สธ. ตั้งเป้าฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกทั่วประเทศภายใน ก.ย. 64

“นพ.ทวีทรัพย์” เผย แผนส่งมอบยังไม่นิ่ง มิ.ย. แอสตราเซนากา อาจได้แค่ 4.4 ล้านโดส เสริมซิโนแวคเพิ่มให้ครบ 6 ล้านโดส “นพ.สุภัทร” ห่วงเด็กใกล้เปิดเทอม แต่ยังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็ก 

ในที่สุด รัฐบาลตัดสินใจเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกันทั่วประเทศ คิกออฟวันแรกไปแล้ว 7 มิ.ย. 2564 ท่ามกลางการส่งมอบแบบต้องลุ้นหวุดหวิด และยังคงให้ลุ้นต่อในงวดส่งมอบถัดไป แม้ก่อนหน้าจะมีการเสนอให้เทวัคซีนไปในพื้นที่ระบาดหนักเพื่อตัดวรจรระบาด จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีใครกล้ารับปากว่า “การส่งมอบวัคซีนจะไม่สะดุดอีก”

“นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เปิดเผยผ่าน Active Talk ว่า โรงพยาบาลจะนะได้รับจัดสรรวัคซีนล็อตแรก เพื่อฉีดในวันที่ 7 มิ.ย. แบ่งเป็นแอสตราเซเนกา 330 โดส และซิโนแวค 180 โดส รวมเป็น 510 โดส จากจำนวนผู้ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมที่จองฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลจะนะ 513 คน ซึ่งมีจำนวนน้อย จึงได้รับจัดสรรตามโควตาหมอพร้อม แต่อำเภอจะนะใช้ระบบจองคิวฉีดวัคซีนผ่านเครือข่าย อสม. ซึ่งจะบริหารจัดการตามล็อตจำนวนวัคซีนที่ได้รับได้ง่ายกว่า

“สำหรับสัปดาห์นี้ถือว่ามีวัคซีนเพียงพอ แต่สำหรับสัปดาห์หน้า ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ส่งไซริงค์สำหรับฉีดวัคซีน 100 อันเท่านั้น โรงพยาบาลต้องใช้ไซริงค์ฉีดอินซูลินทดแทนซึ่งก็สามารถฉีด 11 โดสต่อ 1 ขวด”

“นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ” นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ระบุภาพรวมการฉีดวัคซีนทั้งประเทศ วันที่ 7 มิ.ย. ปูพรมฉีดได้ทั้งหมด 416,847 โดส โดยสามารถฉีดได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ไม่มีจังหวัดไหนที่เลื่อนฉีด ขณะที่กรุงเทพมหานคร ภาพรวมได้ทั้งหมดกว่า 6 หมื่นโดส ซึ่งมากกว่าทุกจังหวัดเนื่องจากเป็นพื้นที่ระบาด ซึ่งนอกจากจัดสรรให้กับ 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุแล้ว ยังต้องจัดสรรให้กับกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ได้ฉีดตามกำหนดด้วย

สำหรับการแผนการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ล่าช้านั้น ขอชี้แจงว่า มีขั้นตอนในการตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะส่งมอบ จึงทำให้กว่าวัคซีนจะมาถึงกรมควบคุมโรคช้า จึงช้าไปทุกขั้นตอน โดยตามหลักการแล้วต้องส่งมอบวัคซีนไปก่อนล่วงหน้าก่อน 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้โรงพยาบาลด่านหน้าได้มีการเตรียมตัว 

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการจัดหาวัคซีนในเดือนมิถุนายนจะต้องให้ถึงเป้า 6 ล้านโดส ตามแผนการฉีดวัคซีนเดิม โดยคาดว่าทั้งเดือนมิถุนายนอาจมีวัคซีนทยอยส่งมอบเป็นรายสัปดาห์รวม 4.4 ล้านโดส และเสริมวัคซีนซิโนแวคอีก 2 ล้านโดส เพื่อให้ครบ 6 ล้านโดสภายในเดือนนี้ 

“อย่าเพิ่งไปเชื้อเชิญให้มาฉีดวัคซีนมากกว่าแผน เพราะตอนนี้ทั่วโลกยังขาดแคลนวัคซีนอยู่ วัคซีนที่ส่งให้เดือนมิถุนายนมาจากการต่อรองบริษัท ให้ส่งให้ทันภายในเดือนมิถุนายน จึงยังไม่อยากจะบอกอย่างเต็มปากว่าหลังจากนี้การส่งมอบวัคซีนจะไม่มีสะดุดอีก”

“นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า จำนวนวัคซีน 4.4 ล้านโดส ก็เป็นจำนวนที่มากพอสมควร แต่ถ้าทั้งหมดกระจาย ให้กับคนที่ลงทะเบียนหมอพร้อม ก็อาจจะผิดเป้าหมายทางการแพทย์ที่ต้องคำนึงถึงการบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ระบาดหนัก ที่ต้องใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นหลัก เนื่องจากสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นได้เร็วกว่าวัคซีนซิโนแวค 

“แม้ยังไม่ทราบว่าสัปดาห์หน้าจะไปได้วัคซีนหรือไม่ แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรู้ล่วงหน้าจะได้เตรียมตัวทัน โดยหากทราบล่วงหน้าว่ายังจะไม่ได้รับวัคซีนก็สามารถที่จะพูดคุยกับประชาชนถึงเหตุผลความจำเป็นได้” 

ตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็มแรกทั่วประเทศ จบภายในเดือน ก.ย. 64 

“นพ.ทวีทรัพย์” บอกว่า มี 3 หลักการที่ใช้จัดโควตาวัคซีน คือ 1. ความเสี่ยงและพื้นที่ระบาด 2. พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ และ 3. กลุ่มประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หรือกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ประกอบกับวัคซีนที่เข้ามาแต่ละรอบจะจัดเป็นงวด ๆ  ซึ่งภาพรวมจะต้องไปให้ถึง 100 ล้านโดสในปี 2564 

ขณะเดียวกัน จะต้องฉีดปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้จบทั่วประเทศภายในเดือนกันยายนนี้ แต่บางจังหวัดอาจจะต้องฉีดเข็มแรกให้จบก่อน เช่น กรุงเทพมหานคร โดยส่วนหนึ่งมาจากเงื่อนไขเปิดประเทศในเดือนตุลาคมตามแผนเดิม แต่ก็ไม่ใช่เงื่อนไขหลัก เพราะหากประเทศยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ แม้จะเปิดประเทศไปก็ยังไม่มีใครเข้ามา

ยันไฟเซอร์-จอนห์สันแอนจอนห์สัน รัฐฉีดให้ฟรี

นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ระบุอีกว่า น่าจะมีวัคซีนตัวที่ 3 นอกจากแอสตราเซเนกาและซิโนแวค เข้ามาอีกในไตรมาส 3 ของปี 2564 อย่างไรก็ตาม วัคซีนทางเลือกที่เอกชนนำเข้ามาฉีดให้กับประชาชนจะต้องไม่ซ้ำยี่ห้อวัคซีนที่รัฐจัดให้ฟรี ยืนยันว่ารัฐไม่ได้กีดกันการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชนและพยายามจะอำนวยความสะดวกให้อีกด้วย เพราะบริษัทวัคซีนไม่ยอมขายวัคซีนให้กับภาคเอกชน รัฐจึงเป็นตัวแทนการจัดซื้อให้ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ และ จอนห์สันแอนจอนห์สัน ที่ระบุอยู่ในแผนจัดหาวัคซีนของรัฐ ที่กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบนั้น ยืนยันว่าจะฉีดให้ฟรี

เตรียมคุย ศธ. เร่งปูพรมฉีดวัคซีนครูรับเปิดเทอม 

“นพ.สุภัทร” บอกว่า จากผลวิจัยชี้ว่าวัคซีนไฟเซอร์สามารถฉีดให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สอดคล้องกับสถานการณ์ตอนนี้ ก็ใกล้จะเปิดเทอมหลังจากเลื่อนจากวันที่ 1 มิ.ย. ยังคงปิดเทอม ต้องเรียนออนไลน์เด็กเริ่มถามว่าเมื่อไรจะเปิดเทอม ในขณะที่วัคซีนที่มีอยู่ไม่สามารถที่จะฉีดให้กับเด็กได้

“นพ.ทวีทรัพย์” กล่าวถึงกรณีนี้ว่า สำหรับนักเรียนในพื้นที่สีเหลือง สีส้ม สามารถเปิดเรียนได้ปกติ แต่ต้องคงมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย เว้นระยะห่างทางสังคม ส่วนพื้นที่สีแดง และสีแดงเข้ม ขณะนี้ได้มีการจัดสรรโควตาให้กับครูและฉีดวัคซีนก่อน เพื่อช่วยให้โรงเรียนในพื้นที่สีแดงสามารถเปิดภาคเรียนได้ โดยยังคงมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น เรื่องนี้อยู่ระหว่างปรึกษาหารือและดำเนินการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ

ฉีดวัคซีนแรงงานข้ามชาตินโยบายชัด แต่ปฏิบัติไม่ชัด 

“นพ.ทวีทรัพย์” ระบุว่า ส่วนกรณี แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน เพราะไวรัสไม่มีแบ่งแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระบาดหนักอย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ปลดล็อกการฉีดวัคซีนให้กับประชากรข้ามชาติไปแล้ว ในเชิงนโยบายมีความชัดเจนว่า “ทุกคนบนแผ่นดินไทยต้องได้ฉีดวัคซีน” แต่ก็ยอมรับว่าในทางปฏิบัติอาจต้องแก้ไขปัญหากันไป ในสถานการณ์ที่วัคซีนยังมีจำกัดก็ยังคงต้องจัดลำดับความสำคัญตามยุทธศาสตร์

“นพ.สุภัทร” กล่าวว่า ในนโยบายมีความชัดเจนจริงแต่ในทางปฏิบัติ ถ้าเป็นแรงงานถูกกฎหมายก็จะไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิรักษาพยาบาล แต่หากเป็นแรงงานผิดกฎหมายค่อนข้างที่จะมีข้อปฏิบัติที่ซ้ำซ้อน ต้องใช้เลข 13 หลัก เพื่อให้สามารถมีหลักฐานในการเบิกได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS