อนุสรณ์ ธรรมใจ เสนอรัฐฯ จ่ายชดเชยผู้เสียชีวิตจากวัคซีนโควิด-19 8-12 ล้านบาท

แนะ กทม. เป็นเจ้าภาพจ้างงานคนในชุมชนแออัดในภาวะวิกฤต และ สธ. ควรเพิ่มเงินพิเศษให้บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงเวลาที่ต้องทำงานอย่างหนัก

ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า เห็นด้วยในการสั่งวัคซีนเพิ่มเติม 150 ล้านโดส และเปิดเสรีให้ใช้วัคซีนได้หลากหลายยี่ห้อ และควรเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 70% ของประชากรไทยภายในเดือนกรกฎาคม หากยังคงฉีดวัคซีนในอัตราปัจจุบันไม่ถึง 50,000 โดสต่อวัน คาดว่าอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี จึงสามารถใช้ชีวิตปรกติได้  

นอกจากนี้รัฐบาลควรให้แรงจูงใจทางด้านภาษีและการหักลดหย่อนภาษีให้กับบุคคลหรือเอกชนที่ได้ช่วยเหลือกิจการสาธารณสุขของประเทศ เพื่อรับมือระบาดระลอกสามและระลอกสี่ และให้ Tax Credit กับเอกชนที่ช่วยจัดหาวัคซีนและฉีดวัคซีนแล้ว รัฐบาลควรประกาศจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิต 8-12 ล้านบาท หากพิสูจน์ว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจในการฉีดวัคซีน เนื่องจากความน่าจะเป็นของการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนนั้นต่ำมาก ๆ รัฐบาลอาจไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนนี้เลย แต่จะทำให้ประชาชนลดความวิตกกังวลหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนาขึ้น การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนจะทำให้การเดินหน้าฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงได้เร็วขึ้น และต้องเร็วพอที่จะไม่ทำให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ในประเทศไทยหรือมีการนำเชื้อกลายพันธุ์เข้ามาในประเทศเพิ่มเติม การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพและสาธารณสุขรายบุคคล รายชุมชน ระบบคัดกรองและหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาว่า ประชาชนแต่ละบุคคลควรฉีดวัคซีนชนิดใด ยี่ห้อใด แล้วมีความปลอดภัยสูงสุด และประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ

ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ เสนอว่า กระทรวงสาธารณสุขควรเพิ่มเงินพิเศษให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงเวลาที่ต้องทำงานอย่างหนัก ทำงานด้วยความยากลำบากและมีความเสี่ยง และ ควรจ่ายค่าชดเชยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในกรณีเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่และติดเชื้อ Covid-19 ครอบครัวละ 20 ล้านบาท  

ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวอีกว่า ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในภาคอุตสาหกรรมการผลิต หรือหยุดยั้งการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรปราการให้ได้ การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมจะกระทบต่อภาคส่งออกหากโรงงานต้องปิดเพราะการแพร่ระบาด การที่ไม่สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องย่อมทำให้ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าเปลี่ยนไปสั่งซื้อหรือนำเข้าจากประเทศอื่นได้

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในย่านชุมชนแออัด ส่งผลกระทบต่อการขาดแรงงานในหลายกิจการ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ขณะที่ความแร้นแค้นยากลำบากทางเศรษฐกิจในหมู่ผู้มีรายได้น้อยก็รุนแรงขึ้นเช่นกัน รัฐบาลต้องจัดงบช่วยเหลือเพื่อชดเชยรายได้ตามพื้นที่ ผ่านผู้นำชุมชน

ในกรณีนี้ “ชุมชนคลองเตย” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ผู้อยู่อาศัยในชุมชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทุกคนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อสูง ต้องกักตัวอยู่ในชุมชนที่แออัด นอกจากนี้ ชาวชุมชนที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงก็กลับกลายเป็นคนว่างงาน เนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกไปประกอบอาชีพได้ตามปกติหรือถูกเลิกจ้าง คนที่เคยมีงานต้องโดนพักงาน ไม่มีใครรับชาวคลองเตยเข้าทำงาน ทำให้ครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้วมีความลำบากมากขึ้นไปอีก

ด้วยเหตุนี้ ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ จึงมีข้อเสนอให้กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพในการจ้างงานคนในชุมชนคลองเตย หรือชุมชนแออัดอื่น ๆ เนื่องจากการเข้าไปช่วยเหลือคนในพื้นที่จากอาสาสมัครและบุคลากรทางการแพทย์ทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีความชำนาญในพื้นที่ การจ้างงานให้ช่วยจัดการความช่วยเหลือ ทั้งการเก็บข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบัน ความต้องการความช่วยเหลืออื่น ๆ การจัดการในการแจกจ่ายอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้แก่ผู้มีความเสี่ยงที่กักตัวอยู่ในบ้าน โดยให้จ่ายเงินค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวัน

วิธีที่ผมขอเสนอ คือ ให้กรุงเทพมหานครมอบงบประมาณให้ผู้นำชุมชน หรือ อย่างกรณีคลองเตยสามารถให้ “มูลนิธิดวงประทีป” ดำเนินการได้ นำงบประมาณนี้ไปจ้างงาน “คนที่ว่างงาน” ในชุมชนเพื่อแก้ปัญหาสภาวะคนในชุมชนแออัดโดนล็อกดาวน์ และความหวาดกลัวของสังคมทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานได้ ขณะที่คนนอกชุมชนก็ไม่กล้าเป็นอาสาสมัคร การจ้างคนในชุมชนและคัดแยก “คนติดเชื้อ” มาพักที่โรงพยาบาลสนามจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า ชีวิตคนไทยไม่ควรถูกทดสอบโดยวัคซีนที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานดีพอ หรือใช้ของถูกคุณภาพต่ำมาบริการประชาชน คนไทยไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ยากดีมีจนอย่างไร ต้องได้รับวัคซีนคุณภาพสูงและได้มาตรฐานเท่านั้น หากมีการดำเนินการสั่งซื้อไปแล้ว พบในภายหลังการผลิตไม่ได้มาตรฐานหรือมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน ให้เอาไปทำลายทิ้งเสีย ไม่ต้องเสียดาย ส่วนความเสียหายทางงบประมาณค่อยมาตั้งคณะกรรมการสอบในภายหลัง (หลังควบคุมการแพร่ระบาดและฝ่าวิกฤติโควิด-19 ให้ได้ก่อน) ว่ามีดำเนินการใด ๆ ด้วยความประมาทไม่ละเอียดรอบคอบหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ส่วน Immunization Related Focal Neurological Syndrome (IRFN) อาการไม่รุนแรง หายเองได้ ขอให้มั่นใจในการฉีดวัคซีนโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ตามที่มีการรายงานข้อมูลและการรวบรวมข้อมูลของระบบติดตามอาการหลังฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 14,954 ครั้ง พบว่ามี 49 รายที่รายงานอาการผิดปกติทางระบบประสาทคิดเป็น 0.33% ผู้ป่วย 90% เป็นเพศหญิง อาการที่พบบ่อยที่สุดคืออาการชาซีกใดซีกหนึ่ง รองลงมาคืออาการปวดศีรษะ ส่วนอาการอ่อนแรงพบ 5 รายคิดเป็น 0.03% ในผู้ที่มีอาการอ่อนแรง อาการไม่รุนแรงและดีขึ้นได้ภายใน 1 สัปดาห์ มีการตรวจ MRI และ CT scan ทั้งในช่วงที่มีอาการและหลังจากมีอาการ ทั้งหมดไม่พบความ ผิดปกติของสมอง แต่การตรวจ MRA เพื่อดูหลอดเลือดพบการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในบางราย มีผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจ SPECT (Single Photon Emission Computed Tomography) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงโดยละเอียดของสมอง ในผู้ป่วยจำนวน 8 ราย พบว่ามีความไม่สมมาตรกันของ Cerebral Blood Flow อยู่บ้าง กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้เป็นกลุ่มอาการใหม่ที่ผู้ป่วยมีอาการอยู่จริง หรืออาจเรียกว่า IRFN (Immunization Related Focal Neurological Syndrome) โดยมีลักษณะสำคัญคือ มีอาการทาง Sensory คือ อาการชาข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย และมีอาการชา มักพบที่บริเวณปลายมือ มุมปากและแก้ม บางรายอาจมีความรู้สึกยิบ ๆ นำมาก่อน อาการอื่นที่พบได้น้อยคืออาการมองเห็นผิดปกติครึ่งซีก และอาการอ่อนแรง อาการเหล่านี้เกิดขึ้นภายใน 6 ชั่วโมงแรก แล้วอาการจะดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง แต่มีบางรายที่อาจมีอาการต่อเนื่องที่ไม่รุนแรงได้นานเกิน 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ที่พบร่วมด้วย ได้แก่ อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ขณะนี้ ความรู้ทางการแพทย์ที่มีอยู่ยังไม่สามารถอธิบายกลไกได้ชัดว่าทำไมจึงเกิด IFRN แต่เราสามารถมั่นใจได้ว่าไม่ได้ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อาการปวดศีรษะอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่หลอดเลือดส่วนปลายขนาดเล็กของสมอง ทำให้สมองมีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่เกิดการขาดเลือดถาวร ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการมีภาวะหลอดเลือดหดเกร็ง (Vasospasm) ชั่วคราว เป็นลักษณะของ Immunological Reaction ที่มีความไวมากกว่าปกติของผู้ป่วยบางราย ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับการได้รับ Antigen มาก่อนหน้านี้ สรุปแล้วกลุ่มอาการผิดปกติทางระบบประสาทหรือ IRFN เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ภายหลังฉีดวัคซีน ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค โควิด-19 มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และแนะนำให้ทุกคนฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ โควิด-19 เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ โดยพบว่าผู้ที่เป็น COVID-19 มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 1.4% ส่วนใหญ่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ถึง 30% ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลต้องมีระบบการคัดกรองอย่างละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษต่อวัคซีน Lot ต่าง ๆ เพราะการผลิตวัคซีนแต่ละ Lot อาจมีความผิดผลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ระบบควบคุมคุณภาพ หรือ QA เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน