ตัวเลขผู้ป่วยโควิดพุ่งกว่า 7 หมื่นราย หลังสงกรานต์ – เด็ก 0-4 ปีกลุ่มเสี่ยงสูงสุด แพทย์ชี้มาตรการ NPI สำคัญกว่าวัคซีน เฝ้าระวังช่วงเปิดเทอม แต่ไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน
วันนี้ (15 พ.ค. 2568) สถานการณ์โควิด-19 ยังน่าเป็นห่วง ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งหลังสงกรานต์ ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วยโควิด-19 สะสมแล้ว 71,067 คน เสียชีวิต 19 คน โดยแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ (สัปดาห์ที่ 16) ที่มีการเดินทางและการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าในปีนี้ ระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ประเทศไทยพบการระบาดของสายพันธุ์ XEC เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การระบาดครั้งนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะหลังเทศกาลสงกรานต์ ขณะเดียวกันยังพบไข้หวัดใหญ่ระบาดควบคู่กัน ซึ่งแม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังสูงกว่าค่ามัธยฐานของ 5 ปีย้อนหลัง ทำให้ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
เจาะลึกสายพันธุ์ XEC กับการระบาดระลอกใหม่
สายพันธุ์ XEC ที่พบการระบาดในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน มีลักษณะการแพร่กระจายที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า อาจเป็นสาเหตุให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์รายการรวันใหม่วาไรตี้ Thai PBS เช้านี้(15 พ.ค.)ว่า ก่อนสงกรานต์ สายพันธุ์หลักคือ JN.1 แต่หลังสงกรานต์พบการระบาดของ XPB และ KP.2 เพิ่มขึ้น ซึ่ง KP.2 ยังสามารถป้องกัน JN.1 ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้มีการพัฒนาวัคซีนแบบ Monovalent ที่เน้นสายพันธุ์เดียว”
สำหรับอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ XEC นั้น คล้ายคลึงกับโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้า ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก แต่ที่สำคัญคือไม่มีอาการเฉพาะอย่าง “ไม่ได้กลิ่น” หรือ “ไม่รู้รส” เหมือนที่เคยพบในช่วงการระบาดระลอกแรกๆ ซึ่งทำให้การวินิจฉัยแยกโรคจากไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดธรรมดาทำได้ยากขึ้น
“การแยกแยะอาการโควิดกับไข้หวัดธรรมดาในปัจจุบันยากขึ้นมาก เพราะอาการของโควิดสายพันธุ์ใหม่คล้ายไข้หวัดมาก ไม่มีอาการเฉพาะอย่าง ‘ไม่ได้กลิ่น’ หรือ ‘ไม่รู้รส’ แบบที่เคยพบในอดีตอีกต่อไป การวินิจฉัยจึงต้องพึ่งการตรวจ เช่น ATK” ศ.วสันต์กล่าว
กลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี เสี่ยงสูงสุด พ่อแม่ควรเฝ้าระวังช่วงเปิดเทอม
ข้อมูลที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงที่สุด โดย พญ.สิปาง ปังประเสริฐกุล อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 สะสมกว่า 41,000 ราย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 8 พฤษภาคม 2568 โดยกลุ่มเด็กอายุ 0–4 ปี คือกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงที่สุด และส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสายพันธุ์ XEC” อ่านเพิ่ม
สถานการณ์นี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในช่วงเปิดเทอม ที่มีการกลับมาเรียนแบบปกติในห้องเรียน ซึ่งเด็กมีโอกาสในการสัมผัสใกล้ชิดกันมากขึ้น เนื่องจากเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ได้ทำกิจกรรมกลุ่มหรือใช้สิ่งของร่วมกัน และอาจมีการลดมาตรการสุขอนามัยลง
“ช่วงเปิดเทอมเป็นโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ และอาจมีการละเลยมาตรการป้องกัน เช่น ไม่ล้างมืออย่างเหมาะสม หรือไม่สวมหน้ากากอนามัย” พญ.สิปาง กล่าว
อย่างไรก็ตาม พญ.สิปาง ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียนหากมีผู้ติดเชื้อ แต่โรงเรียนควรมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ เช่น ส่งเสริมการล้างมือที่ถูกต้อง ตรวจคัดกรองอาการก่อนเข้าเรียน สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ
โควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ การระบาดซ้อนที่ต้องเฝ้าระวัง
ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 น่าเป็นห่วง ไข้หวัดใหญ่ก็กลับมาระบาดควบคู่กัน โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 พฤษภาคม 2568 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมถึง 328,103 ราย (อัตราป่วย 500.40 ต่อประชากรแสนคน) และมีผู้เสียชีวิต 33 ราย แม้แนวโน้มผู้ป่วยจะลดลง แต่ยังสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง
ศ.วสันต์ อธิบายว่า ช่วงโควิด เรามีมาตรการสุขอนามัยที่เข้มงวด เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ทำให้ร่างกายไม่ได้สัมผัสเชื้อโรคทั่วไป แต่เมื่อมาตรการเหล่านี้ผ่อนคลายลง เชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ จึงกลับมาระบาดมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในการติดเชื้อหลายโรคพร้อมกัน โดย ศ.วสันต์ ระบุว่า มีโอกาสติดเชื้อพร้อมกันได้ เช่น โควิดร่วมกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น และยิ่งต้องติดตามสายพันธุ์ A ของไข้หวัดใหญ่ที่เริ่มพบการติดเชื้อข้ามจากสัตว์มาสู่คน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ พบเชื้อในวัวที่อาจแพร่กลับสู่คนได้
ด้านวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น ศ.วสันต์ เผยว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีนี้ครอบคลุม 4 สายพันธุ์ มีประสิทธิภาพโดยรวมประมาณ 41% โดยเฉพาะกับสายพันธุ์ A มีประสิทธิภาพราว 68% และ B ประมาณ 32% ขณะนี้เราพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิด A และ B โดยสายพันธุ์ B มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมักถูกมองข้ามว่าไม่รุนแรง ทั้งที่จริงแล้วมีความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์ A
วัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำเป็นแค่ไหนในสถานการณ์ปัจจุบัน?
ศ.วสันต์ แนะนำว่า สามารถฉีดวัคซีนโควิดและไข้หวัดใหญ่พร้อมกันได้เลย คนละข้าง แขนซ้ายขวา เจ็บทีเดียว วัคซีนไข้หวัดใหญ่มักให้บริการฟรี ส่วนวัคซีนโควิด ถ้าไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจต้องจ่ายเงินเอง ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายให้บริการฟรีทั่วไป
ขณะที่ ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า วัคซีนในปัจจุบัน ไม่มีความจำเป็น และเมื่อเจ็บป่วยเกิดขึ้น ถ้าร่างกายแข็งแรงดี ก็รักษาตามอาการ โรคจะหายไปได้เอง ยกเว้นผู้มีความเสี่ยงสูง เช่นอายุมาก มีโรคประจำตัวร้ายแรง ก็ควรพบแพทย์เพื่อได้รับยาต้านไวรัส อ่านเพิ่ม
ศ.นพ.ยง เน้นย้ำว่า การป้องกันแบบที่ไม่ใช้ยาหรือวัคซีน (Non Pharmaceutical Intervention) หรือที่เรียกว่า NPI สำคัญกว่าการให้วัคซีนเสียอีก ได้แก่ การล้างมือบ่อย ๆ ให้ถูกวิธี การสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะผู้ป่วย หรือการเข้าไปอยู่ในคนหมู่มาก การรับประทานอาหารที่สะอาด สุก การให้ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกันตนเอง
สำหรับความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน ศ.วสันต์ อธิบายผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อย เป็นไข้ ถือเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังตอบสนองต่อวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องดี ส่วนกรณีลิ่มเลือดที่เคยเกิดขึ้นกับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ เช่น AstraZeneca นั้น ปัจจุบันไม่ใช่วัคซีนหลักแล้ว และความเสี่ยงจากการติดโควิดเอง ยังสูงกว่ามาก
“ในกรณีอาการแพ้หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบได้น้อย และมักไม่รุนแรง หายได้เอง ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า วัคซีนไม่กระทบต่อระบบสืบพันธุ์อย่างที่หลายคนกังวล” ศ.วสันต์ กล่าว
วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์หลังจากนี้
ศ.นพ.ยง ได้วิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์โควิด-19 ในอนาคตว่า “โรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนมาเป็นโรคประจำฤดูกาล หลังการระบาดใหญ่เป็นเวลา 3 ปี การระบาดในปีนี้ ก็เป็นไปตามฤดูกาล เช่นเดียวกับ 2 ปีที่ผ่านมา
“ปีนี้มีฝนตกชุกเร็วต้นปี ทำให้มีการระบาดมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่ความรุนแรงของโรค ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมาก” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง ยังคาดการณ์ว่า จุดสูงสุดของจำนวนผู้ป่วย จะเป็นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เป็นช่วงที่นักเรียนเปิดเทอม นักเรียนจะเป็นผู้ที่ขยายโรคได้มากขึ้น แล้วหลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่เดือนกรกฎาคม เมื่อมีผู้ติดเชื้อไปเป็นจำนวนมากแล้ว การระบาดของโรค จำนวนผู้ป่วยจะเริ่มน้อยลง ถึงแม้จะยังพบผู้ป่วยได้บ้างตลอดปี
ส่วนอัตราการเสียชีวิตนั้น ศ.นพ.ยง มีมุมมองที่น่าสบายใจว่า อัตราการเสียชีวิตลดลงมาโดยตลอดทุกปี หลังจากเปลี่ยนเข้ามาเป็นโรคประจำฤดูกาล ในปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 220 คน และปีนี้ถึงแม้ว่าจะมีผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้ว ก็เชื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะน้อยกว่าปีที่แล้วมาก.