โควิด- 19 รักษาฟรีไม่มีจ่าย “ส่วนต่าง”

หากพบปฏิเสธการรักษา หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่าย​ มีความผิด​ ม. 36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อวันที่​ 4​ พ.ค.​2564​ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด- 19 ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวันนั้น สร้างความตึงเครียดและวิตกกังวลให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และยิ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อว่าการเข้ารับการรักษาพยาบาลโรคโควิด- 19 ในสถานพยาบาลเอกชนนั้น ผู้ป่วยจะต้องจ่ายส่วนต่างของค่าห้องพัก ค่าห้องความดันลบ หรือค่ายาเพิ่มหากเกินวงเงินที่รัฐบาลกำหนด ยิ่งเป็นการซ้ำเติมต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชน

กรม สบส.ขอชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด- 19 ซึ่งกำหนดให้ ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด- 19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาล โดยผู้ป่วยโควิด -19 สามารถเข้ารับสิทธิการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาของตนเอง หรือสถานพยาบาลใดก็ได้ทั้งรัฐและเอกชน หรือแม้มิได้เป็นผู้ป่วยแต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการเข้าข่ายที่จะติดเชื้อโรคโควิด- 19 ก็สามารถเดินทางไปตรวจที่สถานพยาบาลใดก็ได้ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด- 19 จะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ยกเว้น การขอใช้สิทธิเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้เป็นสิทธิของผู้ป่วยหรือญาติที่จะทำความยินยอมตกลงกับสถานพยาบาล

“หากสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษา หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้พี่น้องประชาชนไว้วางใจได้ว่าในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด- 19 จะสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลเอกชนได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มเติม”

ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด- 19 ของสถานพยาบาลเอกชนนั้น ขอให้สถานพยาบาลเอกชนรวบรวมเอกสารหลักฐาน สรุปค่าใช้จ่ายส่งให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เพื่อแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายซึ่งประกอบด้วย 3 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2.กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม และ 3.กองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการทราบ หลังจากนั้นกองทุนจะดำเนินการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขฯ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 45 วัน ในการเบิกจ่าย


ทั้งนี้ หากผู้ป่วยหรือญาติฯ พบสถานพยาบาลเอกชน ในเขตกรุงเทพฯ มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด- 19 สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426 แต่หากอยู่ในต่างจังหวัดให้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ หรือที่กรม สบส.

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS