คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบ Walk In ให้แต่ละจังหวัดพิจารณาดำเนินการได้ทันที เพื่ออำนวยความสะดวก นอกเหนือจากการจองผ่านแอปฯหมอพร้อม พร้อมเดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มเป็น 150 ล้านโดสในปี 2565
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติว่า ที่ประชุมได้รับทราบนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับประชาชนทุกคน โดยให้มีการจัดหา 3 แนวทาง 1. ให้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจาก 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดสในปี 2565 2.การเร่งทำงานเชิงรุกในการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนให้เร็วและมากรายที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับวัคซีน และให้ครอบคลุมถึงสายพันธุ์อื่นๆ สายพันธุ์กลายพันธุ์หากมีการทดลองวิจัยแล้ว และ 3.ปรับแนวทางการฉีดวัคซีนให้มีการปูพรมเข็มแรกกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ลดโอกาสความรุนแรง และเสียชีวิต
โดยการฉีดวัคซีนจะเริ่มในต้นเดือน มิ.ย.นี้เป็นต้นไปและมี 3 รูปแบบ คือ 1การนัดผ่านไลน์ หรือแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” หรือแอปพลิเคชันอื่นๆที่รัฐบาลจะจัดให้ 2.นัดเป็นกลุ่มก้อน เช่น พี่น้อง อสม. หรือองค์กรภาครัฐและเอกชน และ 3.การปูพรมเรื่องของ Walk In ซึ่งรายละเอียดกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะให้ทางพื้นที่หรือแต่ละจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเงินและทรัพย์สินให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาการผลิต และการกระจายวัคซีนให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ
กรณี Walk In ต้องจัดวัคซีนให้เพียงพออำนวยความสะดวกให้มากที่สุด ซึ่งพื้นที่ไหนพร้อมก็เริ่มได้ อย่าง กทม. ได้ขอวัคซีนมา 1 ล้านโดส แต่ในเรื่องการบริหารจัดการอยู่ที่พื้นที่ ซึ่งก็จะมีการประกาศว่าจะให้บริการอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือ การ Walk In อาจไม่ได้ทุกคน หากบางศูนย์มีคนมารับบริการมาก แต่ก็พยายามทำให้เกิดความสะดวกสบายมากที่สุด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยอยากฉีดวัคซีน จึงอยากอำนวยความสะดวกให้ในรูปแบบ Walk In โดยกรมควบคุมโรคเป็นผู้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง คร.จะระบุยอดเป้าหมายการฉีดแต่ละจังหวัด โดยภาพรวมจะให้แต่ละจังหวัดอย่างน้อยครอบคลุมประชากร 70% ของประชากร แต่การกระจายจะไม่มากเท่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคำว่า ปูพรมคือ ฉีดทุกคนในพื้นที่ที่สมัครใจให้มากที่สุด ซึ่งการ Walk In นั้นจะสอดคล้องกับปูพรม คนที่โหลดจองผ่านแอปพลิเคชันได้ก็ดี จะได้ทราบวันเวลาชัดเจน แต่กรณีคนที่ทำไม่ได้ และคนที่มีความจำเป็น เช่น คนขับแท็กซี่ คนขับรถโดยสารสาธารณะ เขาอยากฉีด แต่ละจังหวัดก็จะกำหนดพื้นที และประกาศออกมา
สำหรับการแบ่งสัดส่วนการฉีด เบื้องต้นจะใช้สูตร 30 : 50: 20 แต่สูตรพวกนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก็ปรับเปลี่ยนได้ ยกตัวอย่าง สมมติมี 1,000 โดส อาจเป็นตามนัดจากแอปพลิเคชัน 30% จาก รพ. 50% และจาก Walk In อีก 20% เป็นต้น ในแต่ละจังหวัดอาจปรับไม่เหมือนกัน อย่าง กทม. ท่านรู้ว่ามีจุดไหนก็ไปจุดนั้น แต่หากใชแอปฯ ได้ก็สะดวกระบุถึงวันเวลา สถานที่ได้
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ภาพรวมอยากให้มีทุกหน่วย แต่ ข้อจำกัด รพ. คือ กังวลเรื่องความแออัด อาจเกิดการแพร่ระบาดได้ ดังนั้น Walk In เหมาะสมกับพื้นที่โล่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ หรือจุฬาฯ ก็ไปเปิดจามจุรีสแควร์ เป็นต้น ซึ่งก็ต้องรอประกาศตามแต่ละจังหวัด เพราะคนรับผิดชอบการฉีด คือ คณะกรรมการโรคติดต่อตามจังหวัดนั้นๆ