2 นายแพทย์ใหญ่ ค้าน ผู้ว่าฯ กทม. ให้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ในผู้ป่วยกลุ่มอาการเขียวรายใหม่

ชี้ ผิดหลักการรักษา ยิ่งทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา ด้าน  ผู้ว่าฯ กทม. เตรียมหารือแพทย์-ผู้เชี่ยวชาญถึงแนวทางที่เหมาะสม หลังถูกวิจารณ์หนัก

นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก กรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในระหว่างการตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนามศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) เขตทุ่งครุ เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.2564) ว่า จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเขียวรายใหม่ ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทันทีตั้งแต่วันแรก เพื่อป้องกันการลุกลามของโรคจากผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการเขียวติดเชื้อลุกลาม หรือมีอาการรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นกลุ่มอาการเหลือง หรือแดง

นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการจดทะเบียนยาและอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกรณีพิเศษ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในการระบาดระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 และเนื่องจากยามีจำนวนจำกัดจึงให้ใช้เฉพาะในรายปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลย้อนหลังโดยคณะทำงานพบว่า ยานี้น่าจะช่วยลดความรุนแรงและการสูญเสียจากโรคและใช้ได้ปลอดภัย

ต่อมาคณะกรรมการจัดเตรียมยาของประเทศก็ได้จัดเตรียมไว้ให้เพียงพอในการระบาดระลอกสอง ซึ่งไม่เกิดปัญหาเพราะมีอัตราการใช้ราว 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยที่คณะกรรมการวิชาการได้ขยายข้อบ่งใช้ให้ครอบคลุมตั้งแต่ปอดอักเสบขั้นต้นและผู้ป่วยที่อาจเกิดปอดอักเสบรุนแรง โดยขณะนั้นสมาคมอุรเวชช์ฯ ได้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อบรรจุยานี้ไว้สำหรับให้ทุกโรงพยาบาลจัดซื้อได้เองเพื่อให้มีใช้งานเพียงพอ

แต่ในระหว่างดำเนินการ ก็เกิดการระบาดระลอกสามย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยเพิ่มแบบทวีคูณควบคู่ไปกับยอดการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยมีอัตราการใช้ระหว่าง 20-70% แล้วแต่ความสะดวกการเข้าถึงยาในพื้นที่ เป็นที่มาของความฉิวเฉียดของการมียาสำรองใช้เกือบไม่เพียงพอ ซึ่งต้องขอบคุณยาต้นแบบจากญี่ปุ่นที่เข้ามาช่วยไว้ทันจำนวน 2.2 ล้านเม็ด (สามารถรักษาผู้ป่วยได้ราวสามถึงสี่หมื่นคน)

“ขณะนี้มีแนวคิดขยายการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เข้าใกล้ 100% โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยโดยมีเหตุผลว่า การให้ยาแบบไม่แยกแยะ มีข้อเสีย”

นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า ข้อเสียแรกคือ ยาอาจขาดมือจากที่สำรองไว้ ทำให้ผู้ป่วยรายที่จำเป็นอาจไม่ได้ยาชั่วคราวหรือได้ไม่เต็มจำนวน นอกจากนี้ การใช้ยาตั้งแต่แรกอาจทำให้แพทย์นิ่งนอนใจในประสิทธิภาพของยา จนอาจทำให้ละเลยการเฝ้าระวังการเกิดปอดอักเสบ ซึ่งยานี้ยังไม่มีหลักฐานว่าป้องกันการเกิดปอดอักเสบหรือทำให้ปอดอักเสบเล็กน้อยไม่ลุกลาม และข้อสุดท้าย การใช้ยาฆ่าเชื้อที่ไม่สมเหตุสมผล (non-rational drug use) จะนำมาซึ่งการเกิดเชื้อดื้อยาภายหลัง

ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ก็โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเช่นเดียวกันว่า การแจกยาฟาวิพิราเวียร์ให้คนป่วยทุกคน​ จะสร้างความปั่นป่วนไม่น้อยแก่คนไทยทั้งประเทศเพราะเป็นความเข้าใจผิดที่สำคัญที่สุด

“ยาฟาวิพิราเวียร์ มีไว้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรืออาการหนักเท่านั้นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้แต่อย่างใด​ ซึ่งถูกต้องตามหลักการใช้ที่สมเหตุสมผล”

ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันยามีอยู่เพียง 2 ล้านเม็ด​ สามรถใช้ได้ไม่เกิน 4 หมื่นคน และรัฐบาลก็ไม่ส่งสัญญาณใดๆ ให้องค์การเภสัชกรรมที่สามารถผลิตยานี้​ได้ให้เดินหน้าผลิตยาได้​ ซึ่งการแจกยาเช่นนี้จะยิ่งทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา​  อาจเกิดภาวะการดื้อยา​ หรือเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

อัศวิน” ไม่หวั่นยาโควิดแพง จัดหาเพื่อคนกรุงได้

ด้าน พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวย้ำระหว่างลงพื้นที่ติดตามการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ในชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุมวัน วันนี้ (4 พ.ค.) ว่า แม้ว่ายาฟาวิพิราเวียร์ จะแพงขนาดไหน คนอื่นอาจจะจัดหาซื้อไม่ได้ แต่กรุงเทพมหานคร สามารถจัดหาซื้อได้เพื่อมาดูแลคนกรุงเทพมหานคร

“ใครหาซื้อไม่ได้ แต่ผมหาให้ได้ ไม่ว่ายาจะแพงขนาดไหนเพื่อคน กทม.”

โดยขณะนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มาแล้ว 50,000 เม็ด และได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี อีก 50,000 เม็ด รวมมีทั้งหมด 100,000 เม็ด

โดย กทม. จะเริ่มแจกผู้ป่วยที่เข้ามายัง รพ.สนาม คนละ 50 เม็ด ใช้เวลารับประทานประมาณ 5 วัน และเชื่อว่าจะหายจากโรคไม่ลุกลาม และระยะต่อไป กทม.จะซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านทางมูลนิธิจุฬาภรณ์ อีก 500,000 เม็ด ซึ่งโดยปกติยาฟาวิพิราเวียร์ทางการแพทย์จะเริ่มให้ผู้ป่วยเริ่มกินเมื่อการติดเชื้อแสดงอาการ (โควิดเหลือง) แต่ กทม.เห็นว่าควรให้กินตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเพื่อรักษาและป้องกันการลุกลามของโรค

แนวคิดดังกล่าวของกรุงเทพมหานคร ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเป็นห่วงเรื่องผลข้างเคียงจะทำให้เชื้อดื้อยา

ล่าสุดวันนี้ (4 พ.ค.2564) พล.ต.อ.อัศวิน ระบุว่า ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ เวลา 10.30 น. กรุงเทพมหานครมีกำหนดประชุมแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบัน เช่น แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว