ปูพรมตรวจเชิงรุกคลองเตย​ 50,000 คน​ ทุกหน่วยระดมแผนรับมือผู้ติดเชื้อ​ อาการหนัก​

เตรียมจัดหาวัคซีน​ 3,000 โดส ฉีดกลุ่มเสี่ยง​ ​ผู้สูงอายุ​ ผู้มีโรคประจำตัว​ พร้อมหาพื้นที่สร้างโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยในชุมชนเพิ่ม

(3​ พ.ค.2564)​ ชาวบ้านชุมชนสวนอ้อยและริมคลองวัดสะพาน​ ไม่ต่ำกว่า 700 คน​ กลุ่มเสี่ยงจากเขตคลองเตย​ เข้ารับการตรวจเชิงรุก​ที่วัดสะพานเขตพระโขนง​หลังการตรวจเชิงรุก 2 ​ครั้งที่ผ่านมา ​1,336 คน​ พบผู้ติดเชื้อ​ 99​ คน​ จากข้อมูลของคณะทำงานต่อต้านโควิด-19​ชุมชนคลองเตย​พบยอดผู้ติดเชื้อในชุมชนแล้วไม่ต่ำกว่า​ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อกันเองภายในบ้าน​เนื่องจากอยู่อาศัยใกล้ชิดกันในพื้นที่จำกัด

ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร​ระบุว่าชุมชนแออัดในเขตคลองเตยมีบ้าน​ 75,000 หลัง​  เป็นพื้นที่ที่ต้องเร่งค้นหาเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดให้ได้มากที่สุด​ เพื่อยุติการระบาด​  จากนี้มีเป้าหมายตรวจวันละ 1​,000 คน​และขยายให้ครอบคลุมทุกชุมชนจนถึง ​19 ​พ.ค.นี้ คาดการณ์จะตรวจเชิงรุกได้ประมาณ​ 50,000 คน

ผนึกกำลังรัฐ​ ภาคประชาชน​ ระดมแผนเชิงรุกควบคุมการระบาดชุมชนคลองเตย

วันนี้ตัวแทนทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรุงเทพมหานคร และเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานในพื้นที่​ในนามคณะทำงานศูนย์กักกันผู้ป่วยชั่วคราวรอส่งตัว​ ได้ร่วมหารือถึงแนวทางระบบการทำงานเพื่อควบคุมการระบาดในชุมชนแออัด​ที่วัดสะพาน

นพ.ปรีชา​ เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค​ กล่าวภายหลังการหารือ​ว่า​ มาตรการเชิงรุกในการควบคุมสถานการณ์การระบาดในชุมชนคลองเตยต้องค้นหาผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุดเพื่อระบุตำแหน่งพื้นที่เสี่ยงของการระบาด​ให้ได้​ ดังนั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป​วัดสะพานจะเป็นพื้นที่ตั้งรถตรวจพระราชทานต่อเนื่องประมาณ 2 สัปดาห์​ คาดมีผู้ได้รับการตรวจ 50, 000​ คนครอบคลุม​ 41 ชุมชนในเขตคลองเตย

“นอกจากนี้จะมีการจัดหาวัคซีน​ 3,000 โดส ฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง​ ได้แก่​ผู้สูงอายุ​ ผู้มีโรคประจำตัว​ ให้ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรก​ รวมถึงการหาพื้นที่สร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยในชุมชนเพิ่มเติม​ ส่วนศูนย์ฯที่วัดสะพาน​จะเป็นสถานที่แยกตัวแต่ไม่ให้เกิน 24​ ชั่วโมง​ แม้ปัจจุบันจะรองรับผู้ติดเชื้อได้มากกว่า 50 ​เตียง”

ด้าน ร​ศ.นพ.ฉันชาย​ สิทธิพันธ์​ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา​ คณะแพทยศาสตร์ ​จุฬาฯ​ที่ร่วมหารือครั้งนี้​ระบุว่า​  ในเขตกรุงเทพมหานครมีการแบ่งโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19​ ที่อาการโคม่า​ทั้งหมด​ 6​ โซน​ ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นโรงพยาบาลที่ดูแลพื้นที่กรุงเทพฯใต้​ซึ่งครอบคลุมชุมชนคลองเตยด้วย  และที่ผ่านมาก็มีการรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากชุมชนจำนวนหนึ่งแล้ว​ และหากผลการตรวจเชื้อในอนาคตยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องการสร้างโรงพยาบาลสนามเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องเตรียมโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยหนักด้วย​เพราะตามสถิติผู้ป่วยที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีอาการรุนแรงต้องครองเตียง​ในห้องไอซียู

ขณะที่สิ่งของบริจาคก็ทยอยหลั่งไหลเข้ามายังชุมชนต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน​นอกจากอาหารปรุงสุกใหม่สำหรับครอบครัวที่ต้องกักตัวแล้ว​ ยังมีของใช้ที่จำเป็นโดยเฉพาะชุดกันฝนที่อาสาสมัครจำเป็นต้องใช้ขณะทำงาน โดยวันนี้มูลนิธิไทยพีบีเอสได้นำสิ่งของจำเป็น เช่นหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ชุดกันฝน น้ำดื่ม ไปมอบให้กับชุมชนพัฒนาใหม่ (คั่วพริก) ที่มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 86 คน ซึ่งมากที่สุดในเขตคลองเตย และยังมีกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัวอีก 146 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส