สัญญาณนายกฯ ลาออก-ยุบสภา แค่เกมการเมือง

“นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์” วิเคราะห์ศึกขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล ไม่สำคัญเท่าบริหารโควิด-19 ล้มเหลว ‘iLaw’ ชี้ ต้องจับตาเกมแก้ รธน.

“ได้มอบนโยบายไปแล้ว ว่าจำเป็นต้องเร่งรัดหลายกิจกรรมในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ยังเหลืออยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน และเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งต่อให้กับรัฐบาลวันข้างหน้าต่อไป”

คือประโยคของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ทำให้หลายฝ่ายมองว่า นี่เป็นสัญญาณในการยุบสภาฯ ก่อนจะครบวาระรัฐบาลที่ยังเหลืออีก 2 ปี ของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ หลังเผชิญศึก 2 ด้าน ทั้งการบริหารจัดการโควิด-19 และศึกภายในพรรคร่วมรัฐบาล

รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงท่าทีของ นายกฯ ในครั้งนี้ว่า ไม่มีอะไรมากไปกว่าเกมทางการเมือง ซึ่งหลายคนอาจตีความว่าเป็นสัญญาณยุบสภา หรือให้พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมตัว หากบอกว่าหนึ่งปีให้รัฐบาลเร่งทำงาน แต่ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นการออกมาพูดเพื่อจะทำให้การเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลดูสงบนิ่งลงไป รวมถึงเรื่องของงบประมาณที่กำลังจะผ่านสภาฯ คิดว่าคงจะผ่านได้ไม่ยาก เพราะตอนนี้วาระ 1 ก็ผ่านไปแล้ว เรื่องของ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนกระแสต่าง ๆ ที่ออกมาว่าจะมีการยุบสภา หรือจะมีการถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลในเวลาอันใกล้ คิดว่าว่ายังไม่มีแน่นอน

ต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง ภูมิใจไทย หรือประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะภูมิใจไทยก็เป็นประเด็นอยู่หลายครั้ง หากมองในมุมของคนเล่นการเมือง วันนี้ถือว่านายกฯ ปรับตัวให้เข้ากับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ดีกว่าเดิมมาก หรือเรียกว่า “ตู่รู้ทัน”

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าของรัฐบาลชุดนี้ รศ.ยุทธพร มองว่า เกิดจากความเดือดร้อนของประชาชน ที่จะทำให้มีการออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะที่ปลอดจากอุดมการณ์ทางการเมือง แม้ว่าการชุมนุมต่าง ๆ เวลานี้อาจจะไม่ง่ายนัก เพราะอุปสรรคในการเคลื่อนไหว คนไม่กล้าไปชุมนุม หรือแกนนำถูกดำเนินคดี แต่ม็อบที่ออกมาจากความเดือดร้อนเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าการระบาดโควิด-19 จะดีขึ้นหรือจะแย่ลง ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ

เช่นเดียวกับ รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ระบุว่า วันนี้รัฐบาลรู้ว่าเหนื่อยพอสมควรกับประเด็นการแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 และจะยิ่งเหนื่อยยิ่งขึ้นไปอีก เพราะงบประมาณที่มีอยู่ ประกอบกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รอบใหม่ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของโควิด-19 กับเศรษฐกิจได้ เพราะปีหน้าก็ยังไม่จบ

รศ.สมชาย ยกตัวอย่างกรณีของประเทศอังกฤษ ที่ต้องเผชิญการระบาดของโควิด-19 ถึง 8 รอบ ส่วนสหภาพยุโรป 7 รอบ สหรัฐอเมริกา 4 รอบ และที่สำคัญ เงินกู้ของรัฐบาลไทยในรอบที่ผ่านมายังแก้โควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ ซึ่งกลายเป็นหนี้สาธารณะ แต่อีกด้านในกรณีนี้ รัฐบาลอาจจะได้ประโยชน์ เพราะสิ่งที่นายกฯ ส่งสัญญาณครั้งนี้ มีสัญญาณหลายอย่าง คือ บอกกับคนในพรรคร่วมรัฐบาล ว่าต้องร่วมกันทำงาน รวมถึงบอกกับประชาชนหรือฝั่งที่กำลังคัดค้านอยู่ให้ใจเย็น ว่าอาจจะกำลังมีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการเมือง

“จุดที่ พล.อ. ประยุทธ์ ยืนอยู่ตอนนี้มันไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น ตอนนี้เขาก็ต้องพูดสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ เช่น ถ้าเกิดมันไม่เป็นไปตามโผ มีการเปลี่ยนแปลง ผมก็บอกว่า นี่ไงผมบอกไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นไปตามโผ ผมยังอยู่ต่อ แต่ผมไม่ได้บอกว่าผมจะลาออก ผมบอกให้เราทำงานหนัก และข้อสำคัญในแง่รัฐธรรมนูญ ตอนนี้มันใกล้ห้าปีแล้ว มันเป็นไปได้ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในลักษณะที่นายกฯ ประคองได้ ตัวรัฐธรรมนูญ 2560 ยังช่วยอยู่ ถ้าผมจะยุบสภาก่อนสักพักหนึ่ง ผมกลับมาใหม่ได้ ยกเว้นตอนนั้นจะมีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่”

ด้าน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า หากดูตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีการวางยุทธศาสตร์ไปอีก 20 ปี ถ้านับตั้งแต่ปี 2557 ที่รัฐบาล คสช. ทำรัฐประหารเข้ามา ก็จะเท่ากับ 23 ปี นั่นหมายถึงรัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจ และมีเป้าหมายที่ต้องการอยู่นานที่สุด เพราะฉะนั้น การยุบสภาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ตัวเองได้อยู่หรือคืนอำนาจ แต่อาจมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหา หรือความนิยมในตัว พล.อ. ประยุทธ์ เริ่มตกเพราะอยู่นานเกินไป ก็อาจจะเลือกกลไก “ล้างไพ่” และทำให้ยังอยู่ในอำนาจได้ โดยภาพลักษณ์แบบใหม่ เช่นเดียวกับที่ทำในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ไม่ใช่การคืนอำนาจ แต่เป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจแบบหนึ่ง ตั้งแต่กลไกจัดการเลือกตั้ง จนถึงการเลือกนายกฯ

ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้มีข้อเสนอใหม่อีกหนึ่งฉบับ นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ก็อาจเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่เร่งให้เกิดการยุบสภาฯ แต่อาจไม่มาก

เราเพิ่งทราบว่าคุณไพบูลย์ จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันเปิดสภาฯ 22-23 มิ.ย. นี้  ซึ่งพรรคอื่น ๆ ก็มีแนวคิดที่จะยื่นเพื่อแก้รัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่ไม่แน่ใจว่าจะทันหรือเปล่า ซึ่งหากในวันประชุมสภาฯ มีการเร่งรีบผ่าน โดยไม่รอข้อเสนออื่น ๆ มาพิจารณาร่วม ซึ่งตอนนี้เสียงของ ส.ว. และ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐรวมกัน เสียงในการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ค่อนข้างที่จะพอ อันนี้ผมคิดว่าสัญญาณยุบสภาจะมา หมายความว่าจะมีการแก้ไขระบบการเลือกตั้งก่อน แล้วไปเลือกตั้งในระบบแบบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะกำจัดคู่แข่งฝ่ายตรงข้ามได้”

รศ.ยุทธพร ยังกล่าวทิ้งท้ายในประเด็นที่ว่า เจ็ดปี ของ พล.อ. ประยุทธ์ นานเกินไปหรือไม่ ส่วนตัวมองว่านานเกินไป แต่ถ้าไปถามฝั่งแกนนำฝั่งรัฐบาลก็จะบอกว่าเพิ่งอยู่มาสองปี เพราะฉะนั้น อยู่สั้น อยู่ยาวไม่สำคัญ เท่ากับการได้รับการยอมรับจากประชาชน หรือที่เรียกว่าความชอบธรรมทางการเมือง ถ้าผู้นำทางการเมืองที่อยู่ยาว แต่ว่ามีความชอบธรรมทางการเมือง ได้รับความนิยมก็ไม่มีปัญหา

“ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้ารัฐบาลในช่วงสองปีก็หนักหนาสาหัสอยู่พอสมควร โดยเฉพาะคำถามที่มักจะถูกถามถึงเสมอ ก็คือเรื่องของการปฏิรูปประเทศ เพราะอย่าลืมว่าการเข้ามาของ คสช. ตั้งแต่ปี 2557 ก็คือมีแนวทางว่าต้องการจะเข้ามาปฏิรูป เข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเมืองสังคม แต่ก็ยังไม่เห็นภาพเห็นผลที่ชัดเจนเท่าไร ตรงนี้ก็เลยอาจจะทำให้เกิดข้อคำถามว่าที่ผ่านมาจะเรียกว่า 7 ปีหรือ 5+2 มันก็ยาวอยู่พอสมควร”

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน