เปิด รพ.สนามเพื่อคนพิการ 224 เตียง 1 มิ.ย. นี้

หวังลดข้อจำกัดเข้าถึงการรักษา – กักตัวอยู่บ้าน ด้านรองนายกฯ ชี้ รัฐเร่งจัดลำดับความสำคัญให้คนพิการได้รับวัคซีนลำดับต้น

วันที่ 26 พ.ค. 2564 ที่ อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เพื่อคนพิการ ซึ่งบูรณาการการทำงาน 3 กระทรวงหลัก ในการบริหารจัดการเพื่อให้บริการผู้ป่วยพิการที่อายุระหว่าง 15-65 ปี ที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 224 เตียง โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2564

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันการป่วยอันเนื่องมาจากการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มคนพิการ แม้จะมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่นๆ แต่ยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ เพื่อรองรับการดูแลทั้งคนพิการและครอบครัว ด้วยระบบการให้บริการที่อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีการบูรณาการ ดังนี้

1) ด้านอาคารสถานที่และการจัดสภาพแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ สนับสนุนโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อว. ด้วยการจัดการด้านระบบเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในระหว่างรักษาตัวภายในโรงพยาบาลสนาม อาทิ รถเข็นบังคับ (รถเข็นส่งของที่บังคับจากระยะไกล) ระบบ TTRS (เครื่อข่ายสื่อสารสำหรับคนหูหนวก) เปลปกป้อง (เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ) เป็นต้น

2) ด้านการแพทย์ อุปกรณ์การตรวจรักษา/เวชภัณฑ์ และหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สนับสนุนโดย สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ สธ. ด้วยการรักษาอาการป่วยบนฐานของการเชื่อมประสานระบบเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการ

และ 3) ภารกิจด้านสวัสดิการสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งของอุปโภคบริโภค สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) พม. ด้วยการประสาน ส่งต่อ และให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการในระหว่างที่คนพิการและครอบครัวพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม รวมถึงวางแผนการให้ความช่วยและติดตามภายหลังคนพิการและครอบครัวหายจากอาการป่วยและปลอดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับสู่ครอบครัวและชุมชน

และล่าสุดที่ประชุมมีมติในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการขยายอายุบัตรประจำตัวผู้พิการต่อไปอีก 6 เดือน มีกองทุนคนพิการในการให้การสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอก ปลอดหลักทรัพย์ รวมทั้งให้ขยายเวลาขอกู้เงินได้เพื่อไปประกอบอาชีพในช่วงวิกฤติโควิด จากหมดอายุวันที่ 31 พ.ค.ต่อไปให้ถึง 30 ก.ย.2564 รวมถึงผู้ที่เป็นหนี้กองทุนผู้พิการอยู่แล้วให้สามารถพักหนี้ได้ โดยสามารถพักหนี้ตั้งแต่ 31 มี.ค.2564 ยืดไปได้อีกหนึ่งปีถึง 31 มี.ค.2565 ซึ่งมีผู้ยื่นพักหนี้แล้ว 10,000 กว่าคนทั่วประเทศ รวมถึงเสนอให้ ศปก. ศบค.ได้ช่วยจัดลำดับความสำคัญในการได้รับวัคซีนให้กับผู้พิการทั่วทั้งประเทศให้ต่อจากผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรค เพราะผู้พิการจำนวนหนึ่งอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคแต่ยังมีอีก 800,000 คนทั่วประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้และควรได้รับการฉีดวัคซีนในลำดับต้น

พก. ยอมรับเคสเด็กออทิสติก ล่าช้าเพราะการประสานงาน เร่งหาเจ้าภาพดูแล หาบ้านกลุ่มมีภาวะพึ่งพิงแต่ยังไม่ติดเชื้อ

ขณะที่เครือข่ายคนพิการ และอาสาสมัครกลุ่ม “เส้นด้าย” ได้เรียกร้องไปยัง สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พัฒนาศูนย์ดูแลกลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิง หลังจากมีกรณีที่มีครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 ต้องเข้ารับการรักษาเกือบทั้งครอบครัว และต้องทิ้งให้ลูกที่เป็นออทิสติกต้องอยู่เพียงลำพังกว่าจะได้รับการช่วยเหลือผ่านไปครึ่งวันทั้งที่ได้รับการตอบรับจากหลายภาคส่วนนั้น

สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับ พก. รวมถึงอยู่ในอำนาจหน้าหน้าที่รับผิดชอบของหลายหน่วยงาน แต่ขณะนี้ได้มีการบูรณาการการทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวโดยจัดตั้งคณะทำงานช่วยเหลือคนพิการ ภายใต้ชื่อ “ทีมเรามีเรา” เพื่อรับแจ้งเหตุ เฝ้าระวัง ประสานส่งต่อ และติดตามการให้ความช่วยเหลือคนพิการที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ ผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 และ สายด่วนคนพิการ 1479 รวมถึงแอปพลิเคชัน TTRS กรณีคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย

“หลังจากนี้หากมีกรณีติดเชื้อในกลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิง ถ้าอาการอยู่ในเกณฑ์สีเขียว จะถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลสนาม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ จ.ปทุมธานี ที่นี่มีห้องแยกพิเศษ สำหรับผู้ดูแล หรือคนในครอบครัว กรณีไม่สามารถพักเพียงลำพังได้ ส่วนกรณีไม่ติดเชื้อ ตอนนี้มี 2 แห่ง คือ สถาบันราชานุกูล และศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการพระประแดง จ.สมุทรปราการ เปิดให้คนพิการทุกประเภท รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เข้าพักอาศัยชั่วคราวระหว่างรอครอบครัวรับการรักษาพยาบาล”

แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนของคนพิการที่ติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาในขณะนี้ แต่จากการติดตาม และให้กำลังใจคนพิการในสถานการณ์ COVID-19 โดย พก. กว่า 500 คน พบว่า คนพิการส่วนใหญ่ มีรายได้ไม่เพียงพอ ประสบปัญหาการว่างงาน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ขาดรายได้ รวมไปถึงผู้ดูแลคนพิการประสบปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลคนพิการ ซึ่งการจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ” ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเชื่อมร้อยการให้ความช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวที่ติดเชื้อ COVID-19 ได้ต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น และเป็นโครงการต้นแบบ (Prototype project) ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของคนพิการในการเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อรักษาอาการป่วย COVID-19 ในกลุ่มคนพิการที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ให้มีความปลอดภัยที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน