“นักเรียนยากจน” หวังได้รับ “ค่าครองชีพ – อาหารกลางวัน” หลังโควิด-19 ยังวิกฤต

กสศ. เปิดผลสำรวจนักเรียน ผู้ปกครอง ครู 4 พันกว่าคน พบภาพซ้ำปัญหาปากท้องและภาวะโภชนาการเด็กช่วงปิดเทอม เร่งออกมาตรการพิเศษช่วยนักเรียนทุน ป้องกันหลุดออกนอกระบบ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาล่าสุด ชี้ สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2564 พบนักเรียนยากจนพิเศษทุกระดับชั้นและทุกสังกัดกว่า 1.17 ล้านคน ระบุ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ติดตามผลกระทบนักเรียนยากจนพิเศษ ด้วยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 4,394 คน  ผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พบว่า นักเรียนกลุ่มที่จะต้องเปลี่ยนช่วงชั้นหรือเปลี่ยนสถานศึกษาใหม่ ร้อยละ 97.82 ต้องการเรียนต่อ และขอให้มีการสนับสนุนช่วยเหลือ 3 อันดับแรก ดังนี้

1) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษา ร้อยละ 87.95

2) อุปกรณ์การเรียน ร้อยละ 54.91

3) ค่าสมัครเรียน ร้อยละ 51.34

นอกจากนี้ ในสถานการณ์โรคระบาดที่เลื่อนเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 มิถุนายน นักเรียนยากจนพิเศษต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน 3 อันดับแรกเพื่อลดผลกระทบ คือ ค่าครองชีพและของใช้ที่จำเป็น, อาหารกลางวัน อาหารเช้า และค่าเดินทางสมัครเรียน

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้ประชุมพิจารณามาตรการพิเศษเพื่อช่วยลดผลกระทบให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ได้แก่ อนุบาล 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องเปลี่ยนสถานศึกษา และมีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่าช่วงชั้นอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญทุกปี

คณะกรรมการบริหาร กสศ. มีมติเห็นชอบมาตรการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาค 3 สังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกองบังคับการตำรวจตระเวนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ระดับชั้นอนุบาล 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 294,928 คน ในอัตราคนละ 800 บาท รวมงบประมาณราว 235,942,400 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา เช่น ค่าธรรมเนียมการสมัครเรียน ค่าเดินทางไปสมัครเรียน หรือการเตรียมความพร้อมในการเรียนต่อ โดยมีเงื่อนไขให้นักเรียนและผู้ปกครองแสดงหลักฐานการสมัครเรียนต่อในปีการศึกษา 2564

“กสศ. สพฐ. อปท. และ บก.ตชด. จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลตรวจสอบการมาเรียนของนักเรียนทุกคนหลังเปิดภาคเรียนวันที่  1  มิ.ย. นี้ เงินอุดหนุนเพิ่มเติมนี้ไม่ได้เป็นเพียงมาตรการเดียวที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19 กสศ. ยังมีแผนจะจัดเงินอุดหนุนสำหรับนักเรียนทุนเสมอภาค 1.17 ล้านคน เพื่อป้องกันไม่ให้ครอบครัวของนักเรียนกลุ่มที่ยากจนที่สุดต้องเผชิญกับสภาวะฟางเส้นสุดท้ายทางเศรษฐกิจ จนต้องนำบุตรหลานออกจากการศึกษากลางคัน”

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.

นพ.สุภกร กล่าวต่อไปว่า กสศ. ประมาณการว่าภาวะวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลให้ครอบครัวยากจนและทำให้จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2563 โดย กสศ. ได้วางแผนลดผลกระทบให้แก่กลุ่มเป้าหมายไว้แล้ว แต่ยอมรับว่าจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อน

“ด้วยปัจจุบัน กสศ. ได้รับการจัดสรรงบฯ คิดเป็นร้อยละ 1 ของงบฯ ด้านการศึกษาของประเทศ ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประกอบกับความไม่แน่นอนของงบฯ ที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปี เช่น ล่าสุดในปีงบประมาณ 2565 คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้เสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรีไปที่ 7,635.67 ล้านบาท แต่ ครม. มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงบฯ ที่ 5,652.29 โดยปรับลดลง 2 ครั้ง ราว 2,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ ในชั้นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ของสภาผู้แทนราษฎร กสศ. เตรียมจัดทำคำขอแปรญัตติงบประมาณในส่วนที่สามารถขอแปรคืนกลับมาได้ไม่เกิน 900 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอนในระหว่างปีการศึกษา 2564-2565 ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม