กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เล็ง เพิ่ม รพ.สนามคนพิการ-ฉีดวัคซีน “รัฐ-เอกชน” ประสานความร่วมมือ สร้างกลไกรักษาโรค ปากท้อง สังคม
“ให้สวมหน้ากากอนามัยแบบเด็กคนอื่นก็ไม่ทำ ผมเลยต้องจับเขาขังไว้ก่อนออกไปรับจ้างข้างนอก”
หากมองจากมุมของคนภายนอก อนันต์ มณีรักษ์ อาจเป็นพ่อที่ใช้ความรุนแรงต่อลูกชาย แต่สำหรับชาวชุมชนแฟลต 5 การท่าเรือ ย่านคลองเตย กทม. ที่รู้จักครอบครัวนี้เป็นอย่างดี นี่เป็นเรื่องปกติที่น่าเศร้า เพราะอนันต์ต้องเลี้ยงดูลูกชายวัย 19 ปี ที่พิการทางสมองตั้งแต่เกิดเพียงลำพัง
แม้จะพอพูดคุยรู้เรื่องอยู่บ้าง แต่ก็ยังจำเป็นต้องดูแลลูกชายเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน
โดยเฉพาะในยามนี้ ที่ชุมชนคลองเตย คือหนึ่งในจุดเฝ้าระวังสูงสุดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพฯ การจะปล่อยลูกออกมาเล่นคลายเครียดนอกบ้าน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะแม้แต่งานรับจ้างซื้อ-ขาย ของเก่ารายวันที่เคยทำก็ยังไม่มีใครกล้าจ้าง
เวลาใครว่าจ้างมาที ผมก็บอกลูก “เดี๋ยวพ่อมานะ” ก็ขังเขาเอากุญแจล็อกบ้านไว้เสร็จงานแล้วผมก็มา ในบ้านก็จะมีนม ขนม ผมทำแบบนี้ไม่เคยขาด แต่ช่วงโควิดแบบนี้ใครก็ไม่กล้าจ้างแล้ว ก็อยู่กันพ่อลูกแค่นี้ อยากให้รัฐช่วยเรื่องบ้านที่อยู่อาศัยบ้าง ทุกวันนี้เขาจะมาไล่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะผมไม่มีเงินจ่าย
เฉพาะในพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษอย่างชุมชนคลองเตยเวลานี้ มีผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีปัญหาทางการเรียนรู้ พฤติกรรมและอารมณ์ ออทิสติก อยู่ราว 300 คน แม้จะยังไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อ แต่หลายคนยังมีความกังวลไม่น้อย หากต้องห่างจากลูก ๆ ในช่วงระยะเวลาของการรักษา หรือกักตัว
ข้อมูลจากมูลนิธิออทิสติกไทย มีรายงานตัวเลขเด็กพิเศษที่ติดเชื้อโควิด-19 อย่างน้อย 3 คน มีอุปสรรคทั้งในเด็กพิเศษที่ติดเชื้อไม่สามารถแยกกับผู้ปกครองได้ และกรณีที่ผู้ปกครองติดเชื้อ เด็กก็ไม่สามารถอยู่เพียงลำพังได้เช่นกัน ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมโรค สปสช. กทม. และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผ่านสายด่วน 1479 และ 1330 ส่งต่อข้อมูล ประสานเรื่องรถฉุกเฉิน ไปยังโรงพยาบาลหลักตามสิทธิของผู้ที่ติดเชื้อ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเฉพาะและต้องได้รับการดูแลพิเศษ และเป็นกลุ่มเปราะบางที่อาการของโรครุนแรงได้ง่าย
แต่กรณีผู้ปกครองติดเชื้อลูกจะได้รับการดูแลจาก กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ติดตามให้เด็กได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมถึงบ้าน จนกว่าผู้ปกครองจะหายและถูกปล่อยกลับบ้าน
ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ระบุว่า ปัจจุบัน ไทยมีตัวเลขกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ 335,305 คน แต่มูลนิธิออทิสติกไทย ระบุว่า ข้อมูลนี้ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง จำเป็นที่จะต้องหาผู้ที่ตกหล่นให้เจอเพื่อให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ ในการตรวจและฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านฐานข้อมูลชื่อว่า Screening Tools for Person with Special needs (STS)
ผู้ปกครอง หรือคนในชุมชนที่สงสัยว่าคนใกล้ตัวมีแนวโน้มเป็นบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ อยากให้เข้าไปลงทะเบียน และตอบคำถามลักษณะพฤติกรรมของเด็ก ๆ 40 ข้อ แบบสำรวจก็จะบอกได้ทันทีว่า เด็ก ๆ นั้นมีแนวโน้มเป็นภาวะพิเศษอะไรบ้าง เสร็จแล้วจะให้กรอกข้อมูลที่อยู่ให้ชัดเจนเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูล คาดว่า 2-3 เดือนนี้น่าจะมีข้อมูลมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้ทีมอาสาสมัครชุมชน ทีมแพทย์ทำงานง่ายขึ้น
ขณะที่แนวคิดเพิ่มโรงพยาบาลสนามคนพิการ เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองจำนวนมาก เวลานี้มี 1 แห่ง ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ จำนวน 30 เตียง แต่ยอมรับว่าด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร สามารถรองรับคนพิการที่สามารถสื่อสารได้เท่านั้น รวมถึงในกลุ่มนี้ ให้ประเมินว่าอยู่ในกลุ่มสีส้มหรือแดง เพราะถือเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่อาการกำเริบได้ง่าย จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
ล่าสุดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เตรียมหาพื้นที่เพื่อสร้างโรงพยาบาลสนามในกรุงเทพฯ เพิ่มเติม เพื่อรองรับการระบาดในเขตเมืองที่ตอนนี้มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ที่อาจจะมีผู้ปกครองดูแล รวมถึง 11-20 พ.ค. นี้ ที่จะเปิดให้คนพิการในกลุ่มนี้ ครอบครัว หรือผู้ดูแล ลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็มแรก นำร่องใน กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ในวันที่ 28 พ.ค. นี้ ซึ่งถือเป็นอีกความพยายามที่จะควบคุมโรค ที่มองเห็นถึงข้อจำกัดของกลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยไม่ละเลยมิติทางสังคมที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมาก
เพราะการจะปิดช่องโหว่การระบาดของชุมชนเมืองได้ ยังจำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหาครอบครัว เมื่อโจทย์ใหญ่คือกลุ่มเปราะบาง ของการระบาดในครั้งนี้