้การวางแผนการดับไฟมีประสิทธิภาพ แต่พบว่า กลับไม่ได้รับการจัดสรรเลย ทั้งที่ราคาไม่ได้สูงนัก จึงคิดว่าควรจะใช้งบกลางมาจัดซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ ให้กับหน่วยอุทยานแห่งชาติทุกหน่วย รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟ เช่นเครื่องเป่าลม-ใบไม้ ราคาไม่แพงหลักพัน ควรจะมีให้เพียงพอ กระจายไปทุกหน่วย ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ รวมถึงมีการซ่อมบำรุงอุปกรณ์เหล่านี้

“ รวมทั้ง สนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่า ให้กับชุมชนที่อยู่หรือติดเขตป่า ที่เขามีความรู้ดีในการจัดการ ตั้งหน่วยดับไฟป่า สนับสนุนให้เกิดทีมลาดตระเวน และยกระดับเป็นทีมดับไฟป่า สามารถเข้าดับได้เลย และให้ออกนโยบายทำงานข้ามพื้นที่ได้อันนี้จะดีมาก “

ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือ เสนอให้กองทัพ สร้างทีมดับไฟป่า เหมือนกับ กรมป่าไม้ หรือ กรมอุทยานฯ ที่เรียกว่าเสือไฟ ควรมีเสือไฟของกองทัพ แล้วเข้าไปช่วยดับไฟในพื้นที่ที่เกิดไฟ โดยสนับสนุนให้มีมีการฝึกฝน ซึ่งกองทัพมีกำลังพลจำนวนมาก เป็นสิ่งที่กองทัพควรมีบทบาทเรื่องนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active