นักวิชาการเสนอ สร้างกลไกประสานงานทุกระดับ วางแนวทางแผนรองรับ สร้างสมดุล 3 ด้านสำคัญ ทั้งการป้องกันโรค, ความมั่นคงอาหาร รวมถึงรายได้-อาชีพ
เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2564 เว็บไซต์ Chaingmainews.or.th นำเสนอข้อมูลข่าว ชาวบ้าน 20 หมู่บ้านในตำบลบ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ตื่นตัวใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ ด้วยการติดป้ายประกาศทางเข้าออกทุกหมู่บ้าน ห้ามบุคคลภายนอก บุคคลจากพื้นที่เสี่ยง รถเร่ขายของ เข้าหมู่บ้าน จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมาตรการนี้เป็นมติในที่ประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. ของทุกหมู่บ้าน
The Active ได้สอบถามเพิ่มเติมไปยังหมู่บ้าน ตำบลอื่นๆในอำเภอจอมทอง พบว่าได้ดำเนินแนวทางเดียวกันอีกหลายแห่ง เช่นที่ บ้านผาหมอนต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นายธรรมชาติ พนากำเนิดสกุล ผู้ใหญ่บ้าน เปิดเผยว่าการตัดสินใจปิดชุมชนเป็นมติร่วมของชาวบ้านทุกคน ที่เห็นตรงกัน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันให้ปิดหมู่บ้านเอาไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
กรณีที่มีความจำเป็น เช่นคนในชุมชน ที่มีอาชีพรับสินค้าอาหารจากตลาดในตัวอำเภอ มาขายในชุมชน ยังสามารถดำเนินการได้ แต่จะมีการยกระดับการตรวจคัดกรองเข้มข้นเคร่งครัดมากขึ้น ที่สำคัญอนุญาตให้คนในชุมชนเท่านั้นโดยจะมีการกำหนดจุดรับซื้อของอย่างชัดเจน เน้นมาตรการเข้มงวดการป้องกันโรค ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย กดเจลล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ ส่วนรถเร่จากภายนอกต้องขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางเข้ามาในระยะนี้
“ เรามีความพร้อม และให้ความสำคัญกับเรื่องระบบอาหารของคนในชุมชน จึงไม่น่ามีปัญหา เพราะนอกจากมีรถตลาดของคนในชุมชนที่ยังทำหน้าที่ต่อภายใต้มาตรการที่เข้มข้นแล้ว ส่วนใหญ่ในชุมชนทำเกษตร มีพื้นที่เพาะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ และมีการเก็บหาอาหาร เช่น ปู ปลา ในธรรมชาติ ก็ยังพอเพียงในช่วงเวลานี้เพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ”
เช่นเดียวกับชุมชนบ้านใหม่ล้านนา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง นางคำใส ปัญญามี ประธานชุมชนและประธาน อสม.ประจำชุมชน บอกว่า แม้ชาวบ้านในชุมชนจะไม่มีพื้นที่ทำการเกษตร อาชีพส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างทั่วไป แต่ก็พยายามใช้พื้นที่ที่เหลือข้างบ้านเพาะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการที่ดีของชุมชน โดยนำเงินที่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากโครงการและมูลนิธิต่างๆในช่วงที่มีการระบาดระรอกแรกมาเป็นกองทุนกลางของชุมชน ซื้อสเบียงอาหาร เช่นข้าว ไว้ให้กับคนในชุมชนที่ขาดรายได้ หรือรายได้ลดลง สามารถเบิกไปกินก่อน เมื่อมีรายได้แล้ว นำมาจ่ายในภายหลัง เมื่อมีมติปิดหมู่บ้านเอาไว้ก่อนก็สามารถพออยู่ได้ไม่ขาดแคลนอาหาร
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า บทเรียนที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้และวางแผนการจัดการตัวเองเพื่อการป้องกันโรค ควบคู่กับการคำนึงถึงการอยู่รอดในมิติต่างๆที่ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ยังสะท้อนชัดว่า ชุมชนที่ยังมีพื้นที่เพาะปลูก การทำเกษตร สร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร หรือมีแหล่งอาหารในธรรมชาติ สามารถที่จะอยู่รอดได้เมื่อเกิดภาวะวิกฤตต่างๆซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
และแน่นอนว่าการระบาดระลอกนี้ ที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด- 19 ในระยะ 3 จึงมุ่งให้ความสำคัญกับการควบคุมโรค อาจจะเห็นอีกหลายชุมชนที่ออกมาประกาศใช้แนวทางนี้เพื่อป้องกัน แต่ชุมชนแต่ละพื้นที่จะมีบริบทต่างกัน อย่างชุมชนเมืองก็จะเป็นอีกแบบ บางแห่งไม่มีพื้นที่เพาะปลูกสร้างอาหาร มีรายได้จากการรับจ้าง ต้องซื้อหรือเข้าถึงแหล่งอาหารราคาถูกเช่นตลาด หากมีการปิดตลาดเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน ทั้งที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ หรือห้ามรถพุ่มพวงวิ่งขายของ ก็อาจจะกระทบต่อแหล่งอาหาร อาชีพและรายได้ของผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นการจะดำเนินการมาตรการใดๆ เพื่อป้องกันโรค จึงต้องคำนึงถึงสมดุลของทั้ง 3 ส่วน คือ การป้องกันโรค ,ความมั่นคงทางอาหาร , และอาชีพรายได้ของประชาชน
“ ผมเห็นว่า เมื่อมีศูนย์ประสานงานเพื่อป้องกันควบคุมโรค ก็จำเป็นจะต้องมีกลไก หรือศูนย์ประสานงานของแต่ละชุมชน,อำเภอ ,จังหวัด,ไปจนถึงระดับประเทศ ที่วางแผนรองรับก่อนการดำเนินการใดๆ เพื่อควบคุมโรค โดยมองหรือคำนึงถึงสมดุลทั้ง 3 มิติ คือ การป้องกันโรค ,ความมั่นคงทางอาหาร , และอาชีพรายได้ของประชาชน ก็จะทำให้การดำเนินมาตรการแต่ละครั้ง ครอบคลุมทางรอดและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้ ”