โควิด-19 สายพันธุ์​อินเดีย​ หลุดเข้าไทยได้อย่างไร?

“นักระบาดวิทยา” ​ เร่งสอบสวนโรคหาต้นตอสายพันธุ์​อินเดีย​ ​โผล่แคมป์คนงาน​ หวั่นแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์​อังกฤษ​ ​ “อนุทิน” ยัน​ 2​ วัคซีนในไทยเอาอยู่​ แต่ไม่พบ​ “ซิโนแวค” ในลิสต์วัคซีนป้องกันสายพันธุ์​อินเดีย​ขององค์การ​อนามัยโลก

ยังคงเป็นปริศนาว่า โควิด-19 สายพันธุ์อินเดียหลุดเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร และทำไมถึงพบในแคมป์คนงานก่อสร้างในเขตหลักสี่ “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างให้ทีมสอบสวนโรค ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสทั้งตัวที่พบในไทย เปรียบเทียบกับเชื้อของประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมกับใช้หลักระบาดวิทยาในการสอบสวนโรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป

จากการสันนิฐานเบื้องต้น สายพันธุ์อินเดียมีการระบาดมากในหลายประเทศ ทั้งอินเดีย อังกฤษ มาเลเซีย รวมทั้งเคยพบในสนามบินซางฮี ประเทศสิงคโปร์ ส่วนเมียนมาและกัมพูชาการตรวจสายพันธุ์ยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด แต่เชื่อว่าอาจมีสายพันธุ์อินเดีย ดังนั้นประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะพบสายพันธุ์อินเดียหลุดรอดเข้ามาได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค​ แถลงข่าวที่กระทรวง​สาธารณสุข​ วันที่​ 21​ พ.ค.​ 2564

ย้อนไปก่อนหน้านี้สายพันธุ์อินเดียถูกพบในประเทศไทยครั้งแรกจากผู้ที่เดินทางเข้ามาจากประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 และกักตัวอยู่ในสถานกักกันโรคจึงทำให้ยังสามารถควบคุมการแพร่กระจายเชื้อสายพันธุ์อินเดียได้ แต่การพบการระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งอยู่นอกสถานกักกันโรคทำให้มีความกังวลว่า จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ได้หรือไม่ ในขณะที่มีรายงานว่าสายพันธุ์อินเดียมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ รวมทั้งยังมีความคลุมเครือว่าจะทำให้ผู้ติดเชื้ออาการหนักกว่าสายพันธุ์เดิมหรือไม่ และวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้มีประสิทธิภาพป้องกันโรค และสร้างภูมิคุ้มกันได้หรือไม่

“สายพันธุ์อินเดีย” คืออะไร

สายพันธุ์อินเดีย หรือ B.1.617 เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดียตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2563 “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการศึกษาทางทฤษฎีพบว่าการกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์อินเดีย ในครั้งนี้อาจมีแนวโน้มทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีนลดลงได้ แต่ยังไม่มีการยืนยันทฤษฎีดังกล่าวอย่างแน่ชัด

สายพันธุ์อินเดีย กลายพันธุ์ 2 จุด (Double Mutant)  คือ E484Q และ L452R ส่งผลให้มีความสามารถในการกระจายตัวที่สูงมากขึ้น รวมถึง“สายพันธุ์อินเดีย” กลายพันธุ์ 3 จุด (Triple Mutant Variant) เป็นชนิด B.1.618 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “โควิดสายพันธุ์เบงกอล” เกิดจากการหายไปของหนามตำแหน่ง H146 และ Y145 และมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K และ D614G

การกลายพันธุ์ที่สำคัญในตำแหน่ง E484K ที่เป็นจุดสำคัญในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน(แอนติบอดี) ซึ่งแอนติบอดีเป็นสิ่งเดียวที่จะต่อสู้กับไวรัสได้ หลังจากคนผู้นั้นได้รับวัคซีนหรือเคยผ่านการติดเชื้อมาแล้ว

ลักษณะการกลายพันธุ์บางอย่างของไวรัสสายพันธุ์อินเดีย มีความคล้ายคลึงกับที่พบในสายพันธุ์บราซิลและสายพันธุ์แอฟริกาใต้  หากนำ สายพันธุ์อินเดียมาเทียบกับสายพันธุ์จากอังกฤษ หรือ B.1.1.7 ซึ่งตรวจพบได้มากที่สุด รวมทั้งแพร่กระจายไปยังกว่า 50 ประเทศทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก กำลังศึกษาสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียพุ่งสูงในขณะนี้ มาจากสายพันธุ์ B.1.617 ที่พบครั้งแรกในอินเดียใช่หรือไม่ ซึ่งสายพันธุ์นี้ปัจจุบันพบในราว 17 ประเทศทั่วโลกและล่าสุด (21 พ.ค. 2564) พบในประเทศไทย

“ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี” รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ถอดรหัสพันธุกรรมพบเชื้อไวรัสโคโรนาฯ คนแรกของประเทศไทย ระบุว่า การกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของไวรัสที่พยายามปรับตัวให้อยู่รอด ในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายของมนุษย์ แต่การกลายพันธุ์นั้นจะส่งผลกระทบเมื่อสายพันธุ์ใหม่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนักกว่าเดิมจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน ที่ต้องวิจัยใหม่เพื่อรองรับการกลายพันธุ์

วัคซีนยี่ห้อใด สกัดโควิดสายพันธุ์อินเดีย ได้บ้าง?

การฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาครบ 2 โดส สามารถรักษาระดับแอนติบอดี ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับโควิดสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงสายพันธุ์อินเดีย ได้นานถึง 6 เดือน ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐ ยืนยัน พร้อมแสดงข้อมูลให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและยับยั้งไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยขั้นรุนแรง รวมถึงอัตราการเสียชีวิต

สำหรับประเทศไทยจะได้รับ “วัคซีนไฟเซอร์” 10 -20 ล้านโดส ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ธ.ค. 2564 ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งคาดการณ์ว่า “วัคซีนโมเดอร์นา” จะนำเข้ามาในประเทศไทยได้ภายในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

ส่วนวัคซีนที่ประเทศไทยมีตอนนี้ทั้ง “แอสตราเซเนกา” และ “ซิโนแวค” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ทีมแพทย์ให้ความมั่นใจวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อยังป้องกันอาการหนัก และป้องกันการเสียชีวิตได้ เมื่อติดโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ

“นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โควิดสายพันธุ์อินเดียที่ตรวจพบในขณะนี้ มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้เร็วเหมือนกับสายพันธุ์อังกฤษ แต่ยังไม่มีผลกับยารักษา และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังสามารถใช้ได้ปกติ

อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ “บริษัทที่ผลิตวัคซีนซิโนแวค” ยังไม่ออกมาระบุถึงประสิทธิผลของวัคซีนต่อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย แต่ในส่วนของ “แอสตราเซเนกา” พบรายงานจากดิเอ็กซ์เพรสส์ สื่ออังกฤษ อ้างผลการศึกษาโดยโรงพยาบาลอินทราปรัสถ์อพอลโล (Indraprastha Apollo) ณ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย พบว่า จากกลุ่มเป้าหมายกว่า 3,300 คน มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 2 คน สะท้อนให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ แอสตราเซเนกามีประสิทธิผลสูงถึง 97% ในการต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย

ไร้เงา​ “ซิโนแวค” ในรายชื่อวัคซีนป้องกันสายพันธุ์​อินเดีย​ ของ​ WHO

องค์การ​อนามัยโลก​ เปิดเผยรายชื่อวัคซีนป้องกันโควิด-19​ ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดที่กลายพันธุ์​ ทั้ง​ สายพันธุ์อินเดีย อังกฤษ​ และสายพันธุ์อื่นๆ​ ที่อนุมัติไปแล้ว​ 5​ ยี่ห้อ​ เมื่อวันที่​ 20​ พ.ค.​ 2564​ ได้แก่

  • ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค
  • โมเดอร์นา
  • จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
  • แอสตราเซเนกา
  • ซิโนฟาร์ม​

ถึงแม้วัคซีนจะสามารถทำหน้าที่ป้องกันได้ดี การควบคุมการระบาดของโควิดทุกสายพันธุ์ก็ยังต้องใช้มาตรการอื่นๆ เข้าช่วยทั้งมาตรการทางสังคม การรักษาสุขอนามัย อย่างที่เคยทำมาควบคู่ไปด้วย

อ้างอิง​: https://amp.dw.com/en/covid-vaccines-effective-against-all-known-variants-says-who/a-57600323?__twitter_impression=true

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS