เสนอเตรียม Home Quarantine อย่างเป็นระบบ ระบุ ทฤษฎีไม่มีอาการ กักตัวที่บ้านได้ ด้าน “เฉลิมชาตรี” วอนสังคมอย่ามองผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ร้าย ขอตั้งสติ อย่าแพนิค
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้กำกับภาพยนตร์ เปิดเผยประสบการณ์ระหว่างเข้าพักรักษาตัวใน Hospitel เนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ผ่านรายการ Active Talk ตอน โควิดคิดบวก จาก รพ.สนาม สู่ Home Isolation ว่า ตนเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ นอนกลางดินกินกลางทรายมาเยอะ ฉะนั้น ไม่ค่อยมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรู หรือโรงพยาบาลสนามก็ไม่ติดขัด แต่สิ่งที่ได้จากการถอดบทเรียนจากการเป็นผู้ติดเชื้อโควิดระลอกนี้ คือ 1. ได้เห็นการบริหารจัดการความรู้สึก ตั้งสติ อย่า Panic ไม่ควรตระหนกตกใจ 2. คนรอบข้างก็ไม่ควร Panic หรือตื่นตระหนกตกใจ การระมัดระวังตัวเอง แต่อย่าตื่นตระหนก 3. สังคมรอบข้างต้องมีความรู้ความเข้าใจ ระหว่างคนป่วยโควิดกับคนร้าย เวลานี้เรากำลังมองคนป่วยกับคนร้ายเป็นคนเดียวกัน ฉะนั้นต้องแยกให้ออก
“สังคมกำลังมองว่าผู้ป่วยโควิด คือ ผู้ร้าย บางคนอาศัยอยู่คอนโด ก็จะโดนนิติบุคคลไล่ บางคนอยู่ในชุมชน ถูกกดดัน เข้าใจทุกคนว่าห่วงใย แต่ถ้าทุกคนทำตามขั้นตอน ทุก ๆ พื้นที่ใน กทม. หรือประเทศไทย เขาจะมีสาธารณสุขที่ให้ความรู้ได้ ฉะนั้นจึงอยากให้ระมัดระวัง ไม่ใช่กังวลจนเกินไป”
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามน่าจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย การทำ Home Isolation อาจตอบโจทย์มากกว่าหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น จนไม่สามารถนำทุกคนเข้าสู่การรักษาในสถานพยาบาลได้ โดยกลุ่มที่ต้องนอนโรงพยาบาลคือกลุ่มที่ป่วยต้องการหมอ พยาบาล ต้อวมีการวัดความดัน และเอ็กซเรย์ ตรวจเลือด เฝ้าระวังไม่ให้เป็นปอดบวม หรือถ้าเป็นปอดบวมก็ไม่ให้หนัก คิดเป็นประมาณ 5% ของคนที่ติดโควิด อีก 15- 20% ก็นอนโรงพยาบาลสนาม กลุ่มนี้อาจมีไข้เล็กน้อย เพื่อป้องกันการติดเชื้อเนื่องจากสภาพที่บ้าน นอนไม่ได้เพราะอาจจะติดคนใกล้ชิด
นพ.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า ถ้าใครที่สภาพบ้านพร้อม อาการก็ไม่มี ในทฤษฎีก็สามารถที่จะนอนบ้านได้ อันนี้เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ของต่างประเทศ แต่บ้านเราเนื่องจากมีจุดเด่นด้านการสู้ภัยโควิดมาก การแพทย์ทางการเมือง ก็อยากจะให้พวกเราอยู่โรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยและไม่แพร่เชื้อ เพราะคนไทยไม่มีวินัยในตนเอง
“โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันหนักหนา สาหัสเกินไป สำหรับการจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด และมันก็จะส่งผลกระทบ วุ่นวาย อย่างที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ คนป่วยหาเตียงยาก คนไม่ป่วยนอนเต็มแล้ว คนป่วยน้อยนอนเต็มแล้ว คนป่วยหนักก็จะลำบากนิดนึง ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นปรากฏการณ์ของกรุงเทพฯ แต่ถ้าต่างจังหวัดก็จะดีกว่า”
นโยบายหมอครอบครัวพร้อมรับมือ Home Quarantine
นพ.สุภัทร ย้ำประเด็นสำคัญ คือ นโยบาย“หมอประจำตัว ครอบครัวละ 3 คน” ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ชื่ออนุทิน ชาญวีรกุล หมอคนที่ 1 คือ อสม. ทำหน้าที่เป็นหมอประจำบ้าน แบ่งเขตการรับผิดชอบ อสม. 1 คน รับผิดชอบประชาชน 8- 15 หลังคาเรือน ให้การดูแลเบื้องต้น ทำหน้าที่หลักเชื่อมประสานกับหมอคน 2 และหมอคนที่ 3
หมอคนที่ 2 คือ หมอสาธารณสุข หมายถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานบริการปฐมภูมิ ทั้ง รพ.สต., PCC, คลินิกชุมชนอบอุ่น กำหนดให้เจ้าหน้าที่ 1 คน ไม่ว่าจะวิชาชีพใดก็ตามรับผิดชอบประชากร 1,250 คน หรือ 1-3 หมู่บ้าน นอกจากมีหน้าที่ให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพแล้ว ยังต้องเชื่อมต่อประสานงานกับ อสม. และหมอคนที่ 3
หมอคนที่ 3 คือ หมอเวชปฏิบัติครอบครัว หมายถึงบุคลากรในวิชาชีพแพทย์ที่ผ่านการเทรนเวชปฏิบัติครอบครัว (FamMed) โดยกำหนดให้หมอ 1 คน รับผิดชอบประชากร 10,000 คน หรือ 1-3 ตำบล ต้องประสานเชื่อมต่อกับหมอคนที่ 1 และ 2 อย่างใกล้ชิด นอกจากดูแลผู้ป่วยแล้วต้องดูแลและทำให้หมอคนที่ 1 และ 2 มีความรู้และทักษะในการทำงานดีขึ้น
โดยมีเป้าหมายใหญ่ของนโยบายคือการทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของระบบสุขภาพที่แท้จริง อนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สธ. ได้กล่าวถึงแนวนโยบายนี้ไว้ว่าเป็นการต่อยอดให้ระบบบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคมั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้น เพราะจะช่วยลดความแออัดและภาระงานของบุคลากรในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับตติยภูมิ
“จะเห็นได้ว่ามีทั้งนโยบายและ แผนรองรับแล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างอย่างจริงจัง หากทำได้จริง จะช่วยทำให้การทำ Home Quarantine มีระบบ เสนอว่าต้องเร่งทำขึ้น”