สำนักอนามัย กทม. ระบุตรวจเชิงรุกได้ 15,000 คนต่อวัน พร้อมตั้งเป้าฉีดวัคซีน 8 หมื่นคนต่อวัน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่จบโควิด-19 ใน 2 เดือน ขอวัคซีน 10.4 ล้านโดส
หากเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างการตรวจเชิงรุก กับการฉีดวัคซีนแล้ว “การฉีดวัคซีน” มีความคุ้มค่ามากกว่า แม้จะมีข้อเสนอจากหลายฝ่ายว่า ในช่วงที่ยังรอวัคซีนล็อตใหญ่ ให้เพิ่มงบประมาณและบุคลากรทีมสอบสวนโรค ทีมและหน่วยเคลื่อนที่ตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุก 200 ทีม เพื่อแยกผู้ติดเชื้อตัดวงจรระบาด
ทว่า “แพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์” ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ยืนยันศักยภาพในการตรวจเชื้อเชิงรุกของกรุงเทพฯอยู่ที่วันละ 15,000 – 20,000 คนต่อวัน ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับแผน การตรวจตามสถานการณ์รายวันและรายสัปดาห์ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขยายเวลาตรวจเชิงรุก แก่ผู้ประกันตน แรงงานนอกระบบโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้
สำนักอนามัย กทม. ยังเร่งควบคุมโรคให้อยู่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด คือควบคุมการระบาดในแต่ละคลัสเตอร์ให้ได้ภายใน 28 วัน ซึ่งการควบคุมที่ดี คือการตรวจเชื้อเชิงรุก ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาด และการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่รวดเร็ว
สำหรับการแพร่ระบาดในขณะนี้พบว่ามีหลายคลัสเตอร์ที่อยู่ในชุมชน มีชุมชนบางแห่งสามารถบริหารจัดการดูแลกันเองได้เป็นอย่างดี เช่น ชุมชนริมคลองวัดสะพาน เขตคลองเตย ที่แยกประชาชนที่ติดเชื้อออกจากครอบครัว มาดูแลพักคอยก่อนนำส่งสถานพยาบาล อันเป็นการลดการแพร่ระบาดให้แก่คนในครอบครัว และชุมชนซึ่งถือเป็นต้นแบบของ community isolation ที่ชุมชนอื่นสามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้หรือจัดเตรียมสถานที่รองรับไว้หากพบการระบาดในพื้นที่
กทม.ไม่รับวอล์กอิน เหตุวัคซีนยังมีจำกัด
หากได้รับการจัดสรรวัคซีนเป็นจำนวนมากเพียงพอจากกระทรวงสาธารณสุข ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่าจะสามารถฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนกรุงเทพฯได้ภายใน 2 เดือน (ก.ค. 2564) เนื่องจากมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 80,000 โดสโดยขอจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาล รวมทั้งหมด 10.4 ล้านโดส เพื่อครอบคลุมประชากร 70% หรือประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งกทมได้รับการจัดสรรวัคซีนล็อตแรกมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงวันนี้ (13 พ.ค. 2564) เกือบ 4 แสนโด๊ส และฉีดเข็มแรกไปแล้ว 376,958 ขณะที่รัฐบาลจะเร่งทยอยมอบวัคซีนให้กรุงเทพมหานครจำนวน 1 ล้านโดสหลังวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เพื่อเร่งฉีดให้ได้ตามเป้าหมาย
แต่วัคซีนที่ กทม.ได้รับจัดสรรในช่วงนี้มีปริมาณจำกัด จึงมีการจัดลำดับในการให้วัคซีนแก่ผู้มีความเสี่ยง ได้แก่ บุคลากรด่านหน้าที่มีหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและกลุ่มอาชีพเสี่ยงก่อน จากนั้นจะเป็นการให้วัคซีนในระยะต่อไปสำหรับกลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุที่ได้ลงทะเบียนผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ หมอพร้อม หรือลงทะเบียนผ่านโรงพยาบาล แล้วจึงจะให้บริการสำหรับประชาชนทั่วไป นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้พิจารณาให้วัคซีนเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ที่พบคลัสเตอร์การระบาดหลายชุมชน อาทิ ชุมชนคลองเตยและบ่อนไก่ ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกตามแผนที่กรุงเทพมหานครแจ้งกับกระทรวงสาธารณสุขไปก่อนหน้า
ในส่วนของการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลระหว่างวันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคมนี้ ยังเป็นระยะทดลองระบบที่กรุงเทพฯ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้บริการวัคซีนกลุ่มเป้าหมายที่ทาง กทม.มีรายชื่อแล้ว ตามที่ได้รับจากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ที่ยังตกค้างบางส่วน ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด่านหน้า เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค ทีมที่ต้องเข้าไปดูแลประชาชนในชุมชน พนักงานเก็บขนขยะ และประชาชนกลุ่มอาชีพเสี่ยง ในเบื้องต้นจะเน้นไปที่บุคคลที่ต้องทำงานบริการประชาชนและมีความเสี่ยงสูง เช่น พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รถประจำทาง แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซต์ รวมถึงคนขับเรือโดยสาร ผู้มีอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นต้น
“กทม.ประสานนำรายชื่อจากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อเข้ารับการฉีดในจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 14 จุดไม่ได้เป็นการเปิดรับประชาชนทั่วไปที่ walk in เข้ามาที่จุดบริการฉีดวัคซีนฯ ส่วนกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่น ๆ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีนในลำดับถัดมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร หากมีปริมาณมากจะสามารถให้บริการวัคซีนกับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ได้มากและรวดเร็วยิ่งขึ้น”
สธ.เผยรับวอล์กอินฉีดวัคซีน 20%
การจัดระบบให้บริการวัคซีนโควิด 19 แบบ Walk-in ก็เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้เข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว “นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากความเห็นชอบคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 หรือทันทีที่พร้อม โดยจัดสัดส่วนการให้บริการ 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่มาจากระบบนัดหมายผ่านไลน์และแอปพลิเคชัน หมอพร้อม 30% , กลุ่มนัดหมายจากโรงพยาบาล หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และโรคอ้วนค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 หรือน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัม 50% และกลุ่มที่ Walk in เดินเข้ามาขอรับบริการ 20%
ทั้งนี้ สามารถปรับสัดส่วนบริการได้ตามความเหมาะสมและสถานการณ์จริงหน้างาน รวมทั้งให้จังหวัดเตรียมจัดระบบเช็คจำนวนประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแบบ real time และระบุจำนวนสำหรับกลุ่ม Walk in ในแต่ละจุดฉีดเพื่อลดความแออัด หากคิวเต็มแต่ละแห่งจะออกใบนัดให้มารับบริการในวันถัดไป
“ขอให้ประชาชนนัดหมายฉีดวัคซีนผ่านไลน์ “หมอพร้อม” ซึ่งสะดวกและได้รับบริการตรงวันที่นัดหมาย ไม่ไปแออัดที่จุดฉีด ขอให้ทยอยไปรับการฉีดเนื่องจากวัคซีนมีเพียงพอ”
กทม.เหลือเตียงรับผู้ป่วยสีแดง 49 เตียง
สถานการณ์ที่ยังมีผู้ติดเชื้อสูงในกรุงเทพมหานครทำให้ยังคงต้องเพิ่มเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย และแบ่งระดับอาการเพื่อเข้าระบบรักษา “นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร” ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ระบุว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสนามของภาครัฐมี 537 เตียง ฮอสพิเทลของโรงพยาบาลรัฐ 832 เตียง ฮอสพิเทลของโรงพยาบาลเอกชน 6,911 เตียง แต่ผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักพันต่อวัน ทำให้เตียงที่จะรองรับผู้ป่วยสีเหลืองในส่วนของภาครัฐเหลือ 313 เตียงสีเหลือง เตียงรองรับผู้ป่วยสีแดงเหลือ 49 เตียง
ในส่วนของประชาชนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่ประสงค์รับบริการวัคซีน ตั้งแต่ 7 มิ.ย. นี้เป็นต้นไป ให้ลงทะเบียนผ่าน Line OA “หมอพร้อม” หากไม่สามารถลงทะเบียนได้ สามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์ BFC ณ โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสำนักการแพทย์ 1646