“การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ” เดิมพัน รัฐบาลประยุทธ์

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ ฉีดวัคซีนไม่การันตีภูมิคุ้มกันหมู่ หวั่น กระทบ ศก. เผย 2 ฉากทัศน์หากกระจายวัคซีนไม่ตามเป้า GDP ปี  64 โตแค่ 1% เสียหายเกือบ 9 แสนล้าน นักรัฐศาสตร์-สื่ออาวุโส มองรัฐบริหารงานผ่านวาทกรรม หวั่นกระแสตีกลับ 

หลังประเทศไทยประสบความสำเร็จจากการควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2563 จนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์นานหลายเดือน ทำให้รัฐบาลชะล่าใจต่อการจัดหาวัคซีน โดยวางแผนจะกระจายวัคซีนล็อตใหญ่ล็อตแรกในเดือนมิถุนายน 2564 แต่การระบาดระลอก 2 เดือนมกราคม ตามมาด้วยระลอก 3 ในเดือนเมษายน มาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ ที่รัฐออกมาแต่ละครั้ง สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ “วัคซีน” จึงกลายเป็นความหวัง และต้องการอย่างมาก สวนทางกับจำนวนวัคซีนที่รัฐจัดหาได้ 

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564 ในรายการ Active Talk ตอน “วัคซีน ประชาชนสับสน หรือ รัฐบาลไม่ชัดเจน” ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร) ระบุว่า การประเมินจากธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงฉากทัศน์ของเศรษฐกิจไทยบนปัจจัยการกระจายวัคซีน หากสามารถกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดส ภายในไตรมาส 1 ของปี 2565 จะทำให้ GDP ปี 2564 โต 2% ขณะที่ปี 2565 โต 4.7% แต่หากไม่สามารถกระจายวัคซีนได้ครบหรือกระจายได้เพียง 65 ล้านโดส จะทำให้ปี 2564 เติบโตเพียง 1% ซึ่งมีมูลค่าต่างกันถึง 8.9 แสนล้านบาท สะท้อนว่า แผนกระจายวัคซีนมีเดิมพันที่สูงมาก

แต่ในต่างประเทศวัคซีนก็อาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป ยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการฉีดวัคซีน เช่น อิสราเอล ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ กับประชากรมากถึงมากกว่า 90% แล้วมีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเป็นนัยยะสำคัญ เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่เร่งฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์วันละ 4 แสนคนต่อวัน ก็ทำให้ผู้ติดเชื้อหลักหมื่น ลดลงเหลือหลักพัน อย่างมีนัยยะสำคัญเช่นเดียวกัน

สวนทางกลับประเทศเซเชลส์ หมู่เกาะที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาและซิโนฟาร์ม ให้กับประชากรครบ 2 เข็ม 65% เปิดประเทศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงถึง 5,000 คน โดยในจำนวนนี้ 33% ฉีดครบทั้ง 2 เข็มแล้ว ทำให้ต้องปิดประเทศอีกครั้ง

“หลายคนมองว่า ผลจากการฉีดวัคซีนอาจแตกต่างไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่อาจต้องยอมรับว่าวัคซีน mRNA สามารถควบคุมเชื้อได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นในทางเศรษฐกิจความเสียหายจากการชะลอการระบาด จึงต่างกับการชะลอการป่วยไม่ให้หนัก”

ขณะที่ความเสี่ยงของประเทศไทย หากไม่สามารถควบคุมผู้ติดเชื้อได้ อาจลามไปถึงภาคส่งออกเพราะต่างประเทศไม่มั่นใจ และไม่อยากรับสินค้า เช่น ปลากระป๋อง อาหารสด อาหารแช่แข็ง เพราะกลัวจะติดเชื้อ

โควิด-19 ทำให้เห็นความผิดปกติในโครงสร้างภาครัฐ

ด้าน รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมธิราช บอกว่าการประกาศวาระวัคซีนแห่งชาติ ของรัฐบาลอาจช้าไป หากวัคซีนสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องประชาชนดีขึ้น แต่หากวัคซีนไม่ได้ทำให้ผู้ติดเชื้อลดลง ก็จะเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมือง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลถูกวิจารณ์ถึงวัคซีนทางเลือกที่ยังไม่มีเข้ามาให้เลือกแล้ว 

ขณะเดียวกัน โควิด-19 ทำให้เห็นความผิดปกติในโครงสร้างภาครัฐซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ่อนการพนัน ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย กระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องรวบอำนาจและรวบอำนาจ ไม่ดึงฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วม ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว สำคัญที่สุดคือความโปร่งใส เปิดเผยข้อเท็จจริง 

“ในหลายประเด็นที่ถูกวิจารณ์ เช่น เรื่องการเข้าถึงวัคซีนของกลุ่มดาราทั้งหลายก็กลายเป็นประเด็นทางการเมือง และต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤต เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น กรณีล่าสุดเรื่องวอล์กอินฉีดวัคซีนว่าทำได้หรือไม่ ก่อนหน้านี้ก็มีหลายประเด็น”

ด้าน สมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส และอดีตบรรณาธิการบริหารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BBC กล่าวว่า การส่งสารของรัฐบาล ต้องคงเส้นคงวา อยู่บนข้อเท็จจริง ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ที่จัดฉีดวัคซีนตามกลุ่มอายุ นายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งมีอายุ 55 ปี ยังต้องต่อคิวฉีดวัคซีนตามลำดับกลุ่มอายุ 

