The Active ลุยสำรวจผลกระทบแผ่นดินไหวกลุ่มเปราะบางคลองเตย ชาวบ้านยังหวาดผวา บ้านเรือนเสียหาย ขณะสถาบันวิจัยสังคมและสุขภาพผนึกพลังภาคีเครือข่าย ร่วมกับชุมชนวางมาตรการ ‘จัดการรับมือ’ และฟื้นฟู 3 ด้าน ทั้งสำรวจจุดเสี่ยง ให้ความรู้ประชาชน และวางแผนซ่อมแซมระยะยาว พร้อมจัดทำแผนที่เดินดิน ‘พื้นที่เสี่ยง’ รับมือเหตุการณ์ในอนาคต
วันนี้ (29 มีนาคม 2568) The Active ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่ชุมชนกลุ่มเปราะบางย่านคลองเตย กรุงเทพมหานคร

ธิษาปราง เกตุนคร ชาวชุมชนริมคลองวัดสะพาน อาศัยอยู่ในบ้านสองชั้นที่ตั้งติดกับบ้านอื่นอย่างแออัด เธอเล่าว่าขณะเกิดแผ่นดินไหว ชาวบ้านต่างพากันวิ่งหนีออกมาด้านนอก เมื่อกลับเข้าไปตรวจสอบ พบว่าผนังบางจุดมีรอยร้าว แต่ไม่แน่ใจว่ากระทบถึงโครงสร้างหลักหรือไม่ ขณะที่พื้นกระเบื้องเปิดขึ้นจนมองเห็นโครงสร้างด้านล่าง สร้างความกังวลว่าอาจแตกร้าวเพิ่มขึ้น
เธอยอมรับว่ายังรู้สึกหวาดกลัวและนอนไม่หลับ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะวิศวกร เข้ามาตรวจสอบและวางแผนซ่อมแซมบ้านเรือน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านรายได้ เธอไม่แน่ใจว่าจะสามารถซ่อมแซมให้บ้านแข็งแรงขึ้นได้หรือไม่

กาญจนา ทิมอุบล ชาวชุมชนแฟลต 24 การท่าเรือ ซึ่งเป็นอาคาร 5 ชั้นที่ก่อสร้างมานานกว่า 38 ปี พาสำรวจภายในบ้าน ซึ่งพบรอยร้าวหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณหัวมุมตึกชั้นบน ขณะที่ในห้องพักของเธอเองมีรอยร้าวที่ผนังห้องน้ำ

เธอเล่าว่าในช่วงแผ่นดินไหว ไม่สามารถหนีออกมาเหมือนคนอื่นได้เพราะขยับตัวไม่ทัน จึงต้องอยู่ภายในห้องจนกระทั่งเหตุการณ์สงบ แม้แผ่นดินไหวจะผ่านไปแล้ว แต่ยังคงหวาดกลัวว่าจะเกิดซ้ำอีก ที่สำคัญ เธอไม่มีที่พักสำรอง หากอาคารแห่งนี้ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เธอได้สัมผัสกับเหตุการณ์เช่นนี้ และกังวลว่า หากตึกถล่มลงมา เธออาจไม่มีโอกาสรอดชีวิต

ขณะเดียวกัน วันนี้ได้มีการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางมาตรการรับมือแผ่นดินไหวและผลกระทบต่อชุมชนเมือง โดยมีตัวแทนจากสถาบันวิจัยสังคมและสุขภาพ (SHI) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายบ้านมั่นคง และหน่วยงานอื่น ๆ เข้าร่วม
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท แพทย์และนักมานุษยวิทยาการแพทย์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย 3 มาตรการหลักเพื่อวางระบบการจัดการดูแลความปลอดภัยชุมชน หลังจากนี้
1. สำรวจจุดเสี่ยงและความมั่นคงของอาคาร
- จัดทำแบบฟอร์มสำรวจอาคารตามแนวทางของกรมโยธาธิการและผังเมือง
- ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสำรวจและรายงานจุดเสี่ยงผ่านแพลตฟอร์ม Google Drive และ Google Slide เพื่อให้สามารถแชร์ข้อมูลได้อย่างทั่วถึง
- พัฒนา “แผนที่เดินดินป้องกันภัยพิบัติแผ่นดินไหว” สำหรับชุมชนเมือง โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนามร่วมกับชาวบ้าน
2. ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องการรับมือแผ่นดินไหว
- ถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ของประเทศที่เคยประสบภัย เช่น เนปาล
- ให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินความปลอดภัยของอาคารหลังเกิดเหตุ
- ผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีโทรทัศน์และภาคประชาสังคม ร่วมผลิตสื่อให้ความรู้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและทันสถานการณ์
3. วางแผนการซ่อมแซมและฟื้นฟูระยะยาว รองรับแผ่นดินไหวครั้งหน้า
- สำรวจความเสียหายของอาคารและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว
- สนับสนุนให้ชุมชนมีแผนรับมือระยะยาว ทั้งด้านโครงสร้างอาคารและการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
ที่ประชุมยังหารือถึงแนวทางการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมและอาคารสูง ซึ่งมักกังวลว่าโครงสร้างอาคารจะสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้มากน้อยเพียงใด โดยเน้นย้ำความจำเป็นในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารและแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยถึงผลกระทบทางจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งอาจเกิดความเครียดและความหวาดกลัวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทาง สสส. ได้เสนอให้มีการให้คำปรึกษาทางจิตเวชและพัฒนาเครือข่ายสนับสนุนด้านสุขภาวะทางจิตใจ
หลังการประชุมวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งพัฒนาสื่อสารประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการรับมือแผ่นดินไหว โดยทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) อาจเข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว เพื่อให้ประชาชนสามารถ เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต