‘หมอยง’ ชี้ วัคซีนไม่ใช่คำตอบเดียว! เตรียมพร้อม ‘ระบบสาธารณสุข’ คือ หัวใจรับมือโรคระบาด

‘ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ’ ย้อนรอยความสูญเสียจากโรคระบาดในอดีต ชี้ หากโควิด-19 เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน ไทยอาจสูญเสียประชากรถึง 650,000 คน เตือนสังคมไทย เตรียมระบบให้พร้อมรับโรคอุบัติใหม่ ต้องควบคุมโรคตั้งแต่ต้นทาง มีมาตรการเข้มงวด สื่อสารความเสี่ยงที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการสูญเสียครั้งใหญ่ในอนาคต​​​​​​​​​​​​​​​​

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาที่มีบทบาทสำคัญตลอดช่วงการระบาดของโควิด-19 ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คุยนอกกรอบ กับสุทธิชัย หยุ่น” โดยชี้ให้เห็นบทเรียนสำคัญจากโรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์ โดยเตือนสังคมไทยว่า โรคระบาดไม่เคยหายไปจากประวัติศาสตร์มนุษย์ และจะยังคงเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อมและป้องกันความสูญเสียอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คุยนอกกรอบ กับสุทธิชัย หยุ่น” 

จากไข้ห่าปีมะโรง ถึง ไข้หวัดสเปน
ไทยเคยสูญเสีย 1% ของประชากรมาแล้วหลายครั้ง

ศ.นพ.ยง บอก่า สมัยรัชกาลที่ 2 ประเทศไทยเคยเผชิญ ไข้ห่าปีมะโรง ซึ่งมีลักษณะคล้าย อหิวาตกโรค ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน โดยไม่มีเทคโนโลยีการแพทย์ใดสามารถช่วยเหลือได้

“รัชกาลที่ 2 เองก็ทรงพระประชวรด้วยโรคนี้ แม้จะฟื้นพระสติแล้ว แต่ประชาชนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก… ข้อมูลประวัติศาสตร์ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ เฉพาะปีนั้นราว 30,000 คน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 50,000 คน”

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

ในยุคถัดมา ช่วงรัชกาลที่ 6 ประเทศไทยประสบกับการระบาดของ ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงปี พ.ศ. 2461 – 2463 โดยในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตราว 80,000 คน จากประชากรประมาณ 8 ล้านคนในขณะนั้น คิดเป็น 1% ของประชากรทั้งหมด

“ตัวเลข 1% นี่สำคัญมาก เพราะมันคือขนาดของความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อประเทศยังไม่มีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งพอ และโควิด-19 ก็อาจทำให้เรากลับไปสู่วงจรเดิมได้ หากเราไม่สามารถจัดการมันได้อย่างทันท่วงที”

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

การระบาดโควิด-19 ในความโชคร้าย ยังมีโชคดี

แม้โควิด-19 จะเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลกในศตวรรษที่ 21 แต่ ศ.นพ.ยง ระบุว่า ประเทศไทยยังถือว่า “โชคดี” เมื่อเทียบกับความรุนแรงของโรคและระบบที่เรามีในปัจจุบัน

“ถ้าโควิดเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน โดยไม่มีออกซิเจน ไม่มีน้ำเกลือ ไม่มีเครื่องช่วยหายใจ หรือแม้แต่วัคซีนเลย ประเทศไทยอาจสูญเสียประชาชนถึง 650,000 คนจากทั้งหมด 65 ล้านคนได้”

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

ทั้งยังเปรียบเทียบสถานการณ์ว่า ในอดีตเมื่อประชาชนติดเชื้อไวรัสรุนแรง การเสียชีวิตจำนวนมากคือสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วันนี้ การแพทย์สมัยใหม่ทำให้เราสามารถ ซื้อเวลา ให้ร่างกายได้ฟื้นฟู โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายยังไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ด้วยตัวเอง

“น้ำเกลืออาจดูเป็นของง่ายๆ แต่มันช่วยชีวิตคนมาแล้วนับไม่ถ้วน เพราะมันคือเครื่องมือที่ช่วยซื้อเวลาให้แพทย์รักษาชีวิตคนได้มากขึ้น”

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

‘วัคซีน’ ไม่ใช่คำตอบเดียว แต่การเตรียมระบบคือหัวใจ

ศ.นพ.ยง บอกด้วยว่า การพึ่งพาเพียงวัคซีนไม่ใช่คำตอบของการรับมือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต เพราะการพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนใช้เวลานาน อีกทั้งบางโรคก็อาจกลายพันธุ์จนวัคซีนไม่ทันการณ์

“หัวใจคือการมีระบบที่พร้อมรับมือทันทีเมื่อเกิดการระบาด เราต้องรู้จักวิธีควบคุมโรคตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่รอให้เกิดการแพร่ระบาดแล้วค่อยตามแก้”

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

พร้อมทั้งยกตัวอย่างโควิด ว่า ไทยสามารถควบคุมการระบาดระลอกแรกได้ดี เพราะมีการใช้มาตรการอย่างเข้มงวด เช่น การล็อกดาวน์ การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง และการสื่อสารความเสี่ยงอย่างชัดเจน แต่เมื่อเข้าสู่ระลอกหลัง ๆ ที่มีไวรัสกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

โรคระบาดจะไม่หายไปจากโลก ต้องเรียนรู้ อยู่ร่วมอย่างรู้เท่าทัน

สุดท้าย ศ.นพ.ยง ฝากข้อคิดสำคัญว่า “โรคระบาดจะยังเกิดขึ้นเสมอ” เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการมนุษย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“ไวรัสมีอยู่ในธรรมชาติตลอดเวลา มันพร้อมจะเปลี่ยนแปลงและข้ามสายพันธุ์มาหามนุษย์ทุกเมื่อ เราจึงต้องไม่ลืมบทเรียนจากอดีต เพราะมันจะเกิดขึ้นอีก และเมื่อถึงวันนั้น เราต้องไม่สูญเสียประชาชนถึง 1% ของประเทศอีกแล้ว”

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active