เชื่อ การประกาศเขตควบคุมมลพิษ 4 จังหวัดภาคเหนือ จะยกระดับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากภัยพิบัติตามฤดูกาล สู่กระบวนทัศน์มลพิษนิเวศสิ่งแวดล้อม
สภาลมหายใจเชียงใหม่ ส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในฐานะองค์กรหลักด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานไม่ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินศาลปกครองเชียงใหม่ กรณีมีคำสั่งให้ประกาศ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอนเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะเห็นว่าวิธีการดังกล่าวเป็นเพียงเทคนิคทางกฎหมายและเป็นแค่ข้อถกเถียงว่าด้วยวิธีการแก้ปัญหาแบบใดจะดีกว่า ซึ่งมีแต่จะยืดเวลาของการทำงานร่วมกันต่อไป
ขณะที่การแก้ไขปัญหามลพิษภาคเหนือตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีข้อจำกัดและแนวทางให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดแบบ Single Command ให้อำนาจจัดการเบ็ดเสร็จแค่ระยะเวลา 3-4 เดือน ไม่ครอบคลุมการจัดการปัญหาตลอดทั้งปีและไม่ลงลึกถึงแผนชุมชนท้องถิ่น และการบูรณาการพลังทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง แต่หากมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษจะบังคับให้เกิดแผนชุมชน ดึงพลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมเกิดแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมจังหวัดและงบประมาณในการจัดการตลอดทั้งปี
การยกระดับมาตรการทั้งระบบ เริ่มจากการปรับกระบวนทัศน์ของฝ่ายนโยบายที่มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามลพิษนิเวศสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมมนุษย์ที่ต้องจัดการตลอดทั้งปี ไม่ใช่ภัยพิบัติตามฤดูกาลภายใต้เงื่อนไขนิเวศแวดล้อมแอ่งภูเขาภาคเหนือที่มีพื้นที่ป่าไม้เกินกว่า 65% มีความซับซ้อนทับถมมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะปัญหาชุมชนในเขตป่า สิทธิและการกระจายอำนาจด้านการจัดการทรัพยากร และระบบจัดการของระบบราชการส่วนต่างๆ ด้วยกันอง
สภาลมหายใจเชียงใหม่จึงขอเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะรัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องใช้โอกาสที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำตัดสินออกมาครั้งนี้ ทบทวนชุดมาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ยังไม่ลงตัว ขาดเอกภาพให้เป็นแผนปฏิบัติการที่บูรณาการสอดคล้องกับสภาพปัญหานิเวศแวดล้อมและตรงเป้ายิ่งขึ้น เริ่มจากแผนวิธีปฏิบัติ ระดมแนวทางแก้ปัญหาตั้งแต่ฤดูฝนในระดับชุมชน ผนวกกับหลักการป้องกันไว้ก่อน เริ่มทำต่อเนื่องตลอดทั้งปีไม่ใช่แค่ช่วงวิกฤติ