ติดเชื้อ “โควิด-19” กักตัวในบ้านแออัด “รอ” อย่างไร จึงจะปลอดภัย ระดมความเห็นผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเสนอการจัดการระดับชุมชน
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 The Active เปิดวงสนทนาระดมข้อมูลจากฝ่ายวิชาการ และภาคประชาสังคมชุมชนคลองเตย กทม. ผ่านเวทีสาธารณะ “โควิด-19 รุกคลองเตย : ช่วยชีวิต ปิดจุดเสี่ยง” หลังพบข้อมูล ณ 24 เม.ย. 2564 ว่าชุมชนคลองเตยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 11 คน และต้องกลับมากักตัวที่บ้านช่วงรอการส่งตัวไปรักษาตามมาตรการของสาธารณสุข โดยผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ที่เข้าร่วมได้สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของบ้าน และสภาพโดยรอบ ที่ค่อนข้างแออัดบางครอบครัวมีสมาชิกอยู่ร่วมกันถึง 9 คน ซึ่งยากต่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการคุมโรคระบาดโดยเฉพาะการเว้นระยะห่างในการกักตัว สร้างความเครียดให้กับทั้งผู้ป่วย คนในบ้าน และชุมชน
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนคลองเตย ต้องมีการแยกตัวระหว่างผู้ป่วยและคนในบ้านซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงออกจากกัน และต้องเร่งดำเนินการ 2 เรื่อง คือ กฎหมายและความปลอดภัย เดิมที พระพิศาลธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดสะพาน เสนออาคารปฏิบัติธรรมภายในวัดสะพานให้เป็นที่กักตัวผู้ติดเชื้อช่วงรอการส่งตัว แต่ตามกฎหมาย ศูนย์บริการสาธารณสุข ในพื้นที่ซึ่งกรณีนี้คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตรงในการอนุญาต ซึ่งเมื่อมีการหารือร่วมกับหลายฝ่าย เห็นว่า ไม่สามารถทำได้เนื่องจากตามกฎหมายควบคุมโรค ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพราะเสี่ยงแพร่เชื้อ จึงจะเปลี่ยนให้สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่รองรับกลุ่มเสี่ยงสูงแทน ซึ่งสอดคล้องกับระดับนโยบายที่ยืนยันชัดเจนว่า จะไม่ให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน แต่จะส่งเข้ารักษายังโรงพยาบาลหลัก หรือไม่ ก็โรงพยาบาลสนาม หรือ Hotpitel
“การประชุมของกระทรวง สธ. หน่วยงานรัฐจะะพยายามส่งให้เร็วที่สุดไม่มีการแยกกักอีกแล้ว การตั้งศูนย์จึงสวนทางกับนโยบายของรัฐ ประเด็นที่ 2 ที่ท้วงติง ถ้าเราเอาผู้ที่ป่วยไปที่ต่าง ๆ หมายถึงแพร่เชื้อให้ที่ต่าง ๆ แน่นอน การแก้ปัญหารเรื่องเตียง จัดพื้นที่ให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน เอาคนอื่นออกนอกบ้าน มีโรงเรียนอยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน เอาคนที่อยู่บ้านไปอยู่ที่ ร.ร. แล้วไปจัดระบบที่โรงเรียน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดู นี่เป็นการจัดการ แยกกักผู้ป่วย เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย”
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ ผอ.ศูนย์รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 บอกว่าหากชุมชนเป็นฝ่ายเริ่มและลุกขึ้นมาจัดการตามความต้องการก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องไปปลดล็อกอำนาจตามกฎหมาย และเห็นว่าควรแยกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มาไว้ที่สถานที่ที่เตรียมไว้แทนที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะผู้ติดเชื้อมีจำนวนน้อยกว่า ง่ายต่อการบริหาร และเห็นว่าการแยกผู้ป่วยโดยคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องที่ขัดกับนโยบาย
เตชิต ชาวบางพรหม ผู้ชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นด้วยในการเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาจากชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง โดยไม่รอภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่การเริ่มต้นสร้างระบบให้ทุกคนปลอดภัย ด้วยโมเดลพิเศษ จำเป็นต้องดึงศูนย์บริการสาธารณสุข 41 เขตคลองเตย ชุมชน คนที่มีอำนาจในการอนุญาตสร้างศูนย์พักพิง และเอกชน เข้ามาร่วมมือด้วย และการสร้างมาตรฐานทางวิชาการ กรมควบคุมโรคก็พร้อมที่จะแนะนำอยู่แล้ว
“อยากให้รวมพลังกัน เริ่มต้นเล็ก ๆ จากโมเดลคลองเตยเป็นโมเดลเป้าหมาย สร้างวอร์รูมในพื้นที่ เป็นศูนย์กลางประสาน หลายฝ่ายพร้อมช่วยเหลือแต่แค่ไม่มีคนกลาง”
ศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง ซึ่งทำงานกับชุมชนมานานและเคยทำงานเชิงรุกป้องกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในชุมชนแออัดช่วงการระบาดรอบแรก เชื่อว่าชุมชนมีความพร้อม และมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่งที่จะลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเอง มีเครือข่ายจากโครงการต่าง ๆ และการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน และมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งเป็นแกนกลางการประสานความช่วยเหลือครอบคลุมอีกหลายด้าน เช่น การระดมของบริจาคอาหาร อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ทั้งนี้ โครงการคลองเตยดีจังยังมีระบบที่ออกแบบไว้สำหรับการแก้ไขสถานการณ์และดำเนินการมาก่อนหน้านี้ และได้ผลดี เช่น ระบบคูปองอาหาร การจ้างงาน และขณะนี้ยังคงทำต่อเนื่อง
เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป บอกว่า หลังมีการหารือผ่านรายการ ข้อเสนอที่ทางชุมชนสามารถดำเนินการได้ทันที คือ การจัดทำศูนย์ Hot line รับมือโควิด โดยมีสมาชิก เช่น ประธานชุมชนแต่ละแห่งตามที่สมัครใจ คลองเตยดีจัง มูลนิธิดวงประทีป และฝ่ายวิชาการ ที่จะเริ่มทำงานประสานและเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ คาดว่ายอดผู้ติดเชื้อ และผู้ติดเชื้อที่กักตัวที่บ้าน จะเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการตั้งกลุ่มครั้งนี้รวมถึงการระดมความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