เผย 8 แนวทางการควบคุมและป้องกันโรค เร่งจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แบ่งการดำเนินการเป็น 5 ฝ่าย
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2564 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Teleconference)
สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง กรุงเทพมหานครมีแนวทางการควบคุมและป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ในชุมชนพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติ 8 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ชี้เป้า พื้นที่ที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาด 2. ตรวจเชิงรุก (Active Case finding) เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ 3. ล็อกจุด หยุดการระบาด โดยลดการเคลื่อนย้ายประชาชนในพื้นที่แพร่ระบาด 4. แยกผู้ติดเชื้อ นำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล 5. กักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะให้กักกันตัวเองที่บ้านเพื่อสังเกตอาการ หรือหากไม่สามารถกักตัวเองที่บ้านได้ เจ้าหน้าที่จะรับไปกักตัวที่ในโรงแรมหรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ 6. ดูแลกลุ่มเปราะบาง ด้วยการให้การดูแลสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส 7. ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง เร่งให้วัคซีนในพื้นที่เพื่อควบคุมแพร่ระบาด ซึ่งได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขตามที่ร้องขอครบถ้วน และ 8. จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขอนามัย เช่น การระบายอากาศ การลดความแออัดตามความเหมาะสมของพื้นที่ เป็นต้น
สำหรับการจัดเตรียมเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน (6 พ.ค. 2564) มี เตียงในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสนามของกรุงเทพมหานคร Hospitel รวม 2,570 เตียง มีการครองเตียง 1,472 เตียง มีเตียงว่าง 1,098 เตียง โดยทุกเขตจะประสานศูนย์เอราวัณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งจัดหาเตียงพยาบาลให้ผู้ติดเชื้อทุกรายในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้ารับการรักษาโดยเร็วเพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้าง รวมทั้งให้สำนักงานเขตสำรวจครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะครอบครัวที่ผู้นำครอบครัวต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือครอบครัวที่ต้องกักตัวทั้งครอบครัว เพื่อเร่งประสานนำอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค ไปมอบบรรเทาความเดือดร้อน หากครอบครัวใดมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถกักตัวเองที่บ้านได้ ให้ประสานบุคคลดังกล่าวเพื่อเข้ากักตัวในโรงแรมที่สำนักอนามัยประสานไว้ เพื่อประโยชน์ต่อการควบคุมการแพร่ระบาดต่อไป
โอกาสนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุข ผู้อำนวยการเขต รวมถึงข้าราชการและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร และผู้ร่วมปฏิบัติภารกิจทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เนื่องจากทุกคนได้ทุ่มเทปฏิบัติงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมีเป้าหมายร่วมกันควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้อยู่ภายในวงจำกัดภายใน 2 สัปดาห์นี้
ตั้ง ‘ศูนย์โควิดระดับเขต’ เพิ่มประสิทธิภาพคุมระบาดในชุมชน
ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งที่ 1/2564 เช้าวันที่ 6 พ.ค. 2564 ซึ่งมีมติให้กรุงเทพมหานครตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ระดับเขต เพื่อแก้ไขสถานการณ์อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพการที่เปลี่ยนแปลง และคลี่คลายโดยเร็ว จึงมอบหมายสำนักงานเขต 50 เขต เร่งจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 5 ฝ่าย ประกอบด้วย 1. ฝ่ายอำนวยการ มอบหมายผู้อำนวยการเขตเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการติดตามสถานการณ์ กำหนดแนวทางการดำเนินงาน จัดทำมาตรการป้องกันและควบคุมโรค สื่อสารประชาสัมพันธ์ กำกับติดตามการดำเนินงาน และมาตรการฯ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. ฝ่ายปฏิบัติการตรวจเชิงรุก มอบหมายผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ จัดทำมาตรการการเฝ้าระวัง ค้นหาเชิงรุกสอบสวนโรค และจัดทำมาตรการควบคุมโรคทั้งในกลุ่มเสี่ยง และผู้สัมผัส
3. ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง มอบหมายผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการจัดทำแผนการรักษาพยาบาลรองรับผู้ป่วยทุกระดับ ทั้งเตียง บุคลากร ทรัพยากรในการรักษา จัดระบบการส่งต่อจากหน่วยบริการทุกระดับไปยังสถานพยาบาล และรพ.สนามให้มีเอกภาพ 4. ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ มอบหมายผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการจัดทำแนวทางการจัดการในชุมชนให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค ควบคุมกำกับการเคลื่อนย้าย และการกักกันที่บ้าน (Home Quarantine) จัดสิ่งสนับสนุน เช่น อาหาร ของใช้จำเป็น เฝ้าระวังการเจ็บป่วยในชุมชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจในมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ โดยทำงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5. ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน มอบหมายผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการจัดทำแผน และจัดหาวัสดุทางการแพทย์ และวัคซีนให้เพียงพอ จัดระบบการสนับสนุนวัสดุทางการแพทย์ บริหารจัดการ เตรียมการฉีดวัคซีน ให้ทันเวลา
นอกจากนี้ มอบหมายทุกสำนักงานเขตเร่งสำรวจผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่ ทั้งในส่วนที่ทำการตรวจคัดกรองหาเชื้อ (SWAB) จากที่อื่น หรือไม่อยู่ในรายชื่อผู้ป่วยของทีมแพทย์ กทม. เพื่อให้การช่วยเหลือเข้าสู่ระบบการรักษาไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร