ชี้ ป้องกันบริษัทยาจากญี่ปุ่นผูกขาด แก้ปัญหาขาดแคลนในสถานการณ์ระบาด เตือน หากทำไม่ดีอาจทำรัฐบาลล้ม
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความ (28 เม.ย.2564) เรียกร้องรัฐบาลสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาสำคัญที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ป้องกันการผูกขาดยาจากการขอจดสิทธิบัตรยาของบริษัทเจ้าของยาจากประเทศญี่ปุ่น และแก้ปัญหาการขาดแคลนยาในสถานการณ์โรคระบาด
“วันนี้ยาตัวนี้ขาดแคลนอย่างหนัก น้องแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ขอเบิกยานี้เพื่อใช้กับผู้ป่วยที่จะนะ ทราบว่า ที่คลังโรงพยาบาลหาดใหญ่ที่เป็นจุดสำรองยาของจังหวัดสงขลาเหลือเพียง 150 เม็ด ดีที่รัฐบาลสั่งยามาจากญี่ปุ่นทันเวลา 2 ล้านเม็ด เล่นเอาใจหายใจคว่ำ ซึ่งเชื่อว่า หากอัตราการใช้เป็นเช่นปัจจุบัน 2 ล้านเม็ดนี้ก็ใช้ได้ไม่เกิน 3 เดือน”
นายแพทย์สุภัทร ระบุว่า ประเด็นของยาฟาวิพิราเวียร์ที่อาจเป็นเหตุให้รัฐบาลสะดุดขาตนเองจนรัฐบาลล้มได้ก็คือ การผูกขาดยาจากการขอจดสิทธิบัตรยาของบริษัทเจ้าของยาจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากยาตัวนี้ไม่มีสิทธิบัตรยาตั้งต้นในประเทศไทย แต่บริษัทญี่ปุ่นมายื่นขอจดสิทธิบัตรรูปแบบเม็ดเล็กของยาฟาวิพิราเวียร์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ซึ่งคำขอสิทธิบัตรลักษณะนี้ ไม่มีทั้งความใหม่และนวัตกรรมที่สูงขึ้น จึงไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่ยอมปฏิเสธคำขอนี้ ทั้งที่ภาควิชาการได้เคยไปยื่นข้อมูลระบุเหตุที่ควรปฏิเสธตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 แล้ว
อีกทั้งองค์การเภสัชกรรมที่มีความพร้อมในการผลิตก็ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนยาเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ไปแล้วด้วย รัฐบาลควรประกาศสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้เร่งผลิตยาตัวนี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งหากกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ปฏิเสธคำขอนี้ ก็มีโอกาสที่จะถูกฟ้องในอนาคต
“รัฐบาลควรแสดงความกล้าหาญทางการเมืองหนุนหลังองค์การเภสัชกรรมผลิตยาเพื่อประชาชน และควรมีนโยบายชัดเจนไปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ทำหน้าที่เพื่อช่วยสู้ภัยโควิด ปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์เสีย”
นายแพทย์สุภัทรกล่าวด้วยว่า หากองค์การเภสัชกรรมผลิตเองได้ ค่ายาก็จะลดลงได้ครึ่งหนึ่ง เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์ราคาเม็ดละ 150 บาท ผู้ป่วย 1 คน ต้องใช้ 50 เม็ด รวมคิดเป็นค่ายาคนละ 7,500 บาท
สภาองค์กรผู้บริโภคเรียกร้องขอร่วมหารือ กกร. วันนี้ แต่ไร้คำตอบ
ก่อนหน้านี้ (26 เม.ย. 2564) สภาองค์กรผู้บริโภค ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมผลิตยาฟาวิพิราเวียร์อย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันการขาดแคลนและลดการนำเข้ายาดังกล่าวจากต่างประเทศ ประกอบกับภาคประชาสังคมและนักวิชาการก็ได้แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2563 และเข้าพบอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ อีกครั้งในวันที่ 26 ม.ค. 2564 เพื่อให้เร่งพิจารณายกเลิกคำขอสิทธิบัตรดังกล่าว
แต่จนถึงขณะนี้กรมทรัพย์สินฯ ยังอนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรแก้ไขเอกสาร เท่ากับยืดระยะเวลาออกไปและขัดขวางการผลิตยาของภาคส่วนอื่นๆ ในขณะที่องค์การเภสัชกรรมมีศักยภาพในการผลิตยาดังกล่าวได้ อีกทั้ง นักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ยังสามารถพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมของประเทศ หรือ API (Active Pharmaceutical Ingredients) สำหรับใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้แล้ว
พร้อมเรียกร้องให้มีตัวแทนของผู้บริโภคเข้าร่วมในการประชุมหารือของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) 3 สถาบันที่จัดขึ้นในวันนี้ (28 เม.ย.) ซึ่งจะมีการหารือเรื่องการบริหารและกระจายรวมถึงนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด – 19 เพิ่มเติม เพื่อให้การหารือเป็นไปอย่างรอบคอบรอบด้านและคำนึงถึงความเป็นธรรมในการกระจายวัคซีน แต่ล่าสุด ได้รับการยืนยันจากตัวแทนผู้บริโภคว่า ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมดังกล่าว