“ติดเชื้อยกครัว” แค่ชุมชนเดียวในคลองเตย ติดแล้ว 83 คน กลุ่มเสี่ยงสูงรอตรวจเชิงรุกเพิ่ม

ผู้ติดเชื้อใหม่ถูกส่งเข้าพัก “ศูนย์กักกันฯ วัดสะพาน” รอส่งตัวไปรักษา ผอ.เขตคลองเตย ระบุ เพื่อลดปัญหาต้องแยกกัก พ่อ แม่ ลูก

วันนี้ (1 พ.ค. 2564) ปิยธิดา นิยม ผู้อำนวยการเขตคลองเตย เปิดเผยผลตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ณ ชุมชนพัฒนาใหม่ (คั่วพริก) เขตคลองเตย เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 ทั้ง 411 คน พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 49 คน เฉพาะจากชุมชนพัฒนาใหม่ พื้นที่เสี่ยงสูงติดเชื้อ 29 คน รวมเป็น 83 คน และยังพบว่ามีไม่ต่ำกว่า 5 ครอบครัว ที่ติดเชื้อทั้งบ้าน สำหรับผู้ติดเชื้อวันนี้ถูกส่งตัวไป ณ ศูนย์กักกันผู้ป่วยชั่วคราวรอส่งตัว วัดสะพาน เขตคลองเตย ก่อนที่วันพรุ่งนี้ (2 พ.ค.) จะประสานส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลสนาม

ผอ.เขตคลองเตย ระบุเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ไม่สามารถส่งตัวผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้ภายใน 24 ชั่วโมง ตามความตั้งใจก่อนหน้านี้ ที่จะไม่ให้ศูนย์ฯ วัดสะพานต้องมีผู้ติดเชื้อพักค้างคืน เพราะผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดส่วนใหญ่ติดเชื้อกันเองภายในบ้าน เช่น พ่อ แม่ ลูก หรือไม่ก็เครือญาติ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พยายามส่งตัวผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการระบาด แต่กลับพบปัญหาผู้ติดเชื้อที่เป็นครอบครัวเดียวกันต้องแยกกันกักตัว บางคนเป็นเด็กเล็ก หรือไม่ก็ผู้สูงอายุ ไม่สะดวกในการดูแลเมื่อถูกแยก จึงทบทวนมาตรการใหม่ และประสานปลายทางเพื่อลดปัญหาดังกล่าว

“มันเป็นเรื่องของมนุษยธรรมด้วย คนติดเชื้อบางคนเป็นเด็ก ติดก่อน ถูกส่งไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พ่อไปอีกโรงพยาบาล แม่ไปอีกโรงพยาบาล ทำให้ครอบครัวต้องแยกจากกันและมีปัญหาตามมา รอบนี้เราขอทำข้อมูลก่อนจะประสานยังไงให้คนในครอบครัวเดียวกันสามารถไปที่เดียวกันได้เพื่อไปดูแลกันเองด้วย อีกทั้งผู้ป่วยที่เพิ่งรู้ผลวันนี้ก็ยังไม่แสดงอาการ เป็นกลุ่มสีเขียว ถ้าเป็นสีแดงเราก็ให้ศูนย์เอราวัณเป็นคนจัดการ” 

ผู้อำนวยการเขตคลองเตย ยังระบุถึงสถานการณ์การระบาดในชุมชนพัฒนาใหม่ว่า เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ ลักษณะทางกายภาพของที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่น ในบ้านอยู่กันจำนวนมาก, ลักษณะการประกอบอาชีพ ที่หลายคนทำงานในพื้นที่ที่พบการระบาดก่อนหน้านี้ ประกอบกับมาตรการควบคุมโรคระบาด ส่งผลให้คนตกงาน ถูกเลิกจ้าง ทุกคนต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลาภายในบ้าน 

สำหรับพื้นที่คลองเตย ทั้ง 43 ชุมชน ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 109 คน อายุที่น้อยที่สุด 6 เดือน มากที่สุด 87 ปี แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตคลองเตยก็ยังไม่ใช่พื้นที่ที่พบการติดเชื้อสูงที่สุด ​13  อันดับแรก​ของกรุงเทพมหานคร แต่เป็นชุมชนที่มีความเปราะบางในทุกมิติในฐานะชุมชนแออัดขนาดใหญ่ในเขตเมือง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส