วิพากษ์ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 65 เสนอเกลี่ยงบฯกลาโหมช่วยเด็กถ้วนหน้า 4.2 ล้านคนฝ่าวิกฤตโควิด-19

ด้าน “จุติ ไกรฤกษ์” ย้ำ หากรัฐบาลไม่เจอวิกฤตการคลัง ผลักดันเงินอุดหนุนไปนานแล้ว

การอภิปรายในสภาฯ ประเด็น การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ถูกจับตาจากหลายภาคส่วนเมื่อฝ่ายค้าน ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการจัดสรรงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งแทบทุกกระทรวงฯ ถูกตัดทอนงบประมาณ โดยเฉพาะกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโควิด-19 ระลอกใหม่ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ฯลฯ ส่งผลให้หลายหน่วยงาน ต้องเบียดเสียดกันใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดในการบริหารจัดการโควิด-19

หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า งบประมาณที่กำลังจัดสรรอยู่นี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ที่เน้นสร้างความเสมอภาค สร้างโอกาสทางสังคม ขจัดความเหลื่อมล้ำ และการดูแลกลุ่มเปราะบางในสังคมจริงหรือไม่

สุนีย์ ไชยรส อาจารย์จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และเป็นหนึ่งใน คณะ​ทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า  ระบุ ไม่ใช่เรื่องยาก หากรัฐให้ความสำคัญกับเด็ก 0-6 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวในสังคมที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนถ้วนหน้า แต่สิ่งที่ปรากฎในสภาฯ 1-2 วันที่ผ่านมา กลับเป็นท่าทีของฝ่ายการเมืองที่ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้โดยมี จุติ ไกรฤกษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหนึ่งในกรรมการ​ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ออกมาตอบคำถามเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้ากลางสภาฯ ด้วยเหตุผลงบประมาณที่จำกัด ซึ่งสะท้อนถึง ความย้อนแย้งของฝ่ายการเมือง การบริหารงานเชิงนโยบาย และวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่มองไม่เห็นความสำคัญของเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางมากที่สุดอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย

โดยมี 2 ประเด็นสำคัญที่ คณะ​ทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ตั้งข้อสังเกต คือ โครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดการงบประมาณที่ผิดพลาด และการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ไม่ได้มาจากการ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะมีช่วงเวลาจำกัด

พ.ร.บ.งบฯ 2565 ไม่ฟังเสียงสะท้อนประชาชนอย่างแท้จริง

ความผิดพลาดขั้นต้นของ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 คือ การเปิดรับฟังความคิดเห็น และเสียงสะท้อนของประชาชน ในเว็บไซต์สำนักงบประมาณโดยกำหนดเวลา ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม-7 เมษายน แม้กำหนดระยะเวลาจะเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มาตรา 77 ที่กำหนดให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตถึงการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลของประชาชนที่อาจเป็นเพียงการรับฟังเสียงสะท้อนแบบพิธีกรรม และไม่ได้เกิดการท้วงติงจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะมีประชาชนที่เข้ามาเสนอความคิดต่อ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพียง 7 คน จากประชาชนทั่วประเทศ จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากฝ่ายค้าน ภายในสภาฯ

ยุทธศาสตร์การปรับลดงบฯ ผิดพลาด ? กระทบหน่วยงานจัดการโควิด-19

รัฐบาลให้คำอธิบายการปรับลดงบประมาณที่จำเป็นต้องทำในทุกกระทรวง รวมทั้งงบฯกลาโหมอยู่ที่  203,282 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในอันดับ Top5 ประกอบด้วย

1 กระทรวงศึกษาธิการ 332,398.60 ล้านบาท

2 กระทรวงมหาดไทย 316,527 ล้านบาท

3 กระทรวงการคลัง 273,941.30 ล้านบาท

4 กระทรวงกลาโหม 203,282 ล้านบาท

5 กระทรวงคมนาคม 175,858.70 ล้านบาท

6 กระทรวงสาธารณสุข 153,940.50 ล้านบาท

7 กระทรวงการอุดมศึกษาฯ 123,182.80 ล้านบาท

8 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 110,126.50 ล้านบาท

9 กระทรวงแรงงาน 49,742.8 ล้านบาท

10 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 28,325.5 ล้านบาท

เมื่อรวมกัน 5 อันดับแรกพบว่ารวมกันเป็นงบประมาณมากถึง 54.74% ขณะที่อีก 29 หน่วยงานได้รับงบฯ เพียง 45.3%  ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าล้วนเป็นหน่วยงาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ชี้ชัดว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ จัดสรรผิดพลาด ไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ เพราะไม่ให้น้ำหนักกับหน่วยงาน หรือ กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยง และความเดือดร้อนในช่วงโควิด-19

เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ตัวอย่างความล้มเหลวจัดสรรงบฯ ?

หนึ่งในตัวอย่างงบประมาณกระทรวงหลักที่ดูแลด้านสังคม ล้มเหลว คือ การจัดสรรงบประมาณการดูแล เด็กเล็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มเปราะบาง  ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้รับงบประมาณเพียง 24,664 ล้านบาท โดยเป็นของกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่มีโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเด็กแรกเกิด-6 ปี 17,296 ล้านบาท (ซึ่งยังใช้หลักเกณฑ์เดิม ปี 2564 คือให้เงินอุดหนุนเฉพาะครอบครัวเด็กเล็กที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่เด็กเล็ก 0-6 ปี มีมากถึง 4.2 ล้านคน)

ขณะที่ มติคณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ ประธานฯ ก็เพิ่งพิจารณาเห็นชอบให้รัฐจัดเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี เดือนละ 600 บาทแบบถ้วนหน้าให้กับเด็ก 4.2 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2565 กลับไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2565

คณะ​ทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นความย้อนแย้งเชิงนโยบาย และการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างของรัฐบาล เพราะแม้จะมีทั้งฝ่ายค้าน และระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงฯ เห็นชอบกับการให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจภาพใหญ่ก็ยังอยู่ที่เสียงข้างมากจากฟากฝั่งของรัฐบาล ว่าจะมีวิสัยทัศน์ และให้ความสำคัญกับเด็กเล็ก ซึ่งถือเป็นช่วงวัยที่ต้องการงบประมาณสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการให้สมวัย และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยยกตัวอย่างการเจียดงบฯกลาโหม ที่รวมกับงบฯกลางราว 7-8 แสนล้านบาท มาให้เด็ก 0-6 ปี 15,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับอนาคตของประเทศ เช่นเดียวกับข้อเสนอของบรรดา ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล เช่น

น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ ส.ส. พรรคพลังประชาชาติไทย ที่แนะรัฐปรับงบประมาณโดยคำนึงถึง มิติหญิงชาย และคนทุกช่วงวัยให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม ให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแรกเกิด-6 ปี แบบถ้วนหน้า พร้อมวอนให้ทุกฝ่ายฝ่าวิกฤตเลิกเล่นการเมือง

ขณะที่ วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยระบุว่า ในช่วงวิกฤตโควิด- 19 ประชาชนต้องการความหวัง เพราะยังมีพ่อแม่ที่ต้องดูแล มีลูกที่ต้องกินนม มีหนี้ที่ต้องเสียจึงต้องการความหวัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ งบฯด้านสวัสดิการของประชาชนกลับถูกตัดลดลง ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ ‘บัตรทอง’ ,บัตรประชารัฐ,กองทุนประกันสังคม,กองทุนผู้สูงอายุ หรือกองทุนคุ้มครองเด็ก งบประมาณเหล่านี้ถูกตัดลดลงในเวลาที่ทุกคนอยู่ในช่วงที่ยากลำบากที่สุด เปราะบางที่สุด มีความต้องการมากที่สุด

โดยเฉพาะ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องไปลุ้นว่าจะได้หรือไม่ เพราะถึงเพิ่ม แต่ก็ไม่ถ้วนหน้า คลอบคลุมเด็กแค่เพียง 2 ล้าน 3 แสนคน จากจำนวนเด็กทั้งหมด 4 ล้านกว่าคน หากยังจำนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ใช้หาเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ครั้งล่าสุดได้ ประชาธิปัตย์ชูนโยบาย “เกิดปั๊บ รับแสน” เฉพาะเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า หาเสียงไว้ที่ 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนพรรคพลังประชารัฐชู “มารดาประชารัฐ” เงินอุดหนุนเด็ก 2,000 บาท แต่ผ่านมา 2 ปีกว่าแล้ว ยังไม่ทำตามสัญญา

“จากงบประมาณปี 2565 ถ้าจะปรับเป็น 600 บาทถ้วนหน้าจริง ๆ ใช้งบประมาณเพิ่มแค่เพียง 12,860 ล้านบาท หรือ 0.41% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ทั้งหมด เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือร้อยละ 41 สตางค์ เท่านั้น ไม่ถึง 1 บาทด้วยซ้ำ ถูกกว่าเรือดำน้ำ 2 หมื่นล้านของรัฐบาล

พร้อมตั้งข้อสังเกตถึง งบฯสวัสดิการข้าราชการกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปีนี้เพิ่มขึ้น 11,510 ล้านบาท จาก 449,790 ล้านบาท ในปี 2564 ปรับเพิ่มมาเป็น 463,865.0 ล้านบาท ในปี 2565 

จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกรรมการ​ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบุ เหตุผลที่ไม่ให้ถ้วนหน้า เพราะ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับ ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ ว่า ประเทศไทยมีข้อจำกัดสถานะทางการคลัง และมีข้อจำกัดเรื่องรายได้ที่จัดเก็บผลกระทบโควิด-19 ทุกกระทรวงจึงถูกตัดงบประมาณ

“หากจะต้องให้ครบทุกคน ซึ่งรวมถึง ครอบครัวเศรษฐี อาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 14,000 ล้านบาท/ปี ประเด็น คือ ผู้ที่ได้รับอยู่เป็นคนจนจริงๆ มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท จึงกำลังให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ช่วยดูว่า สามารถทำเป็นขั้นได้หรือไม่ เช่น การขยับเพดานผู้เข้าถึงสิทธิ์ส่วนนี้ จาก 1 แสนบาท เป็น 2 แสนบาทได้หรือไม่ ส่วนคนที่มีฐานะก็สามารถดูแลลูกตัวเองได้”

ขณะเดียวกันฐานข้อมูลของรายได้ยังไม่นิ่ง เพราะยังมีคนตกงาน สภาพเศรษฐกิจผันผวน เมื่อตัวเลขนิ่ง ไม่ 100% หากนำมาพิจารณาก็จะมีปัญหาเรื่องของการตกหล่นได้อีก พร้อมย้ำรัฐบาลไม่ได้คิดคนเดียว ต้องถามผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และประธานธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยดูตัวเลขเรื่องนี้อยู่ จึงต้องทำเพื่อความรอบคอบ ไม่ได้ทำเพื่อคะแนนเสียงเพราะอาจจะส่งผลเสียตามมา

“รัฐบาลเน้นดูแลทั้งระบบ มีนโยบายพัฒนาทุกช่วงวัย…

หากพูดว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญช่วงวัย 0-6 ขวบ ให้ได้รับ 600 บาท

ผมยืนยันว่า ถ้าประเทศไม่มีปัญหาเรื่องการคลัง ทำไปตั้งนานแล้ว”

ประการต่อมา รัฐบาลดูแลทั้งระบบ มีนโยบายพัฒนาทุกช่วงวัย โดยเฉพาะคนยากจน ที่จะต้องไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ครอบครัวที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ได้ดูแลแค่ 600 บาทเท่านั้น แต่ดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์ ดูแลตอนเกิด เข้าอนุบาล ประถมฯ มัธยมฯ ถึงอุดมศึกษา และฝึกทักษะให้หางานใน ศตวรรษ 21 ฉะนั้นหากจะมองแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของช่วงวัย ถือว่าไม่เป็นธรรม และบิดเบือนภาพที่รัฐบาลตั้งใจจะดูแลเด็กทุกช่วงวัย

ส่วนประเด็นการจัดสรรงบฯที่พิจารณามิติสังคมเป็นลำดับท้าย นายจุติ มองว่า งบฯทุกกระทรวงถูกตัดถ้วนหน้าเพื่อจัดการโควิด-19 ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นการที่จะบอกว่า งบฯ กระทรวงใดลด ก็ตัดเพื่อไปใช้ดูแลรักษาคนไข้ทั้งสิ้น

หากจะกล่าวว่างบฯสาธารณสุข น้อยกว่ากลาโหม 4 หมื่นล้านบาท เขาก็ยกเว้นสาระสำคัญ คือ งบฯที่เป็นเงินกู้ ที่ให้ไปแล้วในการสร้างระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง งบฯการจ้างแพทย์ พยาบาลเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นอัตรา,งบฯการดูแล อสม.อีกล้านกว่าคน,งบฯการซื้อวัคซีน ก็ไม่ได้ถูกนับรวม  จึงวอนให้ความเป็นธรรม กับ สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำว่ามีความสมดุลพอดีกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ย้ำเคารพทุกเสียง แต่อาจจะลงมือทำด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน จึงต้องมีสภาฯ เป็นที่ถกเถียงกัน ทุกอย่างต้องคุยกันในขั้นคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณฯ เป็นลำดับถัดไป พร้อมทิ้งท้าย “หากพูดว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญช่วงวัย 0-6 ขวบ ให้ได้รับ 600 บาท ผมยืนยันว่า ถ้าประเทศไม่มีปัญหาเรื่องการคลัง ทำไปตั้งนานแล้ว”

คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เมื่อ “เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาทต่อเดือน” อยู่บนเงื่อนไขของวิกฤตการคลัง และวิกฤตโควิด-19 ว่าสุดท้ายจะถูกจัดสรรอย่างไร โดยผู้ที่ต้องรับผลการตัดสินใจในครั้งนี้ก็คือ “เด็ก” ที่ต้องเติบโตเป็นกำลังสำคัญของสังคมหลังจากนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน