นักการตลาดเสนอ สื่อรีบตัดจบชีวิต “ลุงพล” ก่อนไม่มีคนดู

ชี้ 1 ปีที่ผ่านมาข่าวปั้นเรื่อง กลบกระแสตามหาคนร้าย ชวนกลับมาที่จุดยืนข่าวอาชญากรรม ทำหน้าที่เตือนภัย ไม่ใช่ขายสินค้า

ไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังวันที่ 2 มิ.ย.(2564) ที่ผ่านมา เขาตกเป็นผู้ต้องหาในคดีการเสียชีวิตของ ด.ญ.อรวรรณ วงศ์ศรีชา หรือ น้องชมพู่ คดีดังในเดือน พ.ค. 2563

ขณะที่สปอร์ตไลท์ทุกดวงส่องไปที่ “ลุงพล” ที่ชีวิตเรียกว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ อีกสิ่งหนึ่งที่สังคมให้ความสนใจ คือปล่อยให้คดีนี้ยืดเยื้อมาได้อย่างไร และใครที่ทำให้เรื่องราวทั้งหมดเดินมาถึงจุดนี้

“เป็นผมจะทำเหมือนละคร คือรีบตัดจบ”

คือข้อเสนอจาก ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ที่จั่วหัวไว้ในรายการ Active Talk “ลุงพลฟีเวอร์ เส้นแบ่งสื่อ- การตลาด-ความคาดหวังสังคม” โดยกล่าวว่า กรณีที่ทำให้สื่อตกเป็นเป้าเหมารวมในกรณีนำเสนอข่าวลุงพล ประเด็นสำคัญคือ สื่อเลือกที่จะชูผู้ต้องหาให้กลายมาเป็นดาราซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามีทีวีดิจิตอลหลายช่อง แต่คนดูทีวีน้อยลง คนหันไปเล่นโซเชียลมีเดีย เมื่อเรตติ้งข่าวในทีวีตก ทุกคนจึงพยายามที่จะช่วงชิงเรตติ้ง ประกอบกับทีวีบางช่องมีเวลาข่าวค่อนข้างมาก ยาวหลายชั่วโมง และเป็นช่วงไพรม์ไทม์ หลายช่องจึงต้องจับประเด็นที่คนสนใจ มาขยี้ ขยาย หรือแตกประเด็น โดยยกตัวอย่างประเด็นของ 13 หมูป่า ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเกาะติดประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากการช่วยเหลือทุกชีวิตให้ออกจากถ้ำหลวงในขณะนั้น ที่สอดคล้องกับส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix) อันประกอบไปด้วย

1.สินค้าหรือบริการ (Product)

2.ราคา (Price)

3.ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place)

4. การส่งเสริมการขาย (Promotion)

“ช่วงนั้นหลายรายการพยายามรายงานข่าวในลักษณะเหมือน 24 ชั่วโมง ปรากฏว่า ทั้งเรตติ้ง อีลอน มัสก์ ก็มา ทีวีคงคิดว่าถ้าได้แบบนี้มาคงจะดี และปรากฏว่าก็มีทีวีบางช่องก็เอากรณีนี้ไปใช้กับลุงพล พาไปดูเบื้องหลัง ไปดูกิจวัตรประจำวัน ซึ่งคนที่เกาะติดลุงพลก็เป็นคน gen x และ Baby Boomer ที่ส่วนใหญ่มีทีวีเป็นเพื่อน กลายเป็นว่าลุงพลตอบโจทย์ทั้ง 4P มีบางเดือนที่เรตติ้งดีกว่าละครหลังข่าว และกินระยะได้ยาวเป็นปีๆ”

พลากร กวยะปาณิก เจ้าของนามปากกา เหล็กน้ำพี้ สะท้อนว่า กรณีนี้วิธีการหาข่าวไม่ได้ซับซ้อน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือการทำให้เกิดเป็นข่าวปิงปอง หรือการทำให้แหล่งข่าวกล่าวถึงกันไปมา ในขณะที่คดีไม่คืบ หลายช่องก็ไม่รู้ว่าจะเล่นข่าวอะไร ก็เลยไปสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องคือตัวลุงพล ที่ถูกจุดกระแสให้กลายเป็นที่สนใจด้วยรูปลักษณ์ภายนอก พร้อมถามไปยังสื่อบางสำนักว่า การนำเสนอข่าวลุงพลในลักษณะนี้ ต้องการสื่ออะไร ให้คนดูจินตนาการไปแบบไหน

“ข่าวน้องชมพู่มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้เลย จริงๆตามหาตัวฆาตกรก็จบ แต่พอข่าวแตกประเด็น รวมถึงสื่อสองค่ายหลัก ก็แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยลืมเรื่องวิชาชีพ จรรยาบรรณ อย่างข่าวอาชญากรรม ก็ถูกติติงอยู่เรื่อยว่าขายความรุนแรง ซึ่งจริงๆ ข่าวอาชญากรรมมีหน้าที่เตือนภัย กรณีนี้คือให้คุณดูแลเด็กให้ดี เลี้ยงลูกให้ระวัง อย่าประมาท ส่วนเรื่องลีลาสืบสวนสอบสวนต้องว่าไปตามครรลองของมัน”

อีกด้านหนึ่งตัวเองก็เปิดเพจข่าว ยอมรับว่า เพจก็ต้องการยอดผู้เข้าชมและกลายเป็นที่สนใจหรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “หิวแสง” เช่นเดียวกัน แต่หลักการคือต้องไม่ลืมอุดมการณ์ สิ่งที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม จุดมุ่งหมายในการลงพื้นที่ไปเป้าหมายอันดับแรกคือต้องคลี่คลายคดี อยู่ข้างผู้เสียหาย มีส่วนกระตุ้นให้คนไม่ลืมข่าว ตำรวจไม่ลืมคดี

ขณะเดียวกันก็ทราบว่าเพื่อนในวงการหลายคน ไม่ได้เห็นด้วยกับข่าวแบบนี้ ที่มีเรตติ้งแต่ตามมาด้วยชื่อเสียง คุณงามความดีที่ทำไว้ในอดีต ก็หายไปกับเรตติ้งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน  แต่ก็ต้องตามใจผู้ชม เจ้าของค่าย และเจ้าของสินค้า ทั้งที่คนในแวดวงสื่อหลายคนก็รู้ว่าสุดท้ายบทสรุปจะเป็นแบบไหน

ขณะที่ ธันยวัชร์ เสนอเพิ่มเติมว่า หากวงการทีวี ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระแสเรตติ้งได้ ก็ให้จับเอาความสนใจของคนดูที่ชอบข่าวอาชญากรรมที่มีความซับซ้อน แต่มีประโยชน์ต่อสังคม นำเสนอข่าวอาชญากรรม อาจเป็นรูปแบบของละคร หรือ ซีรี่ย์ เช่นเดียวกับต่างประเทศ รวมถึงสร้างจุดยืนว่าช่องของตัวเองจะไม่นำเสนอข่าวในลักษณะที่ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันก็มีบางช่องที่เปิดตัว และเรตติ้งก็สูงขึ้นในวันถัดมาเช่นเดียวกัน  

บทส่งท้าย

แม้คดีนี้จะยังไม่ถึงที่สิ้นสุด แต่ปรากฏการณ์ “ลุงพลฟีเวอร์” ชักชวนให้สังคมย้อนกลับไปที่ว่า เราปล่อยให้คดีนี้ยืดเยื้อมาจนถึงตอนนี้/แบบนี้ ได้อย่างไร

ตำรวจ เมื่อเด็กหายมีการรับแจ้ง กันพื้นที่ รวบรวมพยานหลักฐานที่มีความละเอียดอ่อนแบบนี้อย่างไร

สื่อมวลชน ที่จับจ้อง เกาะติด สร้างเรื่องราวจนขัดขวางการสืบสวนสอบสวน ?

เรตติ้ง กระแสที่สื่อยิ่งราดน้ำมันให้”ลุงพล” คนยิ่งจับจ้องสนใจหรือไม่ 

..หรือท้ายที่สุดการเสียชีวิตของ น้องชมพู่ จะเป็นอีกคดีร้ายแรง การเสียชีวิตผิดธรรมชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องหาคนร้ายมาลงโทษเพื่อความยุติธรรม และทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาอาชญากรรมเด็กที่มีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน