ตั้งเป้า 2,600 คน ใน 3 วัน เฉพาะผู้ผ่านการตรวจเลือดหาภูมิต้านทานแล้ว นักวิชาการ แนะ ต้องทำครอบคลุมทุกกลุ่ม หลังมีแรงงานข้ามชาตินอกระบบยังเข้าไม่ถึง
วันนี้ (16 มิ.ย. 2564 ) เป็นวันแรกที่ตลาดท่าเรือคลองเตยกลับมาฉีดวัคซีน ให้กับผู้ค้าและแรงงานข้ามชาติ ที่ทำงานในตลาด ตามมาตรการควบคุมการระบาดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ พื้นที่สีแดงในกรุงเทพมหานคร และเป็นไปตามมาตรการก่อนเปิดตลาด โดยวัคซีนที่ฉีดให้ครั้งนี้ คือ วัคซีนซิโนแวค ซึ่งจะฉีดให้กับกลุ่มคนที่ต้องผ่านการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิต้านทานมาก่อนหน้านี้แล้วเท่านั้น โดยจะฉีดให้ทั้งหมด 3 วัน รวม 2,600 คน
ตลาดท่าเรือคลองเตยเป็นตลาดขนาดใหญ่มี พ่อค้า แม่ค้าจากต่างจังหวัด ค้าขายในตลาดหลายพันคนรวมถึงแรงงานข้ามชาติ พวกเขาคือกลุ่มเสี่ยง เป็นส่วนหนึ่งของการระบาดแทบทุกคลัสเตอร์ในพื้นที่ กทม. ดังนั้นมาตรการควบคุมโรค จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของการตัดวงจรการระบาดในพื้นที่ กทม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครั้งนี้ คือแรงงานที่มีนายจ้างถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด
ไซ ซิน ทูน แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ทำงานรับจ้างขนของในตลาดเพชรมานานกว่า 5 ปี เขาบอกว่ารู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อได้รับการฉีดวัคซีน และเห็นว่าปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและลูกค้า แม้ว่าช่วงนี้ตลาดจะยังไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน
เช่นเดียวกับ มิน เมี๊ย ตู แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ที่รับจ้างขายของหน้าร้าน เธอรู้สึกกังวลก่อนหน้านี้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่เป็นมาตรการที่นายจ้างตลาดท่าเรือคลองเตยเน้นย้ำว่าต้องให้ความร่วมมือถึงจะได้รับอนุญาตให้ทำงานในตลาดได้
สำหรับวัคซีนซิโนแวค ที่จัดสรรมาฉีดในพื้นที่ตลาดท่าเรือคลองเตยครั้งนี้ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ได้จัดสรรไว้อยู่แล้ว สำหรับพื้นที่ตลาดที่มีการระบาดคลัสเตอร์ใหญ่ เป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมโรค ที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร , สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง หรือ สปคม. รวมถึง กรุงเทพมหานคร วางแผนร่วมกันเพื่อเปิดตลาดลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจภายใต้มาตรการควบคุมโรค
“ก่อนเปิดตลาดมีการตรวจเลือดหาภูมิต้านทานก่อน และจะฉีควัคซีนให้คนที่มีภูมิต้านทานต่ำ ไม่ได้ฉีดให้ทุกคน แต่ยังมีแรงงานข้ามชาติบางกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบ จึงเข้าไม่ถึงไม่ว่าจะเป็นการตรวจ หรือวัคซีน ในทางระบาดวิทยา ต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม การคุมโรคระบาดถึงจะได้ผล ไม่เช่นนั้นตลาดอาจยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยจริงๆ”
ก่อนหน้านี้ตลาดท่าเรือคลองเตยปิดตลาดนานเกือบ 1 เดือน หลังพบแรงงานข้ามชาติติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนพร้อมกันถึง 120 คน และขณะนี้ก็มีการยืนยันว่ายังมีคนในตลาดติดเชื้อรายวันต่อเนื่องจากการไปตรวจเองที่โรงพยาบาล แต่เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เพราะมีคนจำนวนมากพึ่งพาตลาดแห่งนี้ หลายฝ่ายจึงทำงานร่วมกันเพื่อวางระบบในการควบคุมการระบาดในตลาด ตามมาตรการสาธารณสุขมีหน่วยงานจากหลายฝ่ายร่วมกันประเมินการเปิด-ปิดตลาดอีกครั้งหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ และหลังจากนี้หากมีการฉีดวัคซีนครบตามเป้าหมายแล้วจะมีการจัดทำบัตรเพื่อแสดงตัวตนว่าผ่านการคัดกรอง การฉีดวัคซีน เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการตลาด แต่ยังไม่มีกำหนดชัดเจนว่ามาตรการเหล่านี้จะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่