“ก้าวไกล” เสนอรัฐบาลตั้งหน่วยงานกลางบริหารเตียงใน กทม.

พบ ยังมีปัญหาการบริหารจัดการข้ามหน่วย แม้แบ่งระบบจัดสรรเตียงเป็น 7 โซน อัพเกรด รพ.สนาม เน้น รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง – แดง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ระบบการจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงมีปัญหาอยู่ แม้ว่าจะมีการแบ่งระบบในการจัดสรรเตียงออกเป็น 7 โซน แต่การบริหารจัดการเตียงและการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีสมรรถนะที่สูงกว่า ก็ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากโรงพยาบาลแม่ข่ายของโซนต่างๆ ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารจัดการเตียงของโรงพยาบาลในโซน

โดยแม้พื้นที่ กทม. จะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชากรที่สูง มี โรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถสูง แต่ กทม. กลับขาดประสิทธิภาพในการบูรณาการ เพราะทั้ง 50 เขต ใน กทม. ไม่ได้มีโรงพยาบาลประจำทุกเขต และยังมีสังกัดที่แตกต่างหลากหลายและการบังคับบัญชาที่อิสระต่อกัน การจัดสรรเตียงและการส่งต่อผู้ป่วยข้ามสังกัดจึงเป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติอย่างมาก

ส.ส.วิโรจน์ เสนอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารจัดการเตียง และการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลทุกสังกัดในพื้นที่ กทม. มีหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน โดยให้ศูนย์แรกรับที่อาคารนิมิบุตร ทำหน้าที่เสริมในการกระจายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลให้ตรงกับสมรรถนะในการดูแลรักษา

ส่วนโรงพยาบาลสนามในปัจจุบันให้ทำหน้าที่ในการกักกันโรคและสังเกตอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มากนัก โดยโรงพยาบาลสนามบางจุดอาจถูกยกระดับให้มีศักยภาพที่สูงขึ้นเพื่อช่วยลดความตึงของจำนวนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลัก เช่น สามารถจ่ายยา Favipiravir ให้กับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการได้ รวมทั้งติดตั้งระบบท่อออกซิเจนเพื่อช่วยผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการหายใจเหนื่อยหอบได้

ยกระดับศักยภาพหอผู้ป่วยทั่วไปให้สามารถดูแลผู้ป่วยสีเหลืองที่มีอาการมากขึ้น ด้วยการเร่งจัดซื้อเครื่อง High Flow Nasal Cannula หรือเครื่อง Oxygen High Flow ที่สามารถช่วยผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยหอบได้ โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเข้าไปรักษาตัวในห้อง ICU แรงดันลบ ซึ่งจะช่วยลดภาระของห้อง ICU และเป็นการสำรองห้อง ICU และเครื่องช่วยหายใจ ไว้ให้กับผู้ป่วยสีแดงที่มีความจำเป็นจริงๆ ได้

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขควรเร่งจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์บางรายการที่ขาดแคลนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะชุด PAPR ที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก กระทรวงสาธารณสุขควรเร่งจัดหา และเร่งรัดกระบวนการทางศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ให้เร็วขึ้น

ควรอนุญาตให้ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่คนเดียวหรือที่บ้านมีพื้นที่แยกเป็นอิสระ สามารถกักตัวรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) โดยมีระบบ Telemedicine ในการรายงานอาการให้หมอทราบทุกวัน มีระบบ Call Center และระบบรับตัวผู้ป่วยที่มีอาการหนักเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และอนุญาตให้ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสครบแล้ว ไม่มีไข้ ไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่พักรักษาตัวยังไม่ครบ 14 วัน อาจส่งตัวไปพักรักษาตัวต่อที่ รพ.สนาม หรือ Hospitel แทนได้

“ตอนนี้ เตียงใน รพ.สนาม สำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ ไม่น่าจะตึงมือมาก แต่คอขวดที่สำคัญที่สุด คือ เตียงที่ รพ. สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และห้อง ICU สำหรับผู้ป่วยสีแดง ซึ่งต้องเร่งบริหารจัดการ ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว