นับถอยหลังเปิดสภา ตีโจทย์รัฐบาล “งบฯ 65 – กู้เงิน” โรครุมเร้าการเมือง

‘พิภพ ธงไชย’ ชี้ รัฐบาลบิ๊กตู่ ไม่เคลียร์ปัญหาคอร์รัปชัน พัวพันปัญหาวัคซีนโควิด-19 ‘อรรถวิชช์’ เลขาธิการพรรคกล้า ให้นิยาม “รัฐบาลแห่งการกู้เงิน” เดิมพันขาดดุลงบประมาณ

นับถอยหลัง เปิดสภา  27 พ.ค. นี้  หลายโจทย์ใหญ่ รอเขย่ารัฐบาล ทั้งการอภิปรายงบประมาณปี 2565 ศึกซักฟอกจากฝ่ายค้าน โจทย์กู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้าน และสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ขณะที่ปมการเมืองเดิมยังไม่คลี่คลาย ทั้งแรงกดดันจากมวลชนนอกสภา  ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ  และเอกภาพพรรคร่วมรัฐบาล

ปัญหาใหม่ – เก่า ที่รุมเร้ารอบด้านจากนี้ รัฐบาล “พล.อ. ประยุทธ์” เอาอยู่หรือไม่? Active Talk ชวนคุยเรื่องนี้กับ พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ อรรถวิชช์  สุวรรณภักดี  เลขาธิการพรรคกล้า

พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปรียบการเมืองไทยเหมือนโรครุมเร้า ระบุ “พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมา 7 ปี 2 สมัย สมัยแรก 5 ปี ได้อำนาจมาโดยรัฐประหาร สมัยที่ 2 เข้าสู่กระบวนการสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งบุคคลที่เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อ เป็นธรรมดาอยู่มา 7 ปี การเมืองไทยแก้ปัญหาอะไรไม่ได้มาก เมื่อแก้ไขไม่ได้ก็กลายเป็นปัญหาที่ขยายตัวที่เราเรียกว่า โรครุมเร้าทางการเมือง

คำสัญญาปฏิรูปที่ไม่สำเร็จ

แม้ พิภพ จะยอมรับว่า นายกรัฐมนตรีไม่เคยมัวหมองเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น แต่บทบาทของทหารทำให้ขาดความสามารถทางการเมืองและการบริหารจัดการประเทศ คำถามคือ “บิ๊กตู่” เริ่มต้นจากสัญญาว่าจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อปฏิรูปการเมือง ทำเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ปฏิรูปตำรวจ ปฎิรูปการศึกษา แต่ก็ไม่สำเร็จ ในช่วงที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนรัฐธรรมนูญ 2560 พิภพ ระบุว่าเคยเตือนสติว่า “ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่บังคับรัฐบาลว่าจะต้องตั้งกรรมาธิการปฏิรูป และสุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เพราะตั้งพวกพ้อง”

ขณะที่ การปฏิรูปการศึกษา ก็ยังมีความล้าหลัง คิดแบบล้าหลัง รวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษาไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่กระทรวงศึกษาก็ไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดการบริหาร กระทั่งทั่วโลกลดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย พร้อมแนะปฏิรูปการศึกษาต้องแหวกแนวกระแสหลัก (Main stream) ให้มีทางเลือกที่หลากหลาย (Alternative education) เหมาะกับบริการการศึกษาของแต่ละพื้นที่

ส่วนการปฏิรูปตำรวจ เป็นความผิดพลาดจากโครงสร้างคณะกรรมการ และอีกส่วนที่พลาดคือ การปราบทุจริตคอร์รัปชั่น หลายโครงการเป็นอภิมหาโปรเจกต์ ยากต่อการตรวจสอบ ก็ทิ้งคำถามไว้เพียงว่า จะมีการคอร์รัปชั่นหรือไม่ในสภาพการเมืองไทย

“แม้แต่โควิด-19 เรื่องการสั่งวัคซีนก็ถูกตั้งคำถามที่มันมีปัญหายึก ๆ ยัก ๆ กันอยู่ พูดภาษาชาวบ้าน เพราะมีหัวคิวใช่รึเปล่า หัวคิวไปตกอยู่ที่ใคร ข่าวลือมันก็เยอะ เราเอาข่าวลือมาพูดไม่ได้ เดี๋ยวถูกฟ้องหมิ่นประมาท เพราะฉะนั้น ประเด็นที่คุณมีชัยบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 60 เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงใช่มั้ย แล้วนายกรัฐมนตรีได้ใช้รัฐธรรมนูญปราบโกงนี้เป็นเครื่องมือในการปราบโกงได้จริง ๆ รึเปล่า ก็ไม่จริง”

โควิด-19 โรครุ้มเร้าการเมือง?

พิภพ ตั้งคำถามกรณี ประกาศวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ โดยมองว่า “ตอนนี้คนก็มองว่าบิ๊กตู่ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี คนเขาพูดกันว่าเฮ้ยมาเปลี่ยนม้ากลางศึกได้ไง เรื่องวัคซีนแห่งชาติกำลังจะไปได้ดี ผมคิดว่าอันนี้ใช่ ถ้าสำเร็จก็ถือว่าเป็นเครดิตของบิ๊กตู่ แต่ที่เขาท้วงติงกันว่า จะต้องเอานายกฯ คนนอก เพราะการแก้ไขปัญหาอย่างอื่นหลังจากเรื่องวัคซีนบิ๊กตู่ทำไม่ได้…”  

หนึ่งในนั้น คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผ่านมา 7 ปี เกิดการผูกขาด จำนวนมาก พร้อมตั้งคำถามว่าแล้วใครเติบโตขึ้นในช่วงที่บิ๊กตู่เป็นนายกรัฐมนตรี? นอกจากนี้ยังมีเรื่องความปรองดอง, การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศ ดังนั้น แม้จะฉีดวัคซีนสำเร็จภายในปีนี้ ไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จในการบริหารของรัฐบาลช่วง 7 ปีที่ผ่านมาและหลังจากนี้

รัฐบาลแห่งการกู้เงิน?

อรรถวิชช์  สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยเฉพาะ กรณีของการบริหารจัดการงบประมาณเงินกู้ ที่กำลังเป็นคำถามถึงการกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท บริหารจัดการโควิด-19 โดยมองว่าเป็นไม้สุดท้ายของ พลเอก ประยุทธ์ เรื่องเศรษฐกิจ เพราะว่าตัวเลขชนเพดาน

“ปีนี้งบประมาณอยู่ที่ 3.1 ล้านล้าน ขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้าน หมายความว่า รายจ่ายมากกว่ารายได้อยู่ 7 แสนล้าน ซึ่งตามกฎหมายมันมีลิมิตว่าขาดดุลได้สูงสุดเท่าไร ครั้งนี้ เป็นครั้งที่เปิดมาด้วยลิมิตการขาดดุลงบประมาณเต็มอัตราศึกคือที่ 7 หมื่นล้าน และยังมีตัวพระราชกำหนดอีกตัวที่เป็นเงินกู้ กู้ต่างหากมาช่วยเรื่องโควิด-19 อีก 7 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่า กู้เงินในงบฯ 7 แสนล้านเต็มอัตรา และกู้ตาม พ.ร.ก.อีก 7 แสนล้าน มันคือเกือบแตะ 60% ของหนี้สาธารณะของ GDP ซึ่งถือว่าเต็มแม็กซ์ทุกอย่าง”

เขาบอกว่า ความอันตรายที่น่าเป็นห่วง คือ หากแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ แต่เม็ดเงินที่ลงไปไม่ได้เข้าไปที่กลางหัวใจ หรือเข้าไปแก้ปัญหาที่ตรงจุด คนที่จะเข้ามาทำงานต่อจาก พล.อ. ประยุทธ์ จะทำงานลำบากมาก ในเชิงการกอบกู้เศรษฐกิจในอนาคต

“ผมเรียนตามตรงนะ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าทีมเศรษฐกิจที่มีอยู่ มันจะผ่านพ้นรอบนี้ไปได้ ถ้าใช้เงินไม่ระวังนี่อันตรายมาก”

ขณะเดียวกัน อรรถวิชช์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการบริหารจัดการงบประมาณไม่เหมาะสมจากกรณีการปรับลดงบกระทรวงแรงงาน 28% ขณะที่งบฯ กระทรวงกลาโหมถูกตัดลดเพียง 5.2% โดยมองว่าเป็นกรณีแปลกประหลาดที่สุด เพราะช่วงการระบาดไม่จำเป็นต้องรบ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือเด็กจบใหม่ แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

“แล้วก็ตัวเลขนึงที่สะท้อนในงบประมาณปี 2565ได้ค่อนข้างจะแปลกประหลาดที่สุดก็คือ งบฯ ปีนี้ทั้งระบบถูกตัดประมาณ 5% เศษ 5.7 เข้าใจได้ เนื่องจากว่ารายรับมันน้อยรายจ่ายเลยต้องลดด้วย เพราะฉะนั้น ลดอยู่ประมาณ 5.7 โดยภาพรวม แต่ท่านเชื่อมั้ยว่า กระทรวงแรงงานที่ต้องได้รับเงินมากถูกปรับลดถึง 28.7% ขณะที่กระทรวงกลาโหมถูกปรับลดอยู่แค่ 5.2% เห็นความแตกต่างมั้ย ซึ่งมันเป็นไปได้อย่างไร…?  ผมไม่ได้แอนตี้ทหารผมพูดตรง ๆ ผมก็คิดว่า ทหารเขาก็รับใช้ชาตินะครับ แต่ผมว่ามันผิดจังหวะ”

เขายกตัวอย่าง พรรคกล้า ทำโครงการชื่อ กล้าหางาน โดยพรรคการเมืองช่วยจับคู่นายจ้าง-ลูกจ้าง ให้สามารถช่วยกันได้ในภาวะวิกฤตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยส่วนตัวมองว่างบประมาณแผ่นดินในมือรัฐบาลน่าจะจัดสรรได้ดีกว่านี้ รวมถึงการนำงบประมาณไปใช้ Upskill และ Reskill ให้กับบัณฑิตที่กำลังตกงาน ซึ่งไม่ควรเห็นตัวเลขการตัดงบฯ ที่เกิดขึ้นกับกระทรวงแรงงานมากขนาดนี้ พร้อมแนะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชน

ผมว่า เรื่องนี้ต้องไม่ให้สะดุด ต้องบริหารเงินไม่ให้คาท่อ ไม่ให้เงินมันช็อต ขณะเดียวกันการเตรียมโครงการควรบอกโจทย์ชาวบ้านก่อนล่วงหน้า เพราะเดี๋ยวนี้ภาคประชาชนเข้มแข็งมาก เขารวมกลุ่มกันในหมู่บ้าน ขอบอกโจทย์เขาก่อนล่วงหน้าว่า ในหมู่บ้านจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเรื่องนี้ เช่น ขุดน้ำบาดาล ขุดบ่อบาดาล หรือสระน้ำที่ใช้ร่วมกัน หรือ เครื่องมือทางการเกษตร แต่ต้องบอกล่วงหน้า คือ เมื่อก่อนที่ผมเข้าใจ เทคโนโลยีมันเข้าไม่ถึง แต่ตอนนี้มันถึงแล้ว ก็ขอว่าให้ใช้สติ ให้เร็วแข่งกับเวลานิดหนึ่ง ไม่งั้นเสียของหมด

กระจายอำนาจ ทลายข้อจำกัดบริการการเมือง?

พิภพ มองว่า การชูธงเรื่องการกระจายอำนาจ จะช่วยแก้ปัญหาได้หลายส่วน กรณีการตรวจสอบอำนาจ ก็ต้องให้ฝ่ายค้าน ตรวจสอบรัฐบาล ไม่ผูกขาดอำนาจในสภาฯ โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับตัวแทนพรรคกล้าเรื่องระบบราชการเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องแก้ไข

ด้าน อรรถวิชช์ ระบุว่าส่วนตัว เชื่อเรื่องการกระจายอำนาจ แต่สถานการณ์ขณะนี้ เป็นลักษณะของการรวมศูนย์โดยธรรมชาติ ฉะนั้น เรื่องการกระจายอำนาจไม่อยากให้คิดเฉพาะแค่เรื่องการกระจายอำนาจการปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย ผูกติดกับ อบจ. เทศบาล โดยตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า ทำไมกระทรวงถึงไม่กระจายอำนาจบ้าง ?

เขายกตัวอย่างการรวมตัวกันของเครือข่ายอากาศสะอาด ที่มีความเกี่ยวข้องหลายกระทรวง ตั้งแต่อำนาจองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย

“ดังนั้น ถามว่า ถ้า พ.ร.บ.อากาศสะอาด มันขึ้นมาเป็นตัวหลักเนี่ย เอาตัวภารกิจเป็นตัวหลักในการกระจายอำนาจน่าสนใจมาก แล้วดึงเอาภาคประชาชน ดึงเอาหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มันสามารถจะยกเว้นกฎหมายหลายตัวที่อยู่ตามกระทรวง ทบวง กรม มันซับซ้อน อันนี้ คือ การกระจายอำนาจตามพันธกิจ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน