ล็อกดาวน์ไม่ช่วยคุมระบาดรอบ​ 3​ แนะ ตรวจเชิงรุกแยกโรค​ พร้อมระบบรองรับ ขณะรอวัคซีน

นักวิจัยนโยบายสุขภาพ​ ชี้​ คลัสเตอร์เรือนจำสะท้อนมาตรการ​ล็อกดาวน์​ไม่ช่วยคุมระบาดในสภาพ​ชุมชนแออัด​ ด้าน​ ชูวิทย์​ เสนอฉีดวัคซีนในคุก สร้างภูมิคุ้มกัน​หมู่

มาตรการล็อกดาวน์แต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยอะไรมากนักในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลระยะนี้ ?​

คือคำถามที่​ ผศ. นพ.บวรศม​ ลีระพันธ์​ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล​ ตั้งขึ้นเพื่อจะอธิบายการลุกลามของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ลดลงแม้มาตรการ​กึ่งล็อกดาวน์​ที่ดำเนินการมาเกือบครบ​ 14​ วันแล้ววันนี้​ (13​ พ.ค.​ 2564)

ผศ. นพ.บวรศม​ ระบุว่า​ การพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นคลัสเตอร์ในเรือนจำ อาจชี้ให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามาตรการล็อกดาวน์เมืองแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ “คำตอบสุดท้าย” ของการควบคุมโรคในสถานการณ์การระบาดระลอกนี้ (ซึ่งเราพบผู้ติดเชื้อภายในครัวเรือนหรือภายในชุมชนแออัดในสัดส่วนมากขึ้น) เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ผู้ต้องขังในเรือนจำก็คือ “คนที่ถูกล็อกดาวน์ในรูปแบบที่เข้มข้นที่สุด” ติดต่อกับคนภายนอกน้อยมาก และมี mobility ต่ำมาก เข้าออกเรือนจำเองไม่ได้เลย แต่พอมีผู้ต้องขังรายใหม่ที่ติดเชื้อหลุดเข้าไปในเรือนจำ ก็ยังติดกันแพร่เชื้อกันได้ภายในเรือนจำในเวลาที่รวดเร็ว

การล็อกดาวน์เมืองอาจช่วยลดการแพร่เชื้อในที่ทำงานและที่สาธารณะ แต่อาจไม่ช่วยลดการติดเชื้อภายในครัวเรือน เพราะเมื่อการระบาดลงไปในพื้นที่ซึ่งทำ social distancing ไม่ได้ เช่น ครัวเรือนในชุมชนแออัด หรือในเรือนจำ ล็อกดาวน์ไปก็คงไม่ช่วยอะไรมากนัก เราจึงไม่สามารถพึ่งมาตรการล็อกดาวน์แต่เพียงอย่างเดียวในการควบคุมโรคในระยะนี้ แต่ต้องเร่งการตรวจเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง ติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรค และแยกโรคออกมารักษาโดยเร็ว (test, trace, isolate: TTI)

เรามีความสามารถเพียงพอในการเร่งตรวจเชื้อเชิงรุกในชุมชน แต่ข้อจำกัดของระบบ TTI ในขณะนี้ คือถ้าตรวจเจอคนติดเชื้อมากก็ต้องมีมีเตียงโรงพยาบาลรองรับคนติดเชื้อที่มีจำนวนมากขึ้นด้วย ที่สำคัญต้องมีกำลังคนของทีมสอบสวนโรค (outbreak investigator) ที่เพียงพอที่จะติดตามค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดและเตรียมสถานที่เพื่อทำ quarantine ได้ทันเวลา เพื่อดับไฟตั้งแต่ต้นทาง

ชูวิทย์​ ​เสนอ​ เร่งฉีดวัคซีน​ สร้างภูมิคุ้มกัน​หมู่ในคุก​

สภาพในเรือนจำ​พิเศษกรุงเทพฯ​ กำแพงคุกสูง​ 7​ เมตร​ มี​ 8​ แดน​ เมื่อเข้าไปแดน​ 2​ ซึ่งเป็นแดนแรกรับจะต้องนอนรวมในห้อง​ 40​ ตารางเมตร​ อัดกันถึง 50​ คน​ บางเรือนจำแน่นขนาดต้องผูกเปลนอน​ และช่วงเวลา​ 15.00​ น.​ ถึง เช้า​ 06.00 น.​ รวม​ 15​ ชม.​ เป็นเวลาต้องนอนในพื่นที่แออัด​ ชูวิทย์​ กมลวิศิษฏ์ อดีตผู้ต้องขัง​ เล่าย้อน​ถึงสภาพความจริงในคุก​ พร้อมเป็นห่วงเจ้าหน้าที่​ผู้คุม​ที่อาจต้องกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อด้วย

เอาเฉพาะเรือนจำพิเศษกรุงเทพ​ฯ​ ถนนงามวงศ์วานติดเชื้อแล้ว​ 1,795 คน​จากทั้งหมด​ 3,238 คน​ คิดเป็น​ 55% และเชื่อว่าจากสภาพในเรือนจำที่แออัดกับการแพร่ระบาด จะต้องมีผู้ติดเชื้อมากกว่านี้​ ขณะที่เรือนพยาบาลในเรือนจำเล็กมาก ๆ​ ไม่เพียงพอต่อการแยกกักหรือรักษา​ ส่วนการรับมือของรัฐบาลบอกเพียงว่า​ “เอาอยู่” จะใช้โมเดลแบบเรือนจำนราธิวาส​ บับเบิลแอนด์ซีล​ แต่ทำไมไม่คิดว่า​ถ้า​ worst Case scenario วิกฤตสุด ๆ​ จะทำอย่างไร​ ?

เมื่อถามถึงทางออกดูเหมือนไม่มีทางออกเพราะสถานะของคนกลุ่มนี้ คือนักโทษ แนวทางในการลดความแออัดในเรือนจำที่ สมศักดิ์​ เทพสุทิน​ รมว.กระทรวงยุติธรรม​ ดำเนินนโยบายให้ติดกำไลอีเอ็มมาก่อนหน้านี้ ก็ถือว่าเป็นทางออก​ แต่หากจะให้ทันสถานการณ์เร็วที่สุด​ คือการฉีดวัคซีนในคุกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่​ แต่วัคซีนที่ยังมีจำกัดจะสามารถแบ่งมาเพื่อตัดวงจรระบาดในคุกได้หรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS