แจงคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นเผยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มแนวทางจัดหายา รับมือโควิด-19 แล้ว
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีที่ภาคประชาสังคมสอบถามความคืบหน้าการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ว่า สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับยาฟาวิพิราเวียร์หลักๆ แล้ว มีอยู่ 2 ฉบับ ฉบับแรก เกี่ยวกับโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลักของยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งไม่เคยยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย ปัจจุบันหมดอายุความคุ้มครองในทุกประเทศทั่วโลกแล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ดังนั้น ผู้ผลิตยาจึงสามารถนำสูตรโครงสร้างของสารออกฤทธิ์หลักนี้ไปพัฒนาเป็นสูตรยาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ทันที
ส่วน ฉบับที่ 2 การขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด ของบริษัทเจ้าของยาจากญี่ปุ่น ซึ่งได้ยื่นขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบการประดิษฐ์เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 และผู้ตรวจสอบได้พิจารณาแล้ว จึงมีหนังสือ แจ้งผลการตรวจสอบไปยังผู้ขอเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยระบุว่า “สิทธิบัตรดังกล่าวไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น” ซึ่งผู้ขอมีกรอบระยะเวลาในการชี้แจงถึงวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ หากผู้ขอไม่ชี้แจงเข้ามาตามเวลาที่กำหนด จะถือว่าละทิ้งคำขอ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของยาฟาวิพิราเวียร์ที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลในการจัดหายาให้เพียงพอต่อความจำเป็นอย่างทันท่วงที จึงได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคประชาสังคมตั้งแต่ปลายปี 2563 โดยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ได้ประชุมร่วมกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมให้ยามีจำนวนที่เพียงพอหากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดขึ้นอีกครั้ง จึงได้เสนอแนวทางให้เจรจาเพื่อจัดซื้อยาเพิ่ม การขอร่วมลงทุนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค พร้อมทั้งเสนอตัวที่จะเข้าร่วมเป็นทีมเจรจาในครั้งนี้ อีกทั้งยังมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาตำรับยาขึ้นใหม่จากสารออกฤทธิ์หลักของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรในยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด
นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมฯ ตระหนักและคำนึงถึงสุขภาพและชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ ตามนโยบายรัฐบาล โดยการดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
อย. พร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ผลิตในประเทศ
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้มีการนำยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนายานี้เพื่อการผลิตภายในประเทศโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนทำการทดสอบการศึกษาชีวสมมูลในอาสาสมัครนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ยายืนยันพร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนยา ให้สามารถขึ้นทะเบียนด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล และขอให้ประชาชนมั่นใจว่ายาที่นำมาใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. จะมีความปลอดภัย มีคุณภาพและมาตรฐาน