ห่วงสถานการณ์เตียงไม่พอรองรับ หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งเกิน 1 พันคนต่อวัน ชี้เป็นโอกาสผนึกกำลัง กู้วิฤตระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม
จากนโยบายผู้ติดเชื้อทุกคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากมาตรฐานของ Hospitel และโรงพยาบาลสนาม อีกข้อกังวลสำคัญของคนจำนวนไม่น้อย คือ ค่าใช้จ่ายที่จะตามมา และสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม
สะท้อนผ่านยอดทำประกันภัยโควิด-19 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่ 11 ล้านฉบับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 1 ล้านฉบับเช่นเดียวกับที่หลายบริษัทประกันต่างพากันออกกรมธรรม์จำนวนมาก เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ แต่คำถาม คือประกันโควิด- 19 เหล่านี้ ครอบคลุมการรักษาใน Hospitel และ โรงพยาบาลสนามด้วยหรือไม่
ล่าสุดนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยืนยันได้ออกคำสั่งที่ 16/2564 และคำสั่งที่ 17/2564 เรื่องการรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือสัญญาเพิ่มเติม หรือเอกสารแทบท้ายแล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า หากต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม หรือhospitel จะยังได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย
เช่นเดียวกับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งตามประกาศ สปสช. เรื่อง การขอรับค่าใช้จ่าย กรณีติดเชื้อโควิด- 19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2564 (ฉบับแก้ไขและเพิ่มเติม) กำหนดอัตราจ่ายค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลทั้งการตรวจและการรักษารวมไปถึงค่าที่พักอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel
The Active พูดคุยกับ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะใน กทม.ซึ่งเป็นพื้นที่ของชนชั้นกลาง ส่วนใหญ่อาจมีทัศนคติที่ไม่อยากไปกักตัวที่โรงพยาบาลสนาม ตามปกติคนไข้ส่วนใหญ่ที่ไม่มีประกันภัย หรือประกันโควิด-19 โรงพยาบาลก็สามารถไปเบิกเงินในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (ยูเซฟ) ซึ่งหลวงตั้งงบประมาณกลางไว้อยู่แล้วเพราะประชาชนก็ไม่ต้องเสียเงิน ส่วนในกรณีบริษัทประกันก็ได้ติดต่อ คปภ. ซึ่งโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ที่ได้รับการรับรองจาก สบส. สามารถเบิกจ่ายได้ด้วย
“สำหรับสิทธิ สปสช.มีราคากลางที่ตกลงกันไว้ระหว่างสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เรียกว่าโควิด ยูเซฟ ซึ่งเบิกได้อยู่แล้วในกรณีผู้ที่ติดเชื้อและนอนโรงพยาบาลซึ่งตัวราคาคงเทียบกับราคาปกติของโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้แต่เป็นการช่วยชาติและทุกคนควรเข้าถึงสิทธิรักษาได้ตามรัฐธรรมนูญ หากโรงพยาบาลไหนปฏิเสธ หรือไม่ปฏิบัติตาม เลือกปฏิบัติให้สิทธิไหนเข้าก่อนเข้าหลัง ถือว่าผิดกฎหมาย”
ด้านจำนวนของ Hospitel ต่อผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากว่า 1,000 คนต่อวัน นายกสมาคมโรงพยาบาล ระบุว่า หลังรัฐบาลกำหนดให้ผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรงต้องกักตัว 14 วัน ความจำเป็นในการใช้เตียงจึงเพิ่มขึ้น แต่ละกลุ่มโรงพยาบาลจะต้องไปประสานกับโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมที่เคยเป็น Alternative State Quarantine (ASQ) หรือ สถานที่กักตัวทางเลือกสามารถอนุญาตได้เลย แต่เมื่อไม่พอก็จำเป็นต้องหาโรงแรมใหม่ ต้องให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เข้าไปตรวจ และปรับปรุงเพื่อรับคนไข้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งกรณีกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากมีผู้ติดเชื้อ 500 คนต่อวัน และต้องกักตัวตามมาตรการ 14 วัน จำเป็นต้องมี hospitel ถึง 7,000 เตียง ขณะที่ล่าสุด นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนสุขภาพ ระบุ นับแต่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนจนถึงวันที่ 15 เมษายน มี Hospitel ที่ขึ้นทะเบียนในกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว 23 แห่ง รวม 4,900 เตียง
“อยากให้ทุกกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนช่วยกันปรับปรุง พัฒนาร่วมกับโรงแรม เป็น Hospitel เพราะหากคุณรับตรวจโควิด-19 ก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบถ้าพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าร้อยละ 80 ของทั้งหมด ต้องช่วยเหลือประเทศ และไม่เป็นการผลักภาระกับตัวผู้ป่วย รวมถึงไม่ถูกร้องเรียนว่าติดเชื้อแล้วโรงพยาบาลไม่รับ ต้องมากักตัวที่บ้าน”
การจับมือภาคเอกชนสร้าง Hospitel เคยประสบความสำเร็จมาแล้วจากการะบาดทั้งสองระลอก และอีกด้านยังช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจโรงแรมบางส่วน โดยล่าสุดสมาคมโรงแรมไทย (THA) ได้แจ้งและขอความร่วมมือไปยังสมาชิกให้เข้าร่วมโครงการแล้ว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมในวิกฤตครั้งนี้ ลดความแออัดของผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลหลัก ส่งเสริมการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม