แจง ปริมาณที่รัฐจัดหา มีเพียงพอฉีดทุกคน กทม. ประสาน เอกชน เตรียมจุดฉีดวัคซีนในห้างสรรพสินค้า 14 จุด
ภาคเอกชนพร้อมร่วมมือรัฐบาล กระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน ภายในปีนี้
วันนี้ (28 เม.ย. 2564) ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับตัวแทนภาคเอกชนแถลงผลการหารือระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชน ในแนวทางการทำงานร่วมกันของหอการค้าไทยและภาครัฐ หลังจากวัคซีนโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย เพื่อการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส หรือประมาณ 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงได้มีการหารือถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในด้านต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยมีแนวทางที่จะสนับสนุนทำงานร่วมกับรัฐบาล ภายใต้นโยบาย Connect the dots ที่จะไปหาแนวทางในการเชื่อมโยงกับจุดต่าง ๆ ทั้งในส่วนของหอการค้าไทย ภาคเอกชนและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนสมาคมธนาคารไทย โดยแนวทางหลัก คือการเร่งรัดในการหาวัคซีนให้มีจำนวนมากที่สุด และสามารถที่จะกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนคนไทยได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด
โดยหอการค้าไทยได้จัดทีมงาน 4 คณะ ในการจัดทำแผนช่วยกระจายวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามา ได้แก่ ทีมที่ 1 ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน (Distribution and Logistics) โดยจะมีการจัดสถานที่และอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน
โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จะต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ถึงวันละ 5 หมื่นกว่าคน โดยภาครัฐดำเนินการ 3 หมื่นคนและภาคเอกชนดำเนินการ 2 หมื่นคน รวมไปถึงการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ก็จะใช้การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้เช่นเดียวกัน
ส่วนทีมที่ 2 ทีมการสื่อสาร (Communication) สนับสนุนการสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนทั่วไป เพื่อให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง เกิดความมั่นใจในการที่จะมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม ทีมที่ 3 ทีมเทคโนโลยีและระบบ (IT Operation) เป็นการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยในการลงทะเบียนนัดล่วงหน้าในการที่จะฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น และทีมที่ 4 ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม (Extra Vaccine procurement)
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วย Digital Transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะ SME เข้าถึงสินเชื่อและแหล่งเงินทุน โดยภาคเอกชนและสถาบันการเงินรวมทั้งคู่ค้า จะมีการจัดระบบในการเชื่อมโยงเพื่อทำให้การกู้และการปล่อยเงินกู้ให้กับ SME ของธนาคาร ได้เกิดผลอย่างเต็มที่
โดยเริ่มคลัสเตอร์แรกคือกลุ่มค้าปลีก และจะมีการขยายผลไปสู่กลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนประกอบยานยนต์และไฟฟ้า ขณะเดียวกันจะมีการผลักดันเร่งรัดแก้ไขกฎระเบียบหรือกฎหมายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือ Ease of Doing Business
ขณะที่ กลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่ามั่นใจเกี่ยวกับการซื้อวัคซีนของภาครัฐที่จะเข้ามา 100 ล้านโดสในปีนี้ ซึ่งจะครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน โดยในส่วนของภาคเอกชนจะเข้ามาสนับสนุนในด้านการกระจายการฉีดให้กับประชาชน รวมถึงการวางแผนจัดสถานที่สำหรับรองรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานคร
โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงจะมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนถึงห้วงเวลาและสถานที่ในการเข้ามารับบริการฉีดวัคซีน โดยจะใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือ SME ของสมาคมค้าปลีกว่า ขณะนี้ได้เริ่มต้นทำ Sand Box ขึ้นมา โดยมีข้อมูลลูกค้าประมาณ 6,000 ราย ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์กำลังเร่งพิจารณา คาดว่ามี 3,000 รายที่รอการอนุมัติภายในสัปดาห์นี้ และอีก 1,000 ราย จะอนุมัติภายในสัปดาห์หน้า
ซึ่งหาก Sand Box นี้ประสบความสำเร็จจะกระจายไปยังธุรกิจอื่นๆ และธนาคารพาณิชย์อีกด้วย โดยจากการสุ่มทำตัวอย่างในเฟสแรกพบว่าประมาณร้อยละ 70 จะเป็น SME ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยได้รับการเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งนี้ มีเป้าหมายว่าในช่วง 99 วันแรกจะดำเนินการให้ได้ถึง 1 แสนราย
ขณะที่ กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ประธานกรรมการหอการค้าไทยได้ประสานศูนย์การค้า และสำนักงานใหญ่ของบริษัทหลาย ๆ แห่งที่มีพื้นที่เพียงพอ และมีการคัดเลือกมา 14 แห่ง จาก 66 บริษัททั่วกรุงเทพมหานครที่เสนอตัวเข้ามา โดยจะสามารถช่วยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้วันละ 2 หมื่นคน
อีกทั้ง หากมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มจะสามารถเพิ่มกำลังการฉีดวัคซีนได้เพิ่มถึงวันละ 3 หมื่นคน ในขณะเดียวกันยังมีห้างค้าปลีกอีก 200 กว่าแห่งทั่วประเทศ พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงการฉีดวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ให้เร็วที่สุด
รัฐเบรกเอกชน จัดหาวัคซีนทางเลือก แจง วัคซีนที่รัฐหามามีเพียงพอฉีดทุกคน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการแถลงร่วมดังกล่าว หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย ได้ออกประกาศการดำเนินงานด้านการจัดหาวัคซีนทางเลือก ระบุว่า ตามที่ภาคเอกชนจะจัดหาวัคซีนทางเลือกมาฉีดให้กับพนักงานของตนเองเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐนั้น รัฐบาลได้แจ้งว่าปริมาณวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามานั้น มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกคน ภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติม
แต่อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยจะรวบรวมข้อมูลตามที่ได้รับแจ้งความประสงค์จากบริษัทเอกชนมาก่อนหน้านี้ส่งต่อให้รัฐบาล เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดลำดับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมต่อไป โดยหอการค้ายินดีให้ความสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
กทม. ประสานเอกชน เตรียมจุดฉีดวัคซีนในห้างสรรพสินค้า 14 จุด
คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรุงเทพมหานคร มีมติในการประชุมวันนี้ (28 เม.ย.) เห็นชอบแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในเดือนมิถุนายน สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค
ได้แก่ ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขต (พนักงานกวาดและเก็บขนขยะ) เจ้าหน้าที่ด่านท่าเรือคลองเตย เจ้าหน้าที่ในสถานกักตัวทั้งในส่วนของ SQ , ASQ และ LQ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ Hospitel รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและประชาชนทั่วไป
โดยหน่วยบริการที่ประชาชนสามารถไปรับบริการได้คือภายในโรงพยาบาล และหน่วยบริการนอกโรงพยาบาล ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนจัดสถานที่ให้บริการเป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล รวมจำนวน 14 แห่ง
ได้แก่ SCG บางซื่อ เซ็นทรัลสาขาลาดพร้าว เดอะมอลล์สาขาบางกะปิ โรบินสันสาขาลาดกระบัง โลตัสสาขามีนบุรี สามย่านมิตรทาวน์ True Digital Park ธัญญาพาร์ค Asiatique เซ็นทรัลสาขาปิ่นเกล้า ICONSIAM PTT Station พระราม 2 เดอะมอลล์สาขาบางแค และ Big C สาขาบางบอน ซึ่งสามารถให้บริการประชาชนได้รวมกว่า 20,500 คนต่อวัน โดยประชาชนสามารถเลือกหน่วยบริการที่ประสงค์รับบริการฉีดวัคซีนได้ทาง Line “หมอพร้อม”
สำหรับคุณลักษณะของสถานที่ให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ประกอบด้วย เป็นสถานที่ที่ประชาชนเดินทางเข้ารับบริการได้สะดวก ในกรณีฉุกเฉินสามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ภายใน 10 นาที ตำแหน่งที่จัดหน่วยบริการต้องสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังจุดจอดรถพยาบาลได้สะดวก มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการจัดบริการฉีดวัคซีนตามแนวทางและหลักการป้องกันการติดเชื้อ
มีการจัดจุดพักรอสังเกตอาการ 30 นาที และจัดที่นั่งรองรับประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 100 ราย อากาศถ่ายเทดี ไม่ร้อนเกินไป มีห้องน้ำสำหรับให้บริการประชาชน มีจุดล้างมือสำหรับบุคลากร และมีการให้บริการ Internet หรือ wifi เพื่อรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่