ซึ่งวัคซีนเข็มแรกของประเทศอังกฤษและวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกของโลก ฉีดให้นางมาร์กาเรต คีแนน หญิงสูงวัยอายุ 90 ปี และฉีดให้สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 90 ปีเช่นกัน ขณะเดียวกันก็แก้ไขสถานการณ์ความเชื่อว่า วัคซีนอาจขัดกับหลักศาสนา เช่น กระบวนการผลิตวัคซีนไม่ได้มาตรฐานฮาลาล หรือมีสารประกอบมาจากเนื้อสัตว์ ด้วยวิธี “หนามยอกเอาหนามบ่ง” เช่น เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนที่มหาวิหารเก่าแก่ โบสถ์ และสุเหร่าหลายแห่งตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาเพื่อเรียกความเชื่อมั่น

ขณะที่ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อสูง นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แถลงข่าวออกทีวีแทบทุกวัน ให้ข้อมูลประจำวัน โดยเฉพาะการสื่อสารในระดับรัฐมนตรี จะพูดเชิงนโยบาย และจะให้ข้าราชการประจำให้ข้อมูลภาคปฏิบัติ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็ให้ความร่วมมือในการนำเสนอข่าว มีการตรวจสอบที่มาโดยจะไม่หยิบฉวยข่าวในโซเชียลมีเดียมาออกอากาศ แต่จะเป็นการนำเสนอ Fact Chake หรือมีช่วงรายการ ท่านถามเราตอบนำคำถามของประชาชนไปถามนักวิชาการหรือแพทย์ นำข้อมูลออกมาชัดเจนเป็นการสื่อสารที่เป็นโปร่งใส

จวกรัฐบาลบริหารงานผ่านวาทกรรม 

ด้าน ศุภวุฒิ สายเชื้อ กล่าวกรณีนี้ว่า หากฉีดวัคซีนล่าช้าจะเกิดความเสียหายในประเทศภายในประเทศถึง 9 แสนล้านบาท ขณะที่งบประมาณซื้อวัคซีนเพียง 3 หมื่นล้านบาท ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาล เปลี่ยน Message การสื่อสารบ่อยครั้ง เมื่อช่วงก่อนหน้านี้เคยพูดว่า ไทยไม่ต้องเดือดร้อนกับการจัดหาวัคซีน จะไม่ดำเนินการตามกระแส แต่ล่าสุด เปลี่ยน Message มาเป็น วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่มาเร็วที่สุด จึงมีคำถามว่า 1. จำนวนวัคซีนมีพอหรือไม่ 2. ทำไมไม่มีวัคซีนให้เลือก และ 3. ผลทางเศรษฐกิจจะเห็นผลเมื่อไร หลายฝ่ายก็คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 

นอกจากนี้ยังมีคำถามมากมาย ถึงแผนกระจายวัคซีน โดยให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนผ่าน หมอพร้อม กลุ่มแรก 16 ล้านคน ในขณะที่คนภูเก็ตก็คอยอยู่ สมุยก็คอยอยู่ แถมยังมีในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ยังต้องการวัคซีน คนทำงานในโรงงานต่าง ๆ คนดัง ดารา ที่หาความชัดเจนไม่ได้ว่าการจัดลำดับความสำคัญของแผนการฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร เพราะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

“2 แผลใหญ่ที่เกิดจากการสื่อสารของรัฐบาลเอง คือ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกว่า ฉีดวัคซีนแล้วช็อกตายจะทำอย่างไร กับโฆษก ศบค. บอกว่า วัคซีนมาช้าไม่มีผลต่อคนไทย ทั้ง 2 Message นี้ยังไม่มีทางฝั่งของรัฐบาลออกมาแก้ไข มีแต่เปลี่ยน Message ใหม่”

ด้าน รศ.ยุทธพร มองว่ารัฐบาลบริหารงานด้วยวาทกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะเป็นกระแสย้อนกลับ เพราะระยะหลังประชาชนขาดความไว้วางใจรัฐบาล แม้รัฐบาลจะออกมาเรียกความเชื่อมั่นด้วยการเปิดเผยงานวิจัยในประเทศไทย แต่ก็ยังมีจำนวนน้อย การให้ความเชื่อมั่นที่ดีที่สุดต้องอาศัยข้อเท็จจริง จะนำมาสู่ความชอบธรรม และกลายเป็นความไว้วางใจสาธารณะ

พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้านโจทย์ใหญ่งบประมาณรัฐ 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ระบุต่อว่า ประเด็น พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มอีก 7 แสนล้านบาท จะเป็นประเด็นต่อไป ที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยหากดูการจัดเก็บภาษี ในช่วงครึ่งปีงบประมาณแรกที่ตัดงบไปเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐจัดเก็บภาษีได้รวมเพียง 1.1 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 1.4 ล้านบาท ในขณะที่มีงบฯ ขาดดุลถึง 6 แสนล้านบาท จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม โดยงบประมาณปีหน้ามีการจัดรายจ่ายให้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งยังคงมีอีกหลายคำถามที่รัฐบาลต้องตอบประชาชนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ โดยเงินกู้ 7 แสนล้านบาทแบ่งเป็น 4 แสนล้านบาทเยียวยาวผลกระทบทางเศรษฐกิจ อีก 2.7 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เกิดการจ้างงาน และอีก 30,000 ล้านบาทกันไว้ใช้สำหรับกระทรวงสาธารณสุข

ขณะที่ รศ.ยุทธพร ระบุว่า รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีก 2 เดือนจะครบอายุ 2 ปี ในระยะสั้น รัฐบาลอาจยังอยู่ได้ แต่หลังจากนี้ผลงานและการควบคุมโรค การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ชะตารัฐบาล ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งของพรรคร่วมซึ่งเป็นเรื่องปกติ รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง ม็อบเยาวชนต่าง ๆ ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลล้ม ยิ่งในช่วงโควิด-19 จะไม่มีม็อบออกมาแน่นอน จะมีแต่ความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากการบริหารงานของรัฐบาล และผลกระทบจากโรคระบาด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS